ไทยแลนด์แหล่งเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
การรักษาทางการแพทย์ในประเทศไทยได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติ เนื่องจากการรักษาที่ราคาไม่แพงในสายตาต่างชาติและมีคุณภาพสูง ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนเดินทางเข้ามารักษาที่ประเทศไทย หรือที่เรียกว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
การรักษาทางการแพทย์ในประเทศไทยได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติ เนื่องจากการรักษาที่ราคาไม่แพงในสายตาต่างชาติและมีคุณภาพสูง ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนเดินทางเข้ามารักษาที่ประเทศไทย หรือที่เรียกว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
อย่างไรก็ตาม การรักษาทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาตินี้ สร้างความหวาดกลัวแก่การเกิดและขยายตัวของการค้าอวัยวะในตลาดมืด ที่คนไข้มารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้จากการซื้ออวัยวะของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งการซื้อขายดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายในประเทศไทย
เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อ 2 ปีก่อน เด็กหนุ่มชาวกัมพูชาวัย 18 ปี ได้ขายไตให้กับเศรษฐีชาวกัมพูชารายหนึ่ง โดยเด็กหนุ่มเดินทางเข้ามาผ่าตัดที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านและเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
รายงานระบุว่าเด็กหนุ่มได้ขายไตในราคา 3,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 9.7 หมื่นบาท) โดยก่อนหน้านี้เพื่อนบ้านได้โน้มน้าวเด็กหนุ่มวัย 18 ปี พร้อมกับพี่น้องให้ขายไตให้กับเศรษฐีชาวกัมพูชาเพื่อปลดภาระหนี้สิน
แม้ว่าคดีของเด็กหนุ่มจะนำไปสู่การจับกุมนายหน้า 2 คน แต่ยังคงมีความหวาดกลัวว่าคดีดังกล่าวจะไม่ใช่คดีสุดท้าย
เจ้าหน้าที่ตำรวจของกัมพูชา ระบุว่า การค้าไตไม่เหมือนกับอาชญากรรมอื่นๆ ถ้าหากผู้เสียหายไม่แจ้งออกมาทางตำรวจก็ไม่มีวันรู้ได้เลยว่ามีการค้าผิดกฎหมายเกิดขึ้น
รายงานขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิ้ลยูเอชโอ) ระบุว่า การปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่า 1 หมื่นราย หรือ 10% ของการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งหมดมาจากการค้าอวัยวะ
จากข้อมูลของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ระบุว่า ในประเทศไทยแค่เพียงประเทศเดียวมีผู้ป่วยถึง 4,321 คน ที่รอการบริจาคอวัยวะ ในขณะที่การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตในปีที่แล้ว มีแค่ราวครึ่งหนึ่งของการปลูกถ่ายไตทั้งสิ้น 581 ราย ที่เหลือคือการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
การขาดแคลนการบริจาคอวัยวะ ทำให้สมาชิกแต่ละครอบครัวของผู้ป่วยกลายเป็นผู้บริจาคเสียเอง และยังสร้างความสิ้นหวังให้กับผู้ป่วยและครอบครัว จนค้นหาอวัยวะจากตลาดใต้ดินกลายเป็นแรงขับเคลื่อนความต้องการอวัยวะในตลาดมืด
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีการตรวจสอบโรงพยาบาลหลายโรงพยาบาลภายในกรุงเทพมหานคร รวมถึงการเน้นไปที่การพิสูจน์เอกสารของผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้รับบริจาคว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ เช่นเดียวกับในหลายๆ ประเทศที่การค้าอวัยวะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยเมื่อเดือน เม.ย. ทางสภากาชาดไทยได้ออกโครงการนำร่องให้โรงพยาบาลต้องมีรายละเอียดของผู้บริจาคอวัยวะที่ยังมีชีวิตอยู่
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาไทย กล่าวกับทางเอเอฟพี ว่า ได้ขอให้ทางโรงพยาบาลเข้มงวดในการตรวจสอบเอกสาร รวมถึงทางแพทยสภาเองก็ทบทวนกฎระเบียบของการปลูกถ่ายอวัยวะเช่นกัน