posttoday

สังคมกังขา...รถนำขบวน(เถื่อน)?

10 พฤศจิกายน 2557

ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการขออนุญาตรถตำรวจวิ่งนำขบวน

เรื่อง...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์

เสียงบีบแตรไล่หลัง พร้อมแสงไฟวูบวาบของไซเรนฉุกเฉินจากมอเตอร์ไซค์เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ขี่นำขบวน ทำให้รถคันหน้าต้องรีบหลบโดยอัตโนมัติ เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าขบวนรถดังกล่าวเป็นผู้นำประเทศ บุคคลระดับวีไอพี หรือใครกันแน่

คำถามเกิดขึ้นตามมาว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ารถนำขบวนที่เห็นมีการขออนุญาตรถเจ้าหน้าที่มาอารักขานำขบวนนั้นถูกต้องตามกฎหมาย

เปิดโปงธุรกิจเถื่อน

กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างอื้อฉาว กรณีที่โลกออนไลน์ได้เผยแพร่เรื่องราวของเว็บไซต์ที่ให้บริการรถนำขบวน พร้อมมีการโฆษณาว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอารักขาคุ้มกันความปลอดภัยแก่บรรดาลูกค้าวีไอพีชาวต่างชาติ

จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์พบว่า เว็บไซต์ดังกล่าว เน้นให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติมีฐานะที่ต้องการความปลอดภัยและความสะดวกสบายเป็นพิเศษ

โดยมีแพคเกจหลายรูปแบบ ตั้งแต่รถกันกระสุนพร้อมโชเฟอร์ทักษะชั้นยอด สนนราคา แบ่งเป็น รถเมอร์ซีเดส เบนซ์ เอสคลาส ราคา 5 พันบาทต่อชั่วโมง เมอร์ซีเดส เบนซ์ วีโต้ 6.5 พันบาทต่อชั่วโมง โตโยต้า แคมรี่ 3.5 พันบาทต่อชั่วโมง หรือบอดี้การ์ดคุ้มกันอารักขา สนนราคา 3.1 หมื่นบาท/นาย / 12 ชั่วโมง บางเว็บไซต์ประกาศอย่างโจ่งแจ้ง พร้อมเบอร์โทรศัพท์ว่าให้บริการรถนำขบวน มอเตอร์ไซด์ตำรวจนำขบวน สำหรับรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกการจราจร และในพิธีต่างๆ

ขณะที่เว็บไซต์อีกแห่งหนึ่งชูแพคเกจบริการที่ใช้ตำรวจมาขับรถนำขบวน สนนราคา 2.9 หมื่นบาทต่อวัน ถึงขั้นโปรยข้อความโฆษณาอย่างสวยหรูว่า "ท่านจะได้ความเพลิดเพลินจากการเดินทางอย่างที่ไม่เคยพบมาในชีวิต มีเจ้าหน้าที่ตำรวจให้การดูแลท่านตามความต้องการของท่าน ปกป้องท่าน และไล่รถคันอื่นให้ออกไปจากเส้นทางของท่าน"

แม้จากการตรวจสอบพบว่า ทุกเว็บไซต์ที่ให้บริการล้วนแต่ใช้ภาพนิ่ง และคลิปวิดีโอจากต่างประเทศมาใช้ในการโฆษณาทั้งสิ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นดังกล่าวได้สร้างข้อกังขาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรับการว่าจ้างให้บริการนำขบวนรถเป็นการส่วนตัวได้ด้วยหรือ

สังคมกังขา...รถนำขบวน(เถื่อน)? ภาพหน้าเว็บไซต์ที่โฆษณาให้บริการรถนำขบวนโดยเจ้าหน้าที่

ผิดกฎหมาย100%

พ.ต.อ.สมชาย เกาสำราญ  รักษาการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เผยว่า ได้ยินมานานว่ามีบริษัททั้งของคนไทยและต่างชาติเปิดให้บริการรถนำขบวน ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐานเพื่อดำเนินการจับกุม เพราะถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย

“เคยมีชาวต่างชาติคุยให้ฟังว่า พอลงจากเครื่องบินปุ๊บ ก็จะมีรถตำรวจนำขบวนที่ว่าจ้างไว้มารอรับเลย ต้องขอตอบว่าไม่ใช่เรื่องของราชการ ผิดกฏหมายแน่นอน ตำรวจจะอ้างว่ารับจ๊อบในวันหยุด หรือนอกเวลาราชการก็ถือว่าผิด แม้แต่เอารถไปติดสัญญานไฟเองก็ไม่ได้

ที่ผ่านมายังไม่เคยเจอตำรวจรับจ้างในลักษณะนี้  ถ้าหากเจอจริงๆ ก็ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาของเขา แต่ผมเชื่อว่าไม่มีผู้บังคับบัญชาที่ไหนยอมให้ลูกน้องไปทำแบบนี้หรอก”

พ.ต.อ.สมชาย เชื่อว่า น่าจะเป็นประชาชนทั่วไปทำกันเองมากกว่า

“ในกรณีที่ต้องนำขบวนจริงๆ จะมีเพียงตำรวจจราจรกลาง ตำรวจทางหลวง และตำรวจกองปราบเท่านั้นที่ทำได้ นอกเหนือจากนั้นต้องถูกเรียกตรวจอยู่แล้ว รวมถึงการนำรถขององค์กรกุศลอื่นๆ มาใช้นำขบวนก็ไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์ของการใช้รถฉุกเฉินบอกไว้ชัดเจนว่า เพื่อการกู้ภัย ไม่ใช่เพื่อการนำขบวน  การนำขบวนไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน จะใช้ก็ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น”

