ทำบุญได้งานศิลป์ติดผนังโบสถ์ ไอเดียเก๋ "วัดขุนอินทประมูล"
ตามไปดูจิตรกรรมฝาผนังสุดแหวกแนวที่วัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง
เรื่องและภาพ อินทรชัย พาณิชกุล
ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ วัดขุนอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ยังเป็นเพียงแค่วัดเล็กๆกลางทุ่งนา ห่างไกลชุมชน ไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าใดนัก
แต่หลังตกเป็นข่าวใหญ่กรณีที่มีการคิดไอเดียเก๋โดยให้ศิลปินวาดภาพเหมือนของผู้บริจาคเงินลงบนผนังอุโบสถ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การสร้าง ชื่อของวัดนี้ก็โด่งดังชั่วข้ามคืน
“อุโบสถหลังนี้เกิดจากความร่วมมือของประชาชนที่มีจิตศรัทธา คนละมากละน้อยแต่ก็บริจาคเงินจนสร้างขึ้นได้สำเร็จ อาตมาเลยคิดว่าอยากจะบันทึกประวัติความเป็นมาของการสร้างโบสถ์ ตั้งแต่วางศิลาฤกษ์ หล่อพระประธาน ยกพระประธาน จนถึงยกช่อฟ้า โดยให้ผู้บริจาคมีภาพวาดตัวเองติดไว้บนฝาผนัง เผื่อวันข้างหน้าลูกหลานมาเห็นจะได้รู้ว่าญาติของเราก็มีส่วนร่วมในการสร้างโบสถ์แห่งนี้”ความในใจของ พระครูวิเศษชัยวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดขุนอินทประมูล
ท่านบอกด้วยว่าเพราะเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้าน งานนี้จึงต้องยิ่งใหญ่และอลังการ
บรรยากาศล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ยังเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะบริเวณหน้าลิฟท์ชั้น 2 ของอุโบสถหลังใหม่ที่สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 120 ล้านบาท ปรากฏไทยมุงกลุ่มใหญ่กำลังแหงนคอมอง พร้อมถ่ายรูปจิตรกรรมฝาผนังกันอย่างตื่นเต้น
พื้นที่วาดภาพเหมือนของผู้บริจาคเงินสมทบทุนสร้างอุโบสถ ขนาดกว้างยาวราว 14 เมตร เผยให้เห็นประวัติความเป็นมาของการสร้างอุโบสถในมุมสูง ตั้งแต่ขั้นตอนวางศิลาฤกษ์ พิธีหล่อพระประธาน ยกพระประธาน และยกช่อฟ้า รายล้อมด้วยผู้คนเป็นจำนวนมาก หลากหลายสีหน้า ท่าทาง อิริยาบถ
“เราเปลี่ยนวิธีจากใส่แค่ชื่อนามสกุลผู้บริจาคติดไว้ตามเสา ตามผนังโบสถ์ มาเป็นวาดภาพเหมือน (Portrait) ของผู้บริจาค ใส่ในสถานที่จริงเลย จะได้อยู่ในบรรยากาศจริงๆ ได้รู้ว่าใครกำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ผมว่ามันเป็นเรื่องใหม่มากๆ เป็นความท้าทายของช่างเขียนรูปด้วย เราเป็นคนยุคใหม่จะไปวาดแบบเดิมๆก็สู้ช่างเขียนรูปสมัยก่อนไม่ได้ เลยเปลี่ยนใหม่ โดยใช้วิธีคิดเดิม โครงสร้างเดิม แต่เลือกเทคนิคการนำเสนอใหม่ๆซึ่งทันกับยุคสมัยปัจจุบันลงไปแทน”บุญทวี ทับทิมไทย วัย27 ปี หัวหน้าคณะวาดรูป เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี
บุญทวี
