พบปลาน้ำลึกหายากลอยติดอวนในอ่าวไทย
ชาวประมงขนอม พบปลา "Mola ramsayi" ลอยติดอวน ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นสายพันธุ์หายาก อาศัยอยู่ในเขตน้ำลึก
ชาวประมงขนอม พบปลา "Mola ramsayi" ลอยติดอวน ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นสายพันธุ์หายาก อาศัยอยู่ในเขตน้ำลึก
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. เพจเฟซบุ๊ก "SIAMENSIS.ORG" กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ได้แชร์ภาพปลาขนาดใหญ่ โดยระบุว่าลอยมาติดอวนชาวประมงที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยปลาดังกล่าวมีรูปร่างคล้ายปลาพระอาทิตย์ หรือ โมลาโมลา ซึ่งเป็นปลาหายาก และเป็นที่ปรารถนาของนักดำน้ำทั่วโลกที่หวังจะได้เห็นตัวจริงสักครั้งใต้ท้องทะเล
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า ปลาดังกล่าวมีชื่อว่า "Mola ramsayi" หรือ "Southern sunfish" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ปลาหนังช้างตัวกลม เป็นชนิดที่ 2822 ของรายชื่อปลาไทย อาศัยอยู่ในเขตน้ำลึกในมหาสมุทร พบเห็นได้ยาก คาดว่าปลาตัวดังกล่าวอาจว่ายหลงมาติดอวนของเรือประมงจนทำให้เสียชีวิตในที่สุด
ก่อนหน้านี้ เคยมีรายงานว่าพบปลา Mola ramsayi ในน่านน้ำไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2557 บริเวณหาดที่บ้านม่วงงาม จ.สงขลา มีน้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม โดยปลา Mola ramsayi เป็นปลาในวงศ์โมลิดี เช่นเดียวกับปลา โมลา โมลา ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับปลาปักเป้า และปลาวัว โดยปลาทั้งสองชนิด เป็นปลาที่มีรูปร่างประหลาด เนื่องจากมีรูปร่างเป็นทรงกลม ส่วนหัวมีขนาดใหญ่จนดูคล้ายมีแต่เพียงหัวอย่างเดียว ขณะที่ส่วนครีบต่าง ๆ ถูกหดสั้นลง โดยส่วนครีบหลังมีขนาดใหญ่ตั้งยาวขึ้นไปข้างบน และครีบก้นมีขนาดใหญ่ยื่นยาวลงมาด้านล่างลำตัว
อย่างไรก็ตาม ซากของปลา Mola ramsayi ที่พบครั้งล่าสุดนี้จะถูกส่งเก็บรักษาไว้ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อศึกษาต่อไป