เภสัชบุกอย.รวมตัวค้านพ.ร.บ.ยา
เลขาอย.เตรียมเชิญทุกกลุ่มหาข้อสรุปแก้ร่างพ.ร.บ.ยา เตรียมแก้ให้เสร็จภายใน2สัปดาห์
เลขาอย.เตรียมเชิญทุกกลุ่มหาข้อสรุปแก้ร่างพ.ร.บ.ยา เตรียมแก้ให้เสร็จภายใน2สัปดาห์
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. เวลา 9.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เครือข่ายเภสัชกร นำโดยภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม และ ภก.บรรเจิด เดชาศิลปะชัยกุล ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย นำเภสัชกรกว่า 300 คนจากทั่วประเทศ เข้าพบ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการอย. เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งกลับมาให้พิจารณา เนื่องจากขาดความโปร่งใส ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ ขอให้อย.ไม่ยืนยันร่างฉบับดังกล่าว และถอนเรื่องไม่นำเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และขอให้นำกลับไปพิจารณาใหม่
ทั้งนี้ เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเภสัชกรโรงพยาบาลทั่วประเทศรวมถึงเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพและภาคประชาชน จะร่วมกันคัดค้านร่างพ.ร.บ.โดยการแต่งชุดดำ สวมเสื้อกาวน์ ปิดป้ายคัดค้านที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งจนกว่าจะมีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.
ขณะที่ นพ.บุญชัย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ไม่สามารถพูดอะไรได้ เนื่องจากร่างพ.ร.บ.อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเพิ่งส่งกลับมายังอย.เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ รับทราบถึงความกังวลของเภสัชกรทุกคน และจะไม่ลักไก่ดันร่างเข้าสู่สนช. โดยได้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาและศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข แล้วว่า จะขออุทธรณ์ร่างฉบับปัจจุบันไปอีก 30 วัน โดยระหว่างนี้จะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.
"สัปดาห์หน้าจะเชิญ ตัวแทนสภาเภสัชกรรม ตัวแทนคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย รวมถึงแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) และองค์การเภสัชกรรมเข้าหารือ เพื่อแก้ไขร่างพ.ร.บ.ต่อไป" นพ.บุญชัยกล่าว
เลขาธิการอย. กล่าวอีกว่า ในเภสัชกรด้วยกันยังเห็นต่างกันในบางข้อ โดยประเด็นใหญ่จะหารือกับทุกกลุ่ม ซึ่งหากตกลงกันได้ก็สามารถเดินหน้าต่อไป ส่วนประเด็นย่อยยังสามารถแก้ไขกันต่อไปได้ในสนช. แต่หากตกลงกันไม่ได้ในประเด็นใหญ่ ก็อาจต้องถอนร่างออกจากการพิจารณาของสนช. ซึ่งหากต้องถอนจริงก็นับว่าน่าเสียดายมาก เนื่องจากมีการร่างมายาวนานตั้งแต่ปี 2549 และหลายเรื่องดีดี อาทิ เรื่องราคากลางยา หรือสิทธิบัตรยา ซึ่งมีการระบุชัดเจนในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
ทั้งนี้ หลังจากการยื่นหนังสือ ได้มีการตกลงกันว่รจะมีการคัดเลือกผู้แทนเครือข่ายเภสัชกรรมจากทุกเครือข่าย 25 คน เพื่อเข้าประชุมกับคณะทำงานของอย. เพื่อให้ได้ข้อยุติใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้
ด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เป้าหมายของอย.และเภสัชกรทุกคนตรงกัน เรื่องความต้องการที่จะคุ้มครองผู้บริโภค และการให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด ซึ่งหลังจากนี้อยากให้ทุกฝ่ายนำข้อมูลและเหตุผลมาพูดคุยกันอย่างสุนทรียสนทนา เพื่อหาทางออกร่วมกันในที่สุด