posttoday

ธรรมะที่เป็นที่พึ่งอันแท้จริง

05 ตุลาคม 2557

พระธรรมรัตนดิลก (เชิด จิตฺตคุตฺโต ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม เจ้าคณะภาค

พระธรรมรัตนดิลก (เชิด จิตฺตคุตฺโต ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม เจ้าคณะภาค 4 เป็นพระเถระนักเผยแผ่ และนักปกครอง รับนิมนต์มาแสดงธรรมในรายการ เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2557 หัวข้อที่พระคุณท่านบรรยายให้อุบาสกอุบาสิกานับร้อยคนจนแน่นห้อง ได้แก่ เรื่อง “ธรรมะที่เป็นที่พึ่งอันแท้จริง”

ชาว อย.

พระธรรมรัตนดิลก ในวัย 73 ปี ซึ่งเกิดในตระกูลที่โยมบิดามารดาเป็นพ่อค้า นามสกุล ฤกษ์ภาชนี เมื่อวันอังคารที่ 17 ก.พ. 2484 ที่บ้าน ต.รางจรเข้ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ได้อธิบายความก่อนเสนอหลักธรรม ว่า “คนเราเกิดมานั้นกว่าจะเขียนได้ ต้องฝึกฝนลากตามรอยเส้นประ...แล้วพัฒนาเป็นลายมือของตนเอง เปรียบเหมือนกับเราทุกคนเกิดมาต้องพึ่งคนอื่น เป็นลูกต้องพึ่งพ่อแม่ เป็นลูกศิษย์ก็ต้องพึ่งครูอาจารย์ แต่ท้ายสุดแล้วเราจะมีหนทางดำเนินชีวิต...เป็นของตนเอง”

พระธรรมรัตนดิลก อธิบายเพิ่มเติมว่า เราจะต้องมีที่พึ่งทั้งภายนอกและภายในจิตใจ ยกตัวอย่างที่พึ่งภายนอก ได้แก่ ปัจจัย 4 อาทิ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค จัดได้ว่าเป็นที่พึ่งทางกายทั้งสิ้น แต่ที่พึ่งสำคัญแท้จริง คือ ที่พึ่งทางใจหรือการให้อาหารทางจิตใจ ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา เพราะถ้าจิตใจขาดหลักธรรมแล้ว ก็จะเกิดความกระวนกระวายใจ และเป็นต้นเหตุของการเกิดทุกข์

นาถกรณธรรม

จากนั้นพระคุณท่านได้ยกหลักธรรมมาให้ผู้ฟังนำไปปฏิบัติ เป็นหลักธรรมง่ายๆ ที่เป็นที่พึ่งของใจ คือ นาถกรณธรรม 10 ประการ นับเป็นทางที่จะทำให้เราได้มีที่พึ่งโดยแท้จริง ดังนี้

1.ศีล เพียงแค่รักษาศีลให้ครบ 5 ข้อ ในทุกวันก็เพียงพอ เพราะนั่นหมายถึงการดำเนินชีวิตให้ถูกทำนองคลองธรรม ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เกิดทุกข์ทั้งร่างกายและจิตใจ

2.พาหุสัจจะ คือ ฟัง อย่างมีใจเปิดกว้างแล้วจะได้รับการเรียนรู้ มุมมอง ทัศนะ สติปัญญาและวิจารณญาณ จากการรับฟังผู้อื่น

3.กัลยาณมิตตตา คือ การมีเพื่อนที่ดี ผู้ซึ่งแนะนำ ตักเตือน นำประโยชน์มาให้เราได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูก ในขณะเดียวกันเราก็ต้องพร้อมรับฟังอย่างมีใจเปิดกว้างพร้อมรับกับความปรารถนาดีด้วยเช่นกัน

4.โสวจัสสตา คือ การเป็นผู้ที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อรั้น ยอมรับในข้อบกพร่อง พร้อมที่จะพัฒนา ด้วยการสังเกต และแสวงหาหลักธรรมมาปรับใช้กับชีวิตให้พัฒนาเจริญก้าวหน้าไปในทางที่ดี

5.กิงกรณีเยสุ ทักขตา คือ การเป็นผู้ที่ขยันและสามารถที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ เพราะนอกจากการเป็นผู้รับและพร้อมพัฒนาแล้ว ยังต้องเป็นผู้ให้ ด้วยความจริงใจและปรารถนาดีเพื่อผู้อื่นด้วย