บุญทวีและผองเพื่อนศิษย์เก่าจากรั้วจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกิน นอน วาดรูปอยู่ที่วัดขุนอินทประมูลมานานกว่า 2 ปีแล้ว เขาบอกว่าตั้งแต่เป็นข่าวดังแทบไม่ค่อยมีเวลาวาดเต็มที่สักเท่าไหร่ เพราะต้องคอยรับออเดอร์จากชาวบ้านที่มีเข้ามาตลอดทั้งวัน
“พื้นที่การวาดจะแบ่งโซนราคาเป็น 3 ส่วนคือส่วนบน 500 บาท ส่วนกลาง 1,000 บาท และส่วนล่างใกล้ระดับสายตาที่สุด 3,000 บาทต่อหัว ขั้นตอนง่ายๆคือ เลือกก่อนว่าอยากให้ภาพตัวเองไปอยู่ตรงไหน เสร็จแล้วก็ถ่ายรูปด้วยท่าทางสบายๆ เป็นธรรมชาติ ไม่อยากให้แข็ง จืดชืดเหมือนรูปติดบัตร จากนั้นมาร์คจุดจองเป็นเครื่องหมายกากบาทไว้บนผนังที่ต้องการ สุดท้ายก็รอคิว
ปกติจะใช้เวลาวาดภาพเหมือนต่อคนประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็เสร็จ แต่ช่วงนี้คิวแน่นมากๆ เลยต้องรอกันหน่อยไม่เกิน 2 เดือน ตอนนี้คนให้ความสนใจกันเยอะมาก อีกไม่นานก็คงเต็มแล้วครับ”
ภาพวาดด้วยสีอะคริลิกสดใส แลดูคล้ายงานบุญครั้งใหญ่ที่คลาคล่ำไปด้วยพุทธศาสนิกชนเดินทางเข้ามาร่วมใจกัน มีทั้งคนดัง เศรษฐีไฮโซใส่สูท คุณตาคุณยายนุ่งขาวห่มขาว พระภิกษุสงฆ์ บัณฑิตในชุดครุย ผู้สูงอายุถือไม้เท้าไม่ก็นั่งรถวีลแชร์ เด็กน้อยจูงมือแม่ คู่บ่าวสาว กลุ่มวัยรุ่น ชาวต่างชาติ ยันพ่อค้าขายล็อตเตอรีหน้าวัด
นอกจากนี้ยังสีสันอื่นๆ บางคนไม่อยากลงภาพตัวเอง แต่ส่งภาพรถเก๋ง รถบิ๊กไบค์ รถทัวร์ รถตู้คู่ใจมาแทน บ้างไม่อยากยืนเฉยๆ ขอโพสต์ท่าเท้าสะเอว โบกไม้โบกมือ พนมมือไหว้พระ แม้กระทั่งยกมือถือถ่ายเซลฟีก็มีให้เห็นเช่นกัน
ทุกตัวตน ทุกอิริยาบถ ล้วนสมจริงสมจัง เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา
ประไพ สุดสังข์ ชาวจ.ปทุมธานี เล่าว่าใส่ภาพครอบครัวลงไปบนผนังอุโบสถ “เพื่อเตือนใจตัวเองให้มาทำบุญบ่อยๆค่ะ” สุรสิทธิ์ คงยิ่ง คุณพ่อลูกสอง บอกขณะชี้ไม้ไปยังพื้นที่ที่จองไว้ ก่อนบอกว่า “อยากอยู่ใกล้พระพุทธไสยยาสน์ ดูแล้วรู้สึกว่าเป็นมุมที่สวยดี”
ขณะที่ ลุงสุข ชาวจ.อ่างทอง ยืนลังเลอยู่ว่าจะใส่ภาพตัวเองลงไปด้วยดีหรือไม่ ให้ความเห็นว่า “ดีนะครับ เข้าท่าเลย วาดรูปติดผนังโบสถ์มันดูสร้างสรรค์กว่าใส่แค่ชื่อนามสกุลเหมือนที่เคยทำกันมา ตัวตายไปแต่ภาพวาดเราก็ยังอยู่ให้ลูกให้หลานมันได้มาดูบ้าง”แกว่า
“ความภาคภูมิใจของผมอยู่ตรงนี้แหละครับ ตรงการได้เห็นประชาชนมายืนแหงนคอมองหาภาพเหมือนตัวเอง แล้วยิ้ม หัวเราะ หลายคนเข้ามาชื่นชม ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก มันรู้สึกอิ่มใจ ภาพเหล่านี้มันจะติดอยู่บนผนังโบสถ์แห่งนี้ไปอีกนานนับร้อยปี แม้วันที่เขาไม่อยู่แล้ว แต่ลูกหลานรุ่นหลังก็จะยังได้เห็นว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายเขาเคยมีส่วนร่วมทำบุญบริจาคเงินสร้างพระอุโบสถแห่งนี้ขึ้นมา”หัวหน้าคณะวาดรูป ยิ้มกว้าง
ใครยังไม่เห็นไอเดียแปลกแหวกแนวแบบนี้ ลองแวะไปดูด้วยตาตัวเองได้ที่วัดขุนอินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง แล้วจะรู้ว่าไอเดียไม่ธรรมดาเลยจริงๆ