สังคมกังขา...รถนำขบวน(เถื่อน)? รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม

ไขข้อข้องใจการขออนุญาตรถนำขบวน

ท่ามกลางความสับสนว่าขบวนรถที่เห็นเป็นขบวนรถเถื่อนติดตั้งสัญญาณไฟโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นตำรวจปลอมหรือเปล่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าขบวนรถนั้นมีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย

รักษาการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า สังคมไทยสับสนเรื่องการใช้สัญญาณไฟฉุกเฉินมานาน ส่งผลให้สัญลักษณ์ดังกล่าวถูกลดความสำคัญลงเรื่อยๆ  นั่นจึงเป็นช่องทางให้คนจำนวนหนึ่งแอบอ้างนำไปใช้อย่างผิดๆ หรือเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนแอบอ้างรับจ้างรถนำขบวน

ถึงเวลาแล้วที่ให้ความรู้ระเบียบการใช้สัญญานไฟในสังคมเสียใหม่

“หลักการใช้รถนำขบวนก็เพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่เพื่อความรวดเร็ว กฏระเบียบมีอยู่แล้วว่าถึงแม้มีการนำขบวน รถก็ต้องใช้ความเร็วตามที่กฏหมายกำหนด เพราะถ้านำแล้ววิ่งเร็วก็อันตรายอยู่ดี ต้องทำตามสัญญาณไฟจราจร ยกเว้นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ปกติรถที่ให้ใช้สัญญาณไฟวับวาบได้ จะเป็นกรณีของรถฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งตามพรบ.จราจรกำหนดไว้ว่า รถที่ใช้ในราชการทหาร ตำรวจเท่านั้นที่ใช้สัญญาณไฟสีแดงได้ รถพยาบาลตามกฏหมายให้ใช้ไฟสีน้ำเงิน ส่วนรถฉุกเฉินประเภทอื่น ๆ เช่น มูลนิธิกู้ภัยให้ใช้ไฟสีเหลืองเท่านั้น  พร้อมทั้งห้ามใช้เสียงไซเรนด้วย

ทั้งนี้ ตามหนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร.0205/ว189 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการขอใช้รถวิทยุตำรวจนำขบวนของบุคคลสำคัญ นอกจากขบวนเสด็จพระราชดำเนิน และขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีรถตำรวจนำขบวนตามปกติประเพณีแล้ว บุคคลอื่นๆที่สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้เป็นประจำ หรือเป็นครั้งๆไปตามหลักเกณฑ์ มีดังนี้

1.การใช้รถตำรวจทางหลวงนำขบวนเป็นประจำโดยปกติ (ภารกิจปกติที่ต้องจัดรถนำขบวนโดยมิต้องร้องขอ) ได้แก่

-ประธานองคมนตรีรัฐบุรุษ

-นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา รอง ประธานศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองสูงสุด

-สมเด็จพระสังฆราช

-รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้นำฝ่านค้านในสภา ผู้แทนราษฎร และประธานกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

-ผู้เคยตำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2.การใช้รถตำรวจนำขบวนที่จะต้องได้รับอนุญาตใช้เป็นครั้งๆไป (กรณีที่จะต้องร้องขอ สั่งการ และต้องอนุญาตตามระเบียบ) ได้แก่

-ผู้แทนพระองค์พระราชอาคันตุกะ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ องคมนตรี ผู้นำทางศาสนาอื่น สมเด็จพระราชาคณะ 

-ขบวนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดทางราชการ ที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจสำคัญที่เกรงว่าจะไม่ทันเวลา เช่น ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นต้น

-ขบวนที่ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ตำรวจนำขบวนเพื่อความปลอดภัย เช่น รถนักเรียน ขบวนรถเดินทางไปประกอบศาสนกิจ หรือขบวนที่มีรถหลายคัน เป็นต้น

กรณีบุคคลทั่วไปมีหลักเกณฑ์ในการขอใช้รถตำรวจนำขบวน ดังนี้

-เส้นทางเป็นอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง หรือเส้นทางเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 

-จำนวนรถในขบวน เช่น รถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 8 คัน รถยนต์เก๋ง จำนวน10 คัน และรถเก๋งและรถยต์โดยสารไม่ประจำทางรวมกัน10 คนขึ้นไป เป็นต้น

พ.ต.อ.สมชาย กล่าวว่า กรณีการร้องขอเป็นครั้งๆ ไปนั้น ถึงแม้จะมีจำนวนรถที่เข้าเกณฑ์การขอรถนำขบวนได้ แต่หากพิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสมก็จะไม่ได้รับอนุญาต และโดยทั่วไป การร้องขอจะได้คำตอบรับไม่เกิน 7 วัน

"รถนำขบวนคณะทัศนศึกษา หรือไปทอดกฐิน ผ้าป่า ตอนนี้มีขอเข้ามาเยอะมากเป็นพันขบวน แต่ผมจะเน้นเฉพาะที่เด็กเล็กๆมากกว่า แต่ทั้งนี้ ถ้ารถที่ตำรวจนำขบวนไปแล้ว เปิดเพลงเสียงดัง ร้องรำทำเพลงเหมือนเธค ทำผิดกฏหมาย เราก็จะแจ้งคนในรถและขอหยุดการนำขบวนทันที” 

การขออนุญาตใช้รถตำรวจนำขบวนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด มิใช่ให้ใครก็ได้ใช้สิทธิพิเศษเพื่อความสะดวกสบายส่วนตัว เพราะนอกจากจะส่งผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว อาจสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาประชาชนได้

ภาพประกอบบางส่วนจาก http://pantip.com/topic/31159549