6.ธัมมกามตา คุณสมบัติของผู้ที่ใฝ่ในธรรม ขวนขวายศึกษาหลักความจริง เพื่อเสริมสติปัญญาสม่ำเสมอ

7.วิริยะ ความเพียร ที่จะสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และไม่คิดเอาตนเองเป็นที่ตั้ง

8.สันโดษ การรู้จักพอเพียง ยินดีในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่ทำให้ร่างกายหรือจิตใจ วุ่นวายด้วยการอยากได้อยากมี

9.สติ รู้จักควบคุมจิตใจ ให้ไม่ลืมตัว ไม่ประมาท หรือปล่อยไปตามอารมณ์ ตรึกตรองก่อนตัดสินใจเสมอ

10.ปัญญา การนำหลักธรรมที่ศึกษามาปรับใช้กับชีวิต ด้วยความมีเหตุผล

ธรรมะที่เป็นที่พึ่งอันแท้จริง

 

สนองงานวัดและศาสนา

ข้อมูลเพิ่มเติมที่ค้นหาจากอินเทอร์เนต บอกว่าท่านเป็นพระเถระอาวุโสลำดับต้นๆ ของวัดสุทัศนเทพวราราม พระอารามหลวงชั้นเอกอุ สนองงานใกล้ชิด สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม รูปปัจจุบัน นอกจากสนองงานคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ คือ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 4 และรองแม่กองธรรมสนามหลวง เป็นต้น

ด้านการศึกษา พ.ศ. 2497 จบประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดรางจรเข้ บรรพชาเป็นสามเณร วันเสาร์ที่ 7 ก.ค. 2497 ที่วัดรางจรเข้ มีพระครูปริยัติคุณุปการ (วาสน์ ธมฺมโชโต) เจ้าอาวาสวัดบ้านแพน เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อเป็นสามเณรสอบได้นักธรรมตรี ย้ายไปอยู่วัดบางกระทิง และสอบได้นักธรรมชั้นโท

ต่อมาย้ายมาอยู่วัดบางหลวง จ.ปทุมธานี สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

อายุครบ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดรางจรเข้ มีพระครูพิศิษฐ์สังฆการ (สมบูรณ์ อิสิญาโณ) เจ้าอาวาสวัดบางกระทิง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุเมธมุนี (มังกร กสฺสโป) เจ้าอาวาสวัดบางหลวง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูกุหลาบ ธมฺมสุทฺโธ เจ้าอาวาสวัดรางจรเข้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า จิตฺตคุตฺโต

เมื่ออุปสมบทได้เล่าเรียนอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบางหลวง จ.ปทุมธานี จากนั้นย้ายมาเรียนประโยค ป.ธ.8 ที่วัดสามพระยา

ประโยค ป.ธ.9

ต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม) ในขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวิสุทธาจารย์ เมตตารับมาสังกัดวัดสุทัศน์ฯ ให้อยู่ที่คณะ 9 ที่มีพระศรีวิสุทธิวงศ์ (วีระ ภทฺทจารี) หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน และสามารถสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อปี 2523

สำหรับงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้เป็นผู้แสดงธรรม บรรยายธรรม และแสดงปาฐกถาทั้งในวัด ในเขตปกครอง ในหน่วยงานของรัฐ เอกชน สถานศึกษา และสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ

ล่าสุด วัดสุทัศน์ฯ มอบหมายให้เป็นประธานดำเนินการบูรณะตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ซึ่งเป็นงานสำคัญมาก เนื่องจากตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เป็นตำหนักที่ประทับของอดีตสมเด็จพระสังฆราช และบูรพาจารย์หลายท่าน รวมทั้งเป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดสุทัศน์ฯ โดยตรง ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เป็นสถานที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกของวัดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากหลักธรรมที่พระคุณท่านมอบให้ประชาชนทั้งปวงแล้ว ท่านยังต้องรับผิดชอบงานที่คณะสงฆ์ไว้วางใจ ทั้งในวัดและคณะสงฆ์โดยรวมอีกมากมาย เพราะเป็นทั้งพระนักวิชาการ และปฏิบัติงาน