คุณตาวัย 86 สุดยอดนักวิ่งมาราธอน

25 ตุลาคม 2557

ถ้าจะบอกว่าเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษก็ไม่ผิดนัก!ในบั้นปลายของคนวัย 86

เรื่อง... ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

ภาพ... กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

ถ้าจะบอกว่าเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษก็ไม่ผิดนัก!ในบั้นปลายของคนวัย 86 แค่ได้มีชีวิตที่แข็งแรง อยู่กับลูกกับหลานก็สุดยอดแล้ว แต่คุณตาท่านนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่

เชื่อหรือไม่เมื่อปีที่แล้วนี้เอง คุณตาวิ่งมาราธอนด้วยระยะทาง 42 กม. แบบชิลๆ

ลึกไปกว่านั้น เขาเป็นคนไทยคนแรกที่อายุมากสุด ทำสถิติ วิ่งมาราธอนจนครบแล้ว 100 รายการ นับตั้งแต่ที่วิ่งมา เกือบ 40 ปี

ทุกวันนี้เขาใช้ชีวิตอยู่กับการออกกำลังกายร่วม 3 ชั่วโมง ทั้งวิ่ง ขี่จักรยาน แอโรบิก ว่ายน้ำ เพื่อปรับสภาพร่างกายให้ฟิตเปรี๊ยะ เตรียมเข้าสู่การวิ่งมาราธอนอีกครั้งในปีหน้าและตั้งเป้าจะวิ่งจนอายุถึง 100 ปี

อุดม มาศพงศ์  เป็นคนสุราษฎร์ธานีรู้จักในหมู่นักวิ่ง มานาน เคยเป็นเลขาธิการสมาพันธ์ชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพ ไทยคนแรก เมื่อ 10 ปีก่อน ปัจจุบันเป็นประธานชมรมเดินวิ่ง เพื่อสุขภาพ จ.ชัยนาทที่ผ่านมาคุณตาอุดมเคยออกทีวี หลายช่อง ในฐานะผู้สูงอายุที่วิ่งมาราธอนมากที่สุดของประเทศ

อาชีพดั้งเดิมเป็นเจ้าพนักงานที่ดินหลายจังหวัด เริ่มวิ่งมาราธอนครั้งแรกช่วงอายุ 40  ปีกว่าๆ  ขณะรับราชการอยู่กรมที่ดิน

 

คุณตาวัย 86 สุดยอดนักวิ่งมาราธอน

คุณตา เล่าว่า ด้วยหน้าที่ การงานขณะนั้นต้องออกสำรวจตามป่าเพื่อออกโฉนด หลายครั้งต้องซดเหล้า กับชาวเขาและลูกน้อง กระทั่งดื่มหนัก ร่างกายย่ำแย่ถึงขั้นอาเจียนเป็น เลือดเพื่อนที่เป็นศาสตราจารย์อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ให้ไปฉายเอกซเรย์แล้ววินิจฉัยว่า ต้องผ่าตัดด่วนหลังจาก

ร่างกายพักฟื้น หมอแนะนำห้ามดื่มเหล้า ต้องกิน อาหารให้ถูกต้อง และขอให้วิ่งออกกำลังกายนับตั้งแต่นั้นมาก็วิ่งตลอดจนกระทั่งบัดนี้ผ่านมา 40 กว่าปีแล้ว

คุณตาอุดม  เล่าว่า ตอนออกกำลังกายช่วงแรก เล่นกอล์ฟ แบดมินตัน ต้องเข้าก๊วนเสียค่าธรรมเนียม จึงเริ่มเปลี่ยนหันมาปั่นจักรยานและลองวิ่ง ตอนแรก วิ่งไม่ค่อยได้  แต่เมื่อได้วิ่งบ่อยๆ ก็เริ่มสนุก เริ่มต้นจาก 1-2 กม.ก่อน จากนั้นไม่ถึงปีขยับมาเป็นมินิมาราธอน 10 กม. วิ่งไปได้ 10-20 ครั้ง  ก็กระโดดมาวิ่งฮาฟมาราธอน  21 กม. ประมาณ 50 ครั้ง  จากนั้นก็กระโจนมาเป็นมาราธอน 42 กม. โดยวิ่งมาราธอนครั้งแรกในงานเปิดสะพานพระราม 9 กรุงเทพ ปี 2530

"ตอนนั้นอายุจะ 50  ปีแล้ว มันเหนื่อยจัดไม่ไหวแล้ว แต่เพื่อนก็มาชวนวิ่งอีกก็เลยกัดฟันสู้  คิดว่าตายเป็นตาย สุดท้ายก็ผ่านไปได้"

