posttoday

"หลีกทาง=ช่วยชีวิต"เสียงจากรถพยาบาลฉุกเฉิน

15 กันยายน 2557

เสียงสะท้อนจากคนทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่สะท้อนว่าสังคมทุกวันนี้ยังไม่ให้ความสำคัฐกับ“รถพยาบาลฉุกเฉิน”เท่าที่ควร

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ทุกครั้งที่ “รถพยาบาลฉุกเฉิน” แล่นมาด้วยความเร็วสูง พร้อมเสียงไซเรนดังสนั่นหวั่นไหว สัญญาณไฟกะพริบวูบวาบ นั่นหมายถึงชั่วโมงเร่งด่วน วินาทีแห่งความเป็นความตาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถึงจุดหมายโดยเร็วที่สุด

หลายคันรีบหลบให้ด้วยความตกใจกลัว บ้างจอดข้างทางให้แซงไปก่อน แต่ยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่แยแส ไม่ให้ความสำคัญ แถมยังจงใจขวางทางอย่างคนไม่รู้ร้อนรู้หนาว

โดยหาได้เฉลียวใจว่าการกระทำดังกล่าวอาจต้องแลกมาด้วยชีวิตอันมีค่าของผู้บริสุทธิ์

คนใช้รถไม่หลีกทางให้

เร็วๆนี้ มีข่าวน่าสลดหดหู่ที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกโซเชียล เมื่อรถพยาบาลฉุกเฉินคันหนึ่งประสบอุบัติเหตุถูกชน จนทำให้ผู้ป่วยที่กำลังนำตัวส่งโรงพยาบาลเสียชีวิตทันทีช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นยังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่รถตู้โดยสารคันหนึ่งจงใจขับรถปาดซ้ายป่ายขวาไม่ยอมให้รถพยาบาลฉุกเฉินแซง ขณะที่อีกรายถึงขั้นโมโหชักปืนไล่ยิงกันเลย

สาเหตุประการเดียวคือไม่ยอมหลีกทางให้ ความแล้งน้ำใจนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดต้องเสียชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย

“นอกเหนือจากปัญหาเรื่องการจราจรติดขัด มารยาทในการขับขี่ของผู้ใช้รถใช้ถนนที่ไร้น้ำใจ ไม่ยอมหลบทาง ก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานของเราเหมือนกัน”

ประโยคทอดถอนใจของ อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ หัวหน้ารถกู้ภัย มูลนิธิร่วมกตัญญู เจ้าของรหัส "NAKON 45"
ในฐานะคนทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินมานานนับสิบปี อัญวุฒิเปิดเผยว่าปัจจุบันสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับรถพยาบาลฉุกเฉินเท่าที่ควร

“ขอย้ำว่าแค่คนส่วนน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะพวกขับรถหรู มีฐานะ พวกนี้ไม่ค่อยสนใจ พวกที่ขับรถไม่เก่ง ไม่ชำนาญ จึงอยู่นิ่งๆเพราะไม่รู้จะหลบไปทางไหน และพวกที่คิดว่าเปิดไซเรนโดยไม่มีเหตุ เลยไม่ยอมหลีกทาง ที่จงใจแกล้งไม่มีหรอกครับ ผมว่าเขายังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากกว่าว่าสำหรับรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือรถกู้ชีพ เวลามีค่ามาก”

\"หลีกทาง=ช่วยชีวิต\"เสียงจากรถพยาบาลฉุกเฉิน

ทุกวินาทีมีค่า

หลักในการทำงานของรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือรถกู้ชีพคือ ต้องไปให้ถึงที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด

“ถ้าถึงที่เกิดเหตุภายใน 10-15 นาที จะทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด สาเหตุที่พวกเราต้องขับรถด้วยความเร็วสูง เพราะได้รับแจ้งว่าในที่เกิดเหตุมีผู้บาดเจ็บจำเป็นต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล เราไม่รู้หรอกว่าอาการหนักมากน้อยขนาดไหน ประเมินไว้ก่อนเลยว่าสาหัส หากผู้บาดเจ็บช็อก หมดสติ หยุดหายใจ แล้วต้องมาเจอกับรถติด คนไม่ยอมหลีกทางให้ โอกาสตายมีสูงมาก”อัญวุฒิ กล่าว

โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเร่งด่วน เช่น โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุ ติดเชื้อในกระแสเลือด อันถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา

ทั้งนี้ มีรายงานจากสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) ระบุว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีรถพยาบาลฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุระหว่างรับส่งผู้เจ็บป่วยมากกว่า 27 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 119 ราย เสียชีวิต 18 ราย อัตราการเสียชีวิตถึง 15 % สูงกว่ารถตู้โดยสารทั่วไป 3 เท่าตัว ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่กู้ชีพ ผู้ป่วย และญาติ

นพ.สมชาย กาญจนสุต อดีตผอ.ศูนย์กู้ชีพนเรนทร กล่าวว่า ผู้ที่มาปฏิบัติหน้าที่เป็นโชเฟอร์รถพยาบาลฉุกเฉินต้องมีทักษะในการขับรถมากกว่าคนทั่วไป

“ต้องรอบรู้ หูไวตาไว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย การขับรถเร็วต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในตัวเอง ผู้ป่วย และเพื่อนร่วมถนนด้วย”

มีน้ำใจดีกว่าบังคับใช้กฎหมาย

แม้จะมีกฎหมายที่กำกับดูแลการทำงานของรถฉุกเฉิน ตามมาตรา 75 ของพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โดยอนุญาตให้ใช้สัญญาณไซเรน หยุดหรือจอดรถในที่ห้ามจอด ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด รวมถึงมาตรา 76 ที่ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นต้องหยุดหรือหลบทาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่รถพยาบาลฉุกเฉิน

แต่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการมีน้ำใจมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย

“เรื่องแบบนี้ไม่ต้องถามหากฎหมายหรอก แต่ควรถามว่าเรามีน้ำใจไหม คำว่าฉุกเฉินหมายถึงทุกคนต้องให้ความสำคัญ ต้องเข้าใจในบทบาทการทำหน้าที่ของรถพยาบาลฉุกเฉิน”พ.ต.อ.วีระวิทย์ วัจนะพุกกะ ผู้กำกับการ 1 สายตรวจ กองบังคับการตำรวจจราจร บอก

จากการเปิดเผยของทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รถกู้ชีพที่ผ่านมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องเป็นรถยนต์ตู้ หรือรถกระบะบรรทุกที่มีทะเบียนยานพาหนะถาวร มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ห้องคนขับและห้องพยาบาลแยกออกจากกันแต่สามารถสื่อสารกันได้ มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำหัตถการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่กระจกหลังต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ด้านข้าง และช่วงหลังทั้งสองข้างต้องแสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ. ติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว

ดังนั้น หากประชาชนทั่วไปสังเกตเห็นรถพยาบาลในลักษณะดังกล่าวและกำลังเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน ควรหลีกทางให้ เนื่องจากบนรถคันดังกล่าวมีผู้ป่วยฉุกเฉินหรือกำลังเร่งไปรับผู้ป่วยฉุกเฉิน

“ผมขอโอกาสให้การขับรถเร็วของพวกเราได้ไปช่วยต่อชีวิตให้คนอื่นเถอะครับ กรุณาหลบทางให้หน่อย แค่รถพยาบาลฉุกเฉินเพียงคันเดียว พวกท่านก็มีส่วนช่วยให้คนๆหนึ่งรอดชีวิตได้”เจ้าหน้าที่กู้ภัย มูลนิธิร่วมกตัญญู ขอความเห็นใจ

อาชีพคนขับรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือรถกู้ภัยถือว่าเป็นอาชีพที่ต้องทำงานอยู่บนความเป็นความตาย เวลาจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ผู้ใช้รถใช้ถนนจึงควรคิดทบทวนเสียใหม่ อำนวยความสะดวกให้พวกเขาได้ทำงานอย่างเต็มที่

เพราะวันใดวันหนึ่ง คนในครอบครัว หรือตัวเราเองอาจขึ้นไปอยู่บนรถคันนั้นก็ได้ ใครจะไปรู้

\"หลีกทาง=ช่วยชีวิต\"เสียงจากรถพยาบาลฉุกเฉิน