เปิดใจนร.ราชสีมาวิทยาลัยสอบติดแพทย์
เปิดใจ นักเรียน ร.ร.ราชสีมาวิทยาลัย สอบติดแพทย์ ฝากรุ่นน้องหากมีความตั้งใจจริงไม่มีอะไรยากเกิน
เปิดใจ นักเรียน ร.ร.ราชสีมาวิทยาลัย สอบติดแพทย์ ฝากรุ่นน้องหากมีความตั้งใจจริงไม่มีอะไรยากเกิน
หลังปรากฏข่าวเรียกเสียงชื่นชมจากสังคม จากกรณีนักเรียนชั้นระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย สามารถสอบผ่านเข้าเรียนต่อในคณะแพทย์ศาสตร์ได้มากถึง 41 คน จากนักเรียนระดับชั้น ม.6 ของโรงเรียนจำนวน 600 คน แยกเป็น แพทย์ศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 17 คน หลักสูตรแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จำนวน 19คน และคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 5 คน โดยทั้งหมดเป็นการสอบในระบบรับตรง
ฐานันดร ฤทธิ์สนธิ์ หรือ กีตาร์ อายุ 17 ปี เด็กนักเรียนห้องพิเศษ ชั้น ม.6 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย หนึ่งในนักเรียนที่สอบได้โควต้าคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับเทคนิคการเรียน เมื่ออาจารย์สอนในห้องเรียน ต้องเก็บเกี่ยวความรู้อย่างเต็มที่ หลังจากนั้นหากมีการบ้านก็ต้องพยายามทำให้เสร็จทุกครั้ง เพื่อเป็นการทบทวนวิชาที่อาจารย์สอนในห้องอีก ซึ่งการทำการบ้านนี้จะช่วยตอกย้ำให้มีความเข้าใจในรายวิชามากขึ้น
"การที่เลือกสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์นั้น เพราะได้ไปเห็นในโรงพยาบาลหลายแห่ง ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก แต่ละวันจะมีผู้ป่วยนอนรอแพทย์รักษาอยู่ยาวเหยียด จึงคิดว่าหากเราจะมีโอกาสเข้าไปช่วยเติมเต็มในจุดนี้ ก็จะสามารถช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยได้มาก ส่วนเรื่องการสอบแพทย์ที่เด็กๆ ส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นเรื่องยาก และเด็กนักเรียนหลายๆ คนอาจจะคิดว่าการไปเรียนพิเศษข้างนอกจะช่วยได้มากนั้น ผมยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง เพราะผมก็ไปเรียนพิเศษเหมือนกัน แต่ในข้อเท็จจริงกลับได้ความรู้จากห้องเรียนในโรงเรียนปกติมากกว่า เพราะเขามีการปูพื้นฐานจนเราสามารถนำมาต่อยอดความรู้ และสามารถทำข้อสอบได้ในครั้งนี้"ฐานันดรกล่าว
นักเรียนม.6รายนี้กล่าวอีกว่า อยากฝากถึงน้องๆ ที่ต้องการประสบความสำเร็จในเรื่องการเรียนว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนมาก และไม่ต้องใช้เวลาอ่านหนังสือหนักเกