อุโบสถไม้สักทอง ศิลปะล้านนา ที่วัดร่ำเปิง

27 กรกฎาคม 2557

วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นอกจากเป็นวัดที่ขึ้นชื่อลือนามในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

โดย...สมาน สุดโต

วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นอกจากเป็นวัดที่ขึ้นชื่อลือนามในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นศูนย์พัฒนาจิตแห่งที่ 2 ของ จ.เชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2542 และเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 2 พ.ศ. 2554 ยังเป็นวัดที่มีอุโบสถไม้สักทอง ศิลปะล้านนา ที่ทุกคน โดยเฉพาะชาวล้านนาภูมิใจ

wสมเด็จพระพุทธชินวงศ์เยี่ยมวัด

ผู้เขียนติดตามสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ประธานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และกรรมการมหาเถรสมาคม ไปเยี่ยมสำนักปฏิบัติธรรมใน จ.ลำปาง และเชียงใหม่ ตามโครงการประชาสัมพันธ์สำนักปฏิบัติธรรมต้นแบบ เมื่อวันที่ 17-18 ก.ค. 2557 ซึ่งวัดร่ำเปิง หรือตโปทาราม รวมอยู่ในวัดที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ได้เยี่ยมด้วย

ส่วนแรกที่ผู้เขียนพบและประทับใจได้เขียนไปแล้วในฉบับวันที่ 20 ก.ค. ได้แก่หอพระไตรปิฎกของวัด วันนี้จะพาชมอุโบสถไม้สักทอง ศิลปะล้านนาที่บริสุทธิ์ บริบูรณ์ยิ่งในปัจจุบัน

เมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์เดินทางถึงวัดได้รับการต้อนรับที่ยิ่งใหญ่จากพระสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรมนับร้อยคน โดยพระครูภาวนาวิรัช (พระอาจารย์สุพันธ์) เจ้าอาวาสวัดร่ำเปิง นิมนต์เจ้าพระคุณสมเด็จเข้าไปในอุโบสถหลังงามเพื่อสวดมนต์ไหว้พระและกล่าวสัมโมทนียกถาแก่ญาติโยม ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งไทยและต่างชาติประมาณ 500 คน

อุโบสถไม้สักทอง ศิลปะล้านนา ที่วัดร่ำเปิง

 

wความอลังการของอุโบสถ

เมื่อมองดูทุกมุมและตรวจในหนังสือพุทธศิลป์ล้านนา พบว่าการวางผังอุโบสถหรือออกแบบอุโบสถศิลปะล้านนาหลังนี้ทำตามอุโบสถและวิหารศิลปะล้านนาที่เหลือไม่กี่แห่ง เช่น ตัวอุโบสถโปร่ง โล่ง ปราศจากฝ้าเพดาน ฝาหรือกำแพง นอกจากโก่งคิ้ว โคมไฟแชนเดอเลียร์ เสากลม 16 ต้น ซึ่งจุพระภิกษุสามเณรได้เป็นร้อยรูป โดยมีใบเสมาบอกแนวเขตระหว่างอุโบสถกับวิหารคด (ศาลาบาตร) ที่อยู่ในทิศเหนือใต้ และตะวันตก

การประดับตกแต่งภายในอุโบสถงดงามอลังการเกินคำบรรยาย ซึ่งหนังสือพุทธศิลป์ล้านนาบรรยายว่าองค์ประกอบสถาปัตยกรรมมีส่วนสำคัญและจำเป็นในการประดับตกแต่งและประกอบรูปขึ้นเป็นอุโบสถล้านนา นอกจากประโยชน์หน้าที่ใช้สอยแล้วยังแฝงด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อให้ความหมายอุโบสถในวัดมีความสมบูรณ์ขึ้น

ส่วนวิหารคด หรือศาลาบาตร ที่มีเสารองรับโครงสร้างรวม 60 ต้น ประดับลวดลาย โก่งคิ้วงามนัก โดยทำหน้าที่เหมือนกำแพงอุโบสถ เป็นที่รองรับฆราวาสทุกเพศทุกวัยได้นับร้อยคน เป็นการแก้ปัญหาว่าสตรีห้ามเข้าอุโบสถ ผู้เป็นแม่จึงไม่มีโอกาสเห็นสังฆกรรมเมื่อลูกชายอุปสมบท

อุโบสถไม้สักทอง ศิลปะล้านนา ที่วัดร่ำเปิง

 

หนังสือพุทธศิลป์ล้านนา วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) นำข้อเขียนที่เป็นความในใจและความรู้สึกของช่างผู้รังสรรค์งานชิ้นเอกในด้านศิลปะล้านนามาตีพิมพ์ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งแต่ละท่านได้เล่าถึงความเป็นมาและความประทับใจในการที่มีส่วนร่วมสร้างงานศิลป์ที่จะตั้งอยู่คู่กับล้านนาและประเทศไทยไปนานนับศตวรรษได้ลึกซึ้งนัก

ผศ.สุรสิทธิ์ เสาว์คง เขียนถึงที่มาของแบบแปลนอุโบสถวัดร่ำเปิงว่ามีแรงบันดาลใจจากอุโบสถวัดต้นเกว๋น อ.หางดง จ.เชียงใหม่ และวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่เปิดโล่ง รับแสงสว่างได้ทุกด้าน

wเหตุที่สร้างอุโบสถล้านนา

พระครูภาวนาวิรัช (พระอาจารย์สุพันธ์) เขียนไว้ในหนังสือพุทธศิลป์ล้านนา วัดร่ำเปิง 2557 มีความว่า

อุโบสถเดิมหลังเล็ก ในขณะที่พระสงฆ์จำพรรษามีมาก ในวันอุโบสถ ที่พระสงฆ์ต้องทำสังฆกรรมจึงคับแคบ อีกประการหนึ่ง ทางเมืองเหนือมีประเพณีห้ามสตรีเข้าไปในบริเวณอุโบสถ ทำให้ผู้เป็นมารดาไม่ได้เห็นบุตรชายขณะเข้าพิธีอุปสมบท ทำให้ขาดปีติ

จึงเกิดความคิดว่าถ้ามีพื้นที่ที่ทำให้อุบาสกอุบาสิกาได้เห็นสังฆกรรมบวชลูกตัวเอง ก็จะเป็นการเกื้อกูลศรัทธาต่อพระศาสนาได้ ส่วนแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานวิจิตรศิลป์นั้น เกิดจากคณะศิษย์มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ เพราะงานนี้ท่านไม่มีความรู้

แต่ที่ให้ใช้ไม้ก่อสร้าง เพราะเชื่อว่าไม้ยิ่งเก่ายิ่งเพิ่มคุณค่าทั้งทางศิลปกรรมและมูลค่าในตัวเอง รวมถึงเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์งานช่างศิลปะล้านนา เป็นการสืบทอดงานศิลป์สู่ยุคใหม่ และสิ่งนี้จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปในอนาคต

wวัดอายุ 522 ปี

วัดร่ำเปิง เป็นวัดโบราณที่สร้าง พ.ศ. 2035 หรือ 522 ปีมาแล้ว โดยเจ้ายอดเชียงราย เจ้าผู้ครองเชียงใหม่ หลังจากพระเจ้าติโลกราช ผู้เป็นปู่สวรรคต

มูลเหตุที่สร้างวัด เพื่อคลายความวิตกกังวลต่อบาปที่เจ้ายอดเชียงรายสั่งประหารชีวิตคนที่เพ็ดทูลพระเจ้าติโลกราชว่า เจ้าศรีบุญเรืองเป็นกบฏจึงถูกพระเจ้าติโลกราชประหาร

เจ้าศรีบุญเรืองเป็นราชโอรสของพระเจ้าติโลกราช เป็นพระบิดาเจ้ายอดเชียงราย

ประกอบกับพระธุดงค์ที่ปักกลดใกล้กับดอยสุเทพมาแจ้งว่าตอนกลางคืนพบรัศมีที่ต้นมะเดื่อไม่ห่างจากที่พระปักกลด น่าจะเป็นพระบรมสารีริกธาตุ พระเจ้ายอดเชียงรายจึงทรงอธิษฐานให้ช้างพาไป หากพบพระบรมสารีริกธาตุให้หยุด ซึ่งช้างก็หยุดที่ต้นมะเดื่อ เมื่อขุดค้นก็พบผอบดินแบบเชียงแสนบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงทรงให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ ที่นั้น และประวัติการสร้างวัดปรากฏในศิลาจารึกฝักขามว่าวัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2035

หลังจากสร้างก็เจริญรุ่งเรือง และกลายเป็นวัดร้างสลับกันไป ล่าสุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นเข้ามายึดครอง เมื่อ พ.ศ. 2484 สงครามยุติ คณะสงฆ์เชียงใหม่ให้อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานที่ด้านหลังวัดพระสิงห์ เพราะถาวรวัตถุเช่นอุโบสถ วิหารที่สร้างสมัยพระเจ้ายอดเชียงรายเสียหายเกือบหมด

wหลวงพ่อทองฟื้นฟู

ในปี พ.ศ. 2514 กรรมการวัดและผู้ศรัทธาสร้างวิหารขึ้นใหม่ ให้หลวงปู่จันทร์สม ที่เป็นพระท้องที่เป็นเจ้าอาวาสสร้างวิหารเสร็จปี พ.ศ. 2516 ต่อมาท่านมรณภาพ พระไม่มีจำพรรษาอีกช่วงหนึ่งจนถึงปลายปี พ.ศ. 2517 มีการบูรณะอุโบสถขึ้นใหม่ เมื่อพระครูพิพัฒน์คณาภิบาล (หลวงพ่อทอง สิริมงฺคโล) เจ้าอาวาสวัดเมืองมาง มาช่วยพัฒนาให้เป็นวัดสำหรับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยเปิดป้ายสำนักวิปัสสนากรรมฐานเมื่อปี พ.ศ. 2518 เมื่อได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ก็ได้สร้างวัดร่ำเปิงจนเจริญรุ่งเรือง

พระครูสมุห์สุพันธ์ อาจิณฺณสีโล ศิษย์หลวงพ่อทอง ได้รักษาการเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. 2537 หลังจากหลวงพ่อทองได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระสุพรหมยานเถร วิ. และได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง พระอารามหลวง

wสำนักวิปัสสนา นานาชาติ

พระครูสมุห์สุพันธ์ ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระครูภาวนาวิรัช ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. 2539 ได้สานงานต่อจากหลวงพ่อทอง ทำให้วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) กลายเป็นวัดที่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทั้งชาวไทยและต่างชาติรู้จักและมาปฏิบัติธรรมตลอดปีไม่เคยขาด เป็นสำนักที่มีชื่อเสียงสำนักหนึ่งของประเทศไทย

ชาวต่างชาติที่เข้าวิปัสสนามาจากทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย ทางวัดจึงจัดอบรมวิปัสสนากรรมฐานถึง 6 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ เยอรมัน รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน และเวียดนาม ทั้งนี้ไม่นับภาษาไทย ซึ่งมีพระครูภาวนาวิรัช เป็นพระอาจารย์ใหญ่

วัดนี้จึงเป็นศูนย์วิปัสสนาและศิลปะล้านนา ที่หาวัดอื่นๆ เสมอได้ยากในถิ่นล้านนา

Thailand Web Stat