posttoday

อาชีพนางฟ้ายังคงหอมหวนมั่นใจการบินไทยไปรอด

17 สิงหาคม 2557

เชื่อว่าแอร์โฮสเตส หรือนางฟ้าบนเครื่องบินเป็นอาชีพที่สาวไทยใฝ่ฝันแซงหน้าอาชีพอื่น เพราะผลตอบแทนค่อนข้างสูง ได้แต่งตัวสวยงามมีบุคลิกภาพที่ดี มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงได้ต้อนรับผู้โดยสารที่ถูกคัดกรองสถานะทางสังคม ล้วนเป็นแรงจูงใจให้อาชีพแอร์โฮสเตสและสจ๊วดเป็นความฝันของหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัย

เชื่อว่าแอร์โฮสเตส หรือนางฟ้าบนเครื่องบินเป็นอาชีพที่สาวไทยใฝ่ฝันแซงหน้าอาชีพอื่น เพราะผลตอบแทนค่อนข้างสูง ได้แต่งตัวสวยงามมีบุคลิกภาพที่ดี มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงได้ต้อนรับผู้โดยสารที่ถูกคัดกรองสถานะทางสังคม ล้วนเป็นแรงจูงใจให้อาชีพแอร์โฮสเตสและสจ๊วดเป็นความฝันของหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัย

โดยเฉพาะการได้เป็นหนึ่งในลูกเรือของบริษัท การบินไทย สายการบินแห่งชาติ สายการบินที่มีชื่อเสียงติด 1 ใน 5 ของโลก ในยุคที่ไลเซนส์การบินมีอย่างจำกัด เส้นทางการบินถูกผูกขาด และทันทีที่ประเทศไทยเปิดเสรีน่านฟ้าช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาล การคืบคลานเข้ามาของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ปัญหาราคาน้ำมันตลาดโลกถีบตัวสูง ประกอบกับปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการภายในองค์กร ได้บั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันการบินไทยให้อ่อนด้อยลงทุกปี วัดได้จากการขาดทุนหนักสุดในปี 2552 กว่า 2 หมื่นล้านบาท วงรอบนั้นได้ย้อนกลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2556 ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท และปีนี้มีแนวโน้มขาดทุน 1.52 หมื่นล้านบาท จากครึ่งปีขาดทุนไปแล้ว 10,296 ล้านบาท จนมียอดขาดทุนสะสมจำนวน 3,534 ล้านบาท เมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. 2557

การบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูวิกฤตองค์กรอีกครั้ง นโยบายการปรับลดพนักงาน 6,000 คน ภายใน 5 ปี รวมถึงนโยบายการลดต้นทุนบริหารจัดการปีนี้ 4,000 ล้านบาท มีผลต่อสภาพจิตใจและความเชื่อมั่นต่อพนักงาน

ธัญวีร์ สุริยารังสรรค์ หรือน้องแกง สาวน้อยแอร์โฮสเตสการบินไทย เล่าย้อนถึงที่มาการเข้าสู่อาชีพพนักงานต้อนรับบนสายการบินแห่งชาติ ว่า มองว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงกว่าอาชีพอื่น และในช่วงเริ่มการทำงานปี 2554 บริษัทก็ประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการ โดยส่วนตัวไม่ได้รับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว และเชื่อมั่นว่าสายการบินไทยจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้

“ช่วงที่มาเป็นแอร์ใหม่ๆ พี่ที่อยู่มานาน ถามเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมมาทำงานนี้ ส่วนหนึ่งมองว่ามีค่าตอบแทนที่ลดลง เทียบไม่ได้กับในช่วงที่รุ่งโรจน์ ทุกคนมีรายได้ที่ดี มีบ้าน มีรถ การบินไทยให้ชีวิตที่ดี” ธัญวีร์ กล่าว

ส่วนตัวมองว่า การบินไทยไม่ได้ย่ำแย่อย่างหนัก ค่าตอบแทนไม่ได้ลดลง อาจมีสวัสดิการบางส่วนที่ลดลงบ้าง แต่มองว่าเป็นเรื่องที่พนักงานทุกคนต้องช่วยกันให้ผ่านพ้นจุดนี้ไป

ธัญวีร์ เล่าอีกว่า อาชีพนี้สามารถบริหารจัดการเรื่องเวลาได้ เช่น เมื่อรู้สึกว่ามีรายได้น้อยลง สามารถรับบินเพื่อเพิ่มรายได้ได้ และตัวเองเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวชั้นกลาง ไม่ได้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากนัก มีการปรับตัวชัดเจน เรื่องการซื้อเครื่องสำอาง จากเดิมเมื่อชอบหรือถูกใจจะซื้อทันที แต่ตอนนี้จะใช้จนหมดถึงซื้อใหม่ และไม่นิยมของแบรนด์เนม เมื่อเทียบกับลูกเรือการบินไทยกว่า 6,000 ชีวิต ที่มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่กว่า 50% นิยมใช้ของแบรนด์เนม

“ปัจจุบันลูกเรือได้ร่วมรณรงค์ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบริษัทประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างการใช้ถุงมือ ถุงพลาสติก จึงเชื่อมั่นว่า การบินไทยจะอยู่รอดต่อไปได้ เพราะเป็นสายการบินแห่งชาติ” ธัญวีร์ กล่าว

ด้านสจ๊วดหนุ่มหล่อการบินไทย ชาญประวัติ สุทธะสุริยะ หรืออาร์ต มีชั่วโมงการบินมากว่า 14 ปี เล่าว่า ตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาได้ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่า วันหนึ่งต้องเป็นลูกเรือของการบินไทยให้ได้ เพราะได้เห็นพี่ชายและน้าสาว มีโอกาสทำงานและเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างมีความสุข จึงมุ่งมั่นที่จะเข้ามายืนในจุดนี้

