posttoday

ปุถุชน กับ พระอริยะ

10 สิงหาคม 2557

สวัสดีท่านผู้อ่านที่เคารพ เรื่องของปุถุชนและพระอริยะนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

สวัสดีท่านผู้อ่านที่เคารพ เรื่องของปุถุชนและพระอริยะนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะดูเหมือนเป็นคำที่เข้าใจได้ง่ายๆ แต่โดยรายละเอียดนั้นมีว่าอย่างไร มีความละเอียดลึกซึ้งเห็นได้ยากง่ายอย่างไร วันนี้ MQ ขอนำความบางส่วนจากอรรถกถามูลปริยายสูตรมาเล่าดังนี้

เริ่มจากปุถุชนก่อนว่ามีนิยาม ความหมายอย่างไร ท่านแสดงไว้ว่า

“ชนนี้นั้น ชื่อว่า ปุถุชน เพราะเหตุทั้งหลายมีการยังกิเลสหนาให้เกิด เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง ชนนี้ ชื่อว่า หนา (ปุถุ) เพราะหยั่งลงภายในกิเลสที่หนา”

ปุถุชนมี 2 จำพวก คือ “อันธปุถุชน” (ปุถุชนผู้เป็นคนที่มืดบอด) พวกหนึ่ง “กัลยาณปุถุชน” (ปุถุชนผู้เป็นคนที่ดีงาม) พวกหนึ่ง ในที่นี้กล่าวถึง “อันธปุถุชน” ที่ชื่อว่า ปุถุชน เพราะเหตุเป็นต้นว่า

- ยังกิเลสเป็นต้น ที่หนามีประการต่างๆ ให้เกิด

- ถูกสักกายทิฏฐิเบียดเบียนมาก

- ต้องคอยมองดูศาสดาบ่อยๆ

- ยังไม่หลุดพ้นไปจากคติทั้งปวงที่หนาแน่น

- ปรุงแต่งเครื่องปรุงแต่งต่างๆ เป็นอันมาก

- ถูกโอฆะต่างๆ เป็นอันมากพัดพาไป

- เดือดร้อน ด้วยความเดือดร้อนต่างๆ เป็นอันมาก

- กำหนัด ติดใจ สยบ ลุ่มหลง ติดขัด ขัดข้อง พัวพัน ในกามคุณ 5 เป็นอันมาก

- ถูกนิวรณ์ 5 ร้อยรัดไว้ ปกคลุม ปิดบัง ครอบงำไว้เป็นอันมาก

- เพราะอยู่ในหมู่ชนผู้มีธรรมจริยาต่ำ ผู้หันหลังให้กับอริยธรรม จำนวนมาก คือ นับไม่ถ้วน ซึ่งหันหลังให้อริยธรรม

- ชนนี้ถึงการนับว่าแยกอยู่ต่างหาก คือไม่เกี่ยวข้องกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยคุณ มี ศีล และ สุตะ เป็นต้น

- ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มี “อาคม” (แปลว่า ที่มา ที่ศึกษา หรือปริยัติ) ที่ขจัดความไม่รู้ เพราะไม่รู้เหตุที่เว้นจากการเรียน การสอบถาม และการวินิจฉัยในขันธ์ ธาตุ อายตนะ สัจจะ ปัจจยาการ และสติปัฏฐาน เป็นต้น

- ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มี “อธิคม” (แปลว่า ที่บรรลุ หรือ ผล) เพราะไม่ได้บรรลุธรรมที่จะพึงบรรลุด้วยการปฏิบัติ

ส่วน พระอริยะ นั้นท่านหมายเอา พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลส ไม่ดำเนินไปในทางเสื่อม ดำเนินไปในทางเจริญ และอันชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก พึงดำเนินตาม

การเห็นพระอริยะนั้นต้องเห็นด้วยญาณ คือ ปัญญา ไม่ใช่การเห็นด้วยจักษุ เพราะการเห็นด้วยตาตามปกตินั้นเป็นการรับเอารูปสี ไม่ใช่ยึดเอาความเป็นพระอริยะเป็นอารมณ์ ในอรรถกถามูลปริยายสูตร กล่าวว่า แม้สุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก เป็นต้น ย่อมเห็นพระอริยะทั้งหลายด้วยจักษุ แต่ว่าสุนัขบ้าน เป็นต้นเหล่านั้น จะชื่อว่าได้เห็นพระอริยะทั้งหลายหามิได้

มีเรื่องยกมาเป็นตัวอย่างว่า อุปัฏฐากของพระอรหันต์รูปหนึ่ง ณ จิตตลดาบรรพต บวชเมื่อแก่ อยู่มาวันหนึ่งก็เที่ยวบิณฑบาตไปกับพระเถระ (ผู้เป็นพระอรหันต์) ภิกษุนั้นรับเอาบาตรจีวรของพระเถระเดินตามหลังมา ถามพระเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บุคคลเช่นไร ชื่อว่า พระอริยะ พระเถระตอบว่า บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นคนแก่ รับเอาบาตรและจีวรของพระเถระ ทำวัตรปฏิบัติแม้เที่ยวไปกับพระอริยะ ก็ย่อมไม่รู้จักพระอริยะ โยม พระอริยะทั้งหลาย รู้ได้ยากอย่างนี้ เมื่อพระเถระแม้พูดอยู่อย่างนี้ อุปัฏฐากนั้น ก็ยังหารู้ไม่

เพราะฉะนั้น การเห็นด้วยตาคือจักษุ ไม่ชื่อว่าเห็น การเห็นด้วยญาณเท่านั้น ชื่อว่าเห็น สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนวักกลิ ประโยชน์อะไรด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้ อันเธอเห็นแล้ว ดูก่อนวักกลิผู้ใดแล เห็นพระธรรม ผู้นั้นชื่อว่า เห็นเราตถาคต ดังนี้

นอกจากคำว่าพระอริยะแล้ว ก็ยังมีคำว่า “สัตบุรุษ” ซึ่งหมายถึง

“บุคคลใดแล เป็นนักปราชญ์ ผู้กตัญญูกตเวที

เป็นกัลยาณมิตร มีความภักดีมั่น

กระทำการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยความเต็มใจ

บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวผู้เช่นนั้นว่า สัตบุรุษ ดังนี้”

ดังนั้น พระอริยะ ก็คือ สัตบุรุษ ความหมายไม่แตกต่างกัน พระอริยะเจ้าทั้งหลายประกอบด้วยคุณอันเป็นโลกุตตระ (จึงชื่อว่า โสภณบุรุษ) เป็นทั้งพระอริยะและสัตบุรุษ

สัปปุริสธรรม ก็คือ ธรรมของสัตบุรุษ หรือธรรมของพระอริยะนั่นเอง

อริยวินัย ก็คือ สัปปุริสวินัย หรือวินัยของสัตบุรุษของพระอริยะ เช่นกัน

อริยวินัย นั้นแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ สังวรวินัย 5 ศีลสังวร (เช่น การรักษาศีล) สติสังวร (เช่น การสำรวมระวังอินทรีย์ 5 ด้วยสติ) ญาณสังวร (เช่น การละตัณหาด้วยปัญญา) ขันติสังวร (เช่น อดทนต่อหนาวร้อน) และ วิริยสังวร (เช่น หยุดกามวิตกที่เกิดขึ้นไว้ได้ด้วยความเพียร) กับ ปหานวินัย 5 ได้แก่ ตทังคปหาน (ละเป็นขณะ คือด้วยศีลหรืองดเว้นไม่ทำเฉพาะหน้า) วิกขัมภนปหาน (ละโดยข่มไว้ด้วยฌาน) สมุจเฉทปหาน (ละโดยเด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีก ด้วยมรรค) ปฏิปัสสัทธิปหาน (หมายถึงกิเลสสงบไปในขณะแห่งผลจิต) และนิสสรณปหาน (หมายถึง นิพพาน คือ สลัดเครื่องปรุงแต่งทั้งปวง)

ทรงชี้ว่า ปุถุชนในโลกนี้ไม่ได้สดับ ไม่เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่มีวินัยทั้งสองอย่าง ฉะนั้น ปุถุชนนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า อวินีตะ คือ ผู้ไม่มีวินัย เพราะขาดสังวร และเพราะยังไม่สามารถละปหาตัพพธรรม (ธรรมที่ควรประหาร) ไม่ได้ (หมายถึง อันธปุถุชน)

เมื่อได้ทราบแล้ว ขอเราจงมาพยายามทำตนให้เป็นกัลยาณปุถุชน อย่าทำตนเป็นอันธปุถุชนเลย...