"ลุงบอกเมียทุกครั้งที่วิ่งมาราธอนจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาไว้ เพราะกลัวเมียเป็นม่าย .ถ้าพี่วิ่งมาราธอนตาย เธอก็ไว้ทุกข์ให้พี่ 7 วัน แล้วก็มีผัวใหม่ไปได้เลย" คุณตา ย้อนความหลังด้วยเสียงหัวเราะพลางว่าจากนั้นมาก็ไม่เคยตาย เพราะเรามีวินัยในการฝึก วิ่งทั้งเช้าและเย็นตลอดมา

แรงขับก่อนเข้าสู่การวิ่งมาราธอนโหด  42 กม. คุณตา มนุษย์เหล็ก เล่าว่า ไม่มีอะไรมาก ถ้าเราเริ่มจากมินิมาราธอนก่อน มันก็เหมือนกับชั้นประถม เมื่อเรียนจบทุกคนก็อยากขึ้น ชั้นมัธยม คือ ฮาฟมาราธอน 22 กม. และถ้าให้ครบสูตร ก็ต้องจบปริญญาตรี คือ มาราธอน 42 กม.

"พอเราวิ่งมาราธอนได้แล้ว ทุกอย่างเราจะไม่กลัว อย่าง เมื่อก่อนคนที่ไม่กล้าวิ่งมาราธอนเพราะความกลัว คือกลัว ตัวเลข 42 กม. เราจะวิ่งได้หรือ พอเรามีคำว่า 'ไม่ไหว' ร่างกายก็โดนเบรกแล้ว เราต้องทำให้ หัวใจ สมอง ไม่รับฟัง สิ่งเหล่านี้ เราท่องคำว่า 'สู้ๆ ไม่ถอย' ชาติเสือต้องไว้ลาย" ลุงอุดมเล่าด้วยสีหน้าเบิกบาน

จนถึงวันนี้กว่า 40 ปีที่วิ่งมาราธอน เข้าเส้นชัยทุกรายการทั้งกรุงเทพมาราธอน ภูเก็ต มาราธอน พัทยามาราธอนจอมบึงมาราธอน ขอนแก่นมาราธอน เชียงใหม่มาราธอน สุราษฎร์ธานีมาราธอน ที่ไหน เมืองไหนมีจัดมาราธอนคุณตาไปหมดยังเคยไปวิ่งปีนังมาราธอน หนองคาย-เวียงจันทน์มาราธอนแต่ที่โหดสุด คือ ภูเก็ต และ แม่ฮ่องสอนมาราธอนเพราะวิ่งลงขึ้นเนินตลอด

"วิ่งมาราธอนไปได้ 80 ครั้ง เพื่อนก็ชวนไปวิ่งอัลตร้ามาราธอน คือ 60 กม. ที่ จ.กาญจนบุรี ก็วิ่งได้อีก  และตอนหลัง ก็อัลตร้ามาราธอนพิเศษ 100 กม. ก็ไปวิ่งอีก ครั้งนั้นคิดโอ้ย สงสัยตายแน่เลย เที่ยวนี้เมียได้ผัวใหม่แน่เลย พอไปวิ่งก็ วิ่งได้อีก"

อะไรเป็นเคล็ดลับระหว่างวิ่ง? "ลุงใช้ศาสนาพุทธท่อง พุทโธๆ แล้วก็นึกถึงในหลวง พระองค์ทรงสอนว่าสู้ไม่ถอย มุ่งไปข้างหน้าให้เจอเส้นชัยให้ได้ ไม่มีทางย้อนกลับ"

--

เคล็ดลับความสำเร็จ

การออกกำลังกายในแต่ละวัน - ไม่ต่ำกว่าวันละ 3 ชั่วโมง

ตอนเช้าตื่นตั้งแต่ตี4 – ตี 5 เริ่มปั่นจักรยานไปสนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วิ่งรอบสนามกีฬาอย่างน้อย 10 กม.

ตอนเที่ยงพักผ่อน และตอนบ่าย ปั่นจักรยาน 1 ชั่วโมง ในเมืองและรอบตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาตอนเย็นมา

เต้นแอโรบิกอีกหนึ่งชั่วโมง ที่ศาลากลางจังหวัดมีคนเป็นร้อย ลุงวิ่งทุกวันไม่มีหยุด เพราะเป็นข้าราชการบำนาญ  เราว่าง และตอนกลางวันจะพยายามไม่นอน  จะนอนตอน 3 ทุ่ม

สุขภาพ - เช็กโรงพยาบาลล่าสุด ไม่มีโรคอะไร ความดันปกติ

การกิน - โดยมากควรกินข้าวให้น้อย เริ่มจากเมนูตอนเช้ากินอาหารให้หนักเพราะมันเอาไปเลี้ยงร่างกาย ตอนเที่ยงกินให้พอสมควร แต่ตอนเย็นควรกินให้น้อยที่สุด แต่ทุกมื้อก็ควรมีผักผลไม้ ตอนเช้าลุงดื่มกาแฟ 1 แก้ว ไม่ใส่นม ไม่ใส่น้ำตาล กับไข่ลวก บางทีก็ปาท่องโก๋คู่นึง หรือซาลาเปาอันนี้เป็น เบรกฟาสต์ย่อยๆ พอวิ่งตอนเช้าเสร็จ ก็กินข้าวให้หนักเลย เช่น ข้าวราดแกง 1-2 จานอัดเข้าไป ตอนเที่ยง ก็กินก๋วยเตี๋ยวหรือข้าว ส่วนตอนเย็นกินผลไม้ ผัก ข้าวเล็กน้อย  ที่ไม่กินข้าวมากเพราะข้าวเป็นน้ำตาลถ้ากินมากจะเป็นเบาหวาน  ตอนเย็นแค่กินให้พออยู่ได้ เพราะร่างกายจะพักผ่อนแล้ว

โดยมากคนทั่วไปคิดว่า ถ้ากินข้าวแล้วต้องนั่งเก้าอี้แล้วดูทีวี อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ถ้ากินแล้วต้องเดินช้าๆ ให้น้ำย่อยทำหน้าที่เพื่อย่อยอาหารให้หมด แล้วการกินผักผลไม้เพราะมันมีกาก เมื่อกินเท่าไร ก็ให้ถ่ายให้หมด  บางทีกินแต่ไม่ถ่าย  เพราะไม่ได้กินผักผลไม้ ลุงกินฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วยหอม โดยเฉพาะถ้ากินกล้วยน้ำว้าได้ยิ่งดี เพราะช่วยขับถ่ายดี   กินข้าวต้องกินช้าๆ เพราะปากต้องบดอาหารให้ละเอียด จะได้ช่วยย่อย มิฉะนั้น เครื่องย่อยในร่างกายจะทำงานหนัก บางคนรีบกินไม่รู้จะรีบไปไหน

สำหรับคนฝึกวิ่งใหม่ๆ - ตอนแรกจะวิ่งแล้วท้อทุกคนแต่ขอให้อดทน รองเท้าที่ใส่ต้องเป็นรองเท้านักวิ่ง อย่าเอารองเท้าตีแบต เทนนิสมาใส่ มันคนละประเภท วิ่งใหม่ๆ อาจซื้อถูกหน่อย แต่ถ้าเป็นนักวิ่งอาชีพรองเท้าต้องดีเบาเพราะวิ่งยาว เสื้อมาราธอนต้องเป็นเสื้อกล้าม อย่าใช้เสื้อ มีแขนเพราะมันรุงรัง การวิ่งอย่าเพิ่งโลภ ต้องเริ่มต้นจากระยะทางน้อยๆ ก่อนวันละ 1-2  รอบ เพิ่มทีละกิโลเมตร แต่ต้องปรับระยะทางให้ชินต่อความอดทน 

ตอนวิ่งจะมีเสียงเรียกร้องจากในสมองว่า  “ไม่เอาแล้วนะ” เพราะความขี้เกียจ   บางทีลุงไปชวนคนวิ่ง เขาก็บอกว่า ไม่มีเวลา ทั้งที่ทุกคนมีเวลากันอยู่แล้ว ออกกำลังกายให้ตัวะเองวันละ 1-2 ชั่วโมงจะไม่มีเชียวเหรอ ทีชวนดื่มเหล้าไปทันที


นักวิ่งมาราธอน ต้องไม่ขี้เกียจ ถ้าบอกว่า ไม่เอาแล้วนะ คำนี้มองจะสั่งการทันที แต่บางคนเขาวิ่งไม่หยุด จะหยุดที่ กม. 30 ภาษานักมาราธอนเขาเรียกว่า ชนกำแพง คือ ใครที่ซ้อม ไม่ถึงจะได้แค่นี้ หยุดอยู่กับที่เหมือน ธรณีสูบ ฉะนั้น การวิ่งมาราธอน ต้องวิ่งให้ทะลุทะลวง ถ้าคนไม่ประมาท ต้องพกยา เคาน์เตอร์เพน ถ้าเราเป็นตะคริวตะได้ช่วยตัวเองได้

Thailand Web Stat