posttoday

เจ้าจอมปรางและเจ้าจอมยวน ในพระเจ้าตากสิน

07 ธันวาคม 2557

ตระกูล ณ นคร แม้จะเป็นตระกูลสามัญที่มีชื่อเสียงในทางภาคใต้ของไทยมาเป็นเวลาช้านาน

ตระกูล ณ นคร แม้จะเป็นตระกูลสามัญที่มีชื่อเสียงในทางภาคใต้ของไทยมาเป็นเวลาช้านาน แต่ก็มีความเชื่อในทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นตระกูลที่ได้ประกอบคุณงามความดีให้กับชาติบ้านเมืองมามากมายเช่นเดียวกัน

เหตุที่กล่าวกันว่า ตระกูล ณ นคร เป็นเชื้อสายของพระเจ้าตากสิน เพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 ก๊กที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ภายหลังที่กรุงศรีอยุธยาแตก เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ยอมสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ แล้วตามเสด็จเข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณที่กรุงธนบุรี และได้ถวายธิดา 3 องค์ ให้เป็นบาทบริจาริกาสนองพระเดชพระคุณเป็นข้าราชบริพารฝ่ายในของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คือ

1.เจ้าหญิงฉิม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็น กรมบริจาภักดีศรีสุดารัตน์

2.เจ้าหญิงจวน หรือยวน

3.เจ้าหญิงปราง

ด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมที่ทรงมีต่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเป็นเมืองประเทศราช มีเจ้านครปกครองอย่างเป็นอิสระ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ให้มีอิสริยยศเป็น “พระเจ้าขัตติยราชนิคมสมมติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา” และโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิทธิพิเศษด้วยการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) มีละครหญิงในราชสำนักของตนเองได้ ซึ่งไม่เคยมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าเมืองประเทศราชใดมีละครหญิงเลย

นอกจากนี้ ยังโปรดให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช “...มีอำนาจตั้งพระยาอัครมหาเสนาและจตุสดมภ์ สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชได้คล้ายกับกรุงธนบุรี ให้พระเจ้าขัณฑสีมาบำรุงฝ่ายในให้สรรพไปด้วยสุรางค์นางปรางค์ปราสาทราช เรือนหลวงน้อยใหญ่ในนอกพระนครขอบขัณฑสีมา จงพิจิตรรจนาไปด้วยโยธาข้าทหาร ให้เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีในพิภพแผ่นดินในเมืองนครศรีธรรมราชสืบไป...”

ในครั้งนั้นละครหญิงของเจ้าพระยานครศรีธรรมราชมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ทำให้ทุกครั้งที่กรุงธนบุรีมีพระราชพิธีคราวใด จึงมักจะโปรดให้เรียกคณะละครจากนครศรีธรรมราชเข้าไปเล่นประชันกับละครหลวงในกรุงธนบุรีเสมอ

ว่ากันว่าเมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราชนั้น เจ้าพระยาพิชัยราชาเป็นทหารเอกผู้หนึ่งได้ตามไปร่วมงานด้วย เวลานั้นเจ้าหญิงปราง พระธิดาองค์เล็กของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ยังเป็นสาวแรกรุ่นมีสิริโฉมงดงามเป็นที่ถูกตาต้องใจของเจ้าพระยาพิชัยราชาเป็นอันมาก เมื่อเสร็จศึกสงคราม เจ้าพระยานครศรีธรรมราชยอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้ถวายพระธิดาให้เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระราชวังหลวงกรุงธนบุรี เจ้าพระยาพิชัยราชาเข้าใจว่าเจ้าพระยานครศรีธรรมราชถวายเจ้าหญิงฉิมเพียงองค์เดียว ส่วนเจ้าหญิงปรางนั้นเพียงแต่ตามไปอยู่กับพี่สาวในราชสำนักกรุงธนบุรีเท่านั้น ด้วยใจเสน่หา เจ้าพระยาพิชัยราชาซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในภายหลังให้เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลกผู้สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก จึงได้แต่งผู้เฒ่าเข้าไปขอเจ้าหญิงปราง น้องสาวเจ้าจอมฉิม เจ้าจอมเอกของพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ในพระราชวังหลวง เพื่อจะเอาไปเลี้ยงเป็นภรรยา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ทรงพระพิโรธมาก มีดำรัสว่า “มันทำบังอาจจะมาเป็นคู่เขยน้อยเขยใหญ่กับกูผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน” จึงดำรัสสั่งให้เอาตัวเจ้าพระยาพิชัยราชาไปประหารชีวิตเสีย อย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างสืบไปในภายหน้า

แต่จะอย่างไรก็ตาม หลังจากได้ประหารชีวิตเจ้าพระยาพิชัยราชาแล้ว ไม่นานนักเจ้าพระยานคร (พัฒน์) อุปราชเมืองนครศรีธรรมราช ผู้ซึ่งเคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณตามเสด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปในราชการสงคราม รบชนะศึกมาหลายครั้ง เป็นที่โปรดปรานไว้วางพระราชหฤทัยได้เข้ามาถวายข้อราชการในกรุงธนบุรี เมื่อทรงทราบว่าเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็นม่าย เพราะเจ้าหญิงนวลภรรยาซึ่งเป็นพระธิดาคนโตของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเจ้าหญิงปราง น้องนุชสุดท้องของเจ้าจอมมารดาฉิมให้ไปเป็นภรรยาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) แม้จะมีท้าวนางฝ่ายในทูลเตือนแล้วว่า เจ้าหญิงปรางนั้นขาดระดูอยู่ แต่พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ดำรัสว่า “ได้ออกปากให้เขาแล้วก็พาไปเถิด”

แม้เจ้าพระยานคร (พัฒน์) จะได้ล่วงรู้ความลับนั้นอยู่ แต่ด้วยเกรงในพระราชอำนาจและพระบารมีแห่งพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงต้องรับเจ้าหญิงปรางไว้เป็นท่านผู้หญิงอย่างแม่เมือง ได้รับการยกย่องอย่างสูง จนประสูติพระราชบุตร มีพระนามว่าเจ้าน้อย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เจ้าน้อยเมืองนครคือโอรสลับในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับเจ้าพระยานคร (น้อย) ว่า

“...เจ้าพระยานครผู้นี้มีอำนาจวาสนามากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน เป็นเรื่องที่เขาเล่ากระซิบกันเป็นการเปิดเผย เพราะพวกบุตรหลานเจ้ากรุงธนบุรีก็นับถือว่าเป็นพี่น้อง เหตุฉะนั้นจึงนับเกี่ยวข้องกันเป็นเชื้อวงศ์เจ้ากรุงธนบุรีกับนครศรีธรรมราช...”

เจ้าน้อยราชบุตรของเจ้าหญิงปรางนั้นได้รับการชูชุบอุปถัมภ์เป็นอย่างดียิ่งจากเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เมื่อเจ้าน้อยเจริญวัยขึ้นในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ได้นำเจ้าน้อยถวายตัวเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ จนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี 2354 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าน้อยให้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช สืบแทนเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เจ้าพระยานคร (น้อย) จึงได้รับสมญาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “เจ้าน้อยคืนเมือง” ซึ่งหมายถึงเจ้าน้อยได้กลับไปปกครองเมืองนครศรีธรรมราชสืบต่อไป ทั้งได้นำเอาพระมารดาที่ได้จากเมืองนครศรีธรรมราชมานานกลับไปอยู่ด้วย เจ้าพระยานครน้อยได้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชด้วยความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว จนได้รับพระราชทานความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานอำนาจให้ปกครองดูแลหัวเมืองภาคใต้ทั้งหมด ตลอดไปถึงเมืองไทรบุรี ตรังกานุ และเประ บุตรหลานผู้สืบสกุลจากเจ้าพระยานคร (น้อย) จึงได้รับพระราชทานนามสกุลในเวลาต่อมาว่า ณ นคร รวมทั้งผู้ที่สืบสายสกุลเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) และเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ว่า ณ นคร และยังมีผู้สืบสกุลจากเจ้าพระยานคร (น้อย) แยกไปขอรับพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า โกมารกุล ณ นคร และนามสกุล จาตุรงคกุล จึงนับได้ว่าบรรดาผู้ที่สืบเชื้อสายเจ้าพระยานครน้อยที่ใช้นามสกุล ณ นคร และนามสกุล โกมารกุล ณ นคร และ จาตุรงคกุล ต่างก็ล้วนแต่เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและเจ้าหญิงปรางทั้งสิ้น

เรื่องเชื้อสายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น มีเรื่องที่น่ารู้อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในปลายแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเวียงจันทน์จนได้พระแก้วมรกตและพระบางกลับมานั้น เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) เจ้าเมืองโคราช ได้ไปร่วมรบด้วย ระหว่างนั้นภรรยาของเจ้าพระยานครราชสีมาถึงแก่กรรม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระทัยเมตตาสงสาร จึงพระราชทานพระสนมไปให้เป็นภรรยา คือเจ้าจอมยวน ซึ่งเฉกเช่นเดียวกันกับเจ้าจอมปราง โดยเจ้าจอมยวนมีครรภ์ติดไปด้วย เจ้าจอมยวนไปอยู่โคราชไม่นานก็คลอดบุตรเป็นชาย ได้ชื่อว่า ทองอินทร์ ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 นายทองอินทร์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยากำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมา คนทั้งหลายต่างก็รู้ว่าเป็นโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพระยากำแหงสงครามมีบุตรหลายคน ต่างก็แยกย้ายไปใช้นามสกุลหลากหลายสกุล เช่น อินทรกำแหง มหาณรงค์ อินทโสนัส เมหะรุจิ ชูกฤส และคชวงค์ ต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9) บรรดาผู้สืบสกุลทั้ง 6 สกุลข้างต้นนี้ ได้ขอพระราชทานนามสกุลใหม่ใช้ร่วมกันว่า ณ ราชสีมา ซึ่งก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
ตามที่ขอ

ผู้สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเจ้าจอมปรางและเจ้าจอมยวน จึงมีความเป็นมาดังนี้