หากถามถึงความเชื่อมั่นกับการบินไทย ชาญประวัติ มองว่า ยังเป็นสายการบินที่แอร์โฮสเตสของทุกสายการบินต้องการมาทำงานด้วย เพราะมีภาพลักษณ์ สวัสดิการ และค่าตอบแทนที่ดี และเชื่อว่าจะผ่านวิกฤตในครั้งนี้ได้

ด้านภาพรวมของรายได้ ยอมรับว่า ปรับลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากเที่ยวบินที่ปรับลดลง เพื่อยกเที่ยวบินให้กับสายการบินไทยสมายล์ และนกแอร์ รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรง

“ทุกวันนี้ได้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับรายได้และภาวะเศรษฐกิจ จากเดิมใช้จ่ายเงินไม่ได้คิดมาก เพราะถือเป็นการให้รางวัลกับตัวเอง แต่ปัจจุบันจะคิดถึงความจำเป็นทุกครั้ง” ชาญประวัติ กล่าว

นอกจากนี้ อาชีพลูกเรือทำให้พบกับโอกาสในการใช้ชีวิต ล่าสุดได้เปิดบริษัท บีบิด้า นำเข้าไวน์จากโปรตุเกส นับเป็นการเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวและเป็นอาชีพเสริมที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ที่อาจจะเกษียณอายุตอน 45 ปี ซึ่งไม่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่มีต่อบริษัท และยืนยันว่าลูกเรือทุกคนมั่นใจว่า การบินไทยจะเป็นสายการบินแห่งชาติที่ให้บริการกับคนไทยและต่างชาติได้ตลอดไป

ขณะที่แอร์โฮสเตสสาวรายหนึ่ง ที่อยู่ในอาชีพนี้มาแล้วถึง 8 ปี ทำงานกับสายการบินรวม 4 แห่ง เป็นสายการบินแถบตะวันออกกลาง 2 แห่ง รวม 7 ปี ก่อนย้ายกลับมาอยู่โลว์คอสต์แอร์ไลน์ในเมืองไทย

“คนที่อยากเป็นแอร์โฮสเตส มักจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ชอบการอยู่กับที่ อาชีพนี้ค่อนข้างอิสระ และยังมีรายได้สูงกว่าอาชีพอื่นแม้จะถูกลดสวัสดิการหลายอย่างไปก็ตาม”

เทรนด์ของแอร์โฮสเตสในยุคปัจจุบัน ก็ยังมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้สายการบินขาดทุนก็ตามหลักฐานที่ตอกย้ำก็คือรายการ “The Angel นางฟ้าติดปีก” ซึ่งออกอากาศทุกวันเสาร์ ทางช่อง 3 โดยมีรางวัลเป็นเงินสดจำนวน 1 ล้านบาท รวมถึงของรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย และยังได้เป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์สำหรับสายการบินนกแอร์

มีโชค ราษฎรานุวัต โปรดิวเซอร์ หรือผู้ควบคุมการผลิตรายการ บอกว่า ยังมีผู้หญิงที่อยากเป็นแอร์โฮสเตสอีกมาก จากการทำรายการนี้ทำให้รู้ว่า เทรนด์ของอาชีพแอร์โฮสเตสยังไม่ลดลงอย่างฮวบฮาบ

“รายการเราก็มีคนเข้ามาคัดเลือกเพื่อเข้าแข่งขันเยอะมากหลายร้อยคนเลยทีเดียว เหตุผลหลักๆ ส่วนใหญ่ก็ยังยึดติดกับอาชีพที่ต้องมีหน้าตาสวยงาม ทำงานบนฟ้า ได้เดินทางไปต่างประเทศ และได้ท่องเที่ยวไปในตัว ซึ่งจริงๆ แล้วเขาไม่รู้หรอกว่า แทบจะไม่ได้ท่องเที่ยวอะไรเลย สุดท้ายแล้วก็เริ่มชาชินกับมัน อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องเงินหรือรายได้ เป็นอีกส่วนซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งที่คิดว่า อาชีพนี้จะทำให้ชีวิตมีความมั่นคงมากขึ้น”

สำหรับคุณสมบัติตามมาตรฐานที่บริษัทสายการบินกำหนดไว้โดยพื้นฐานคือ 1.ต้องมีอายุระหว่าง 2026 ปี จบการศึกษาอย่างน้อยปริญญาตรี 2.ส่วนสูง 160 ซม.ขึ้นไป น้ำหนักก็ต้องสัมพันธ์กับส่วนสูงด้วย 3.สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีการทดสอบให้ว่ายน้ำไปกลับ 50 เมตร และ 4.ภาษาอังกฤษต้องมีผลสอบโทอิคไม่ต่ำกว่า 600 คะแนน มีโชค บอกว่า ทางนกแอร์จะเป็นผู้กรองอีกชั้นหนึ่ง

มีโชค เผยเคล็ดลับของแอร์โฮสเตสในสเปกของนกแอร์ว่า จะเน้นที่เป็นผู้หญิงสมัยใหม่มีความเป็นวัยรุ่น เฟรนด์ลี่ยิ้มแย้มแจ่มใส

จากประสบการณ์ที่ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้เข้าแข่งขัน มีโชค ยืนยันว่า สุดท้ายแล้วคนที่อยากเป็นแอร์โฮสเตสไม่ได้มองที่สายการบินไหนที่เขาจะเข้ามาทำอย่างชัดเจนเหมือนในอดีตที่ต้องเป็นสายการบินแห่งชาติเท่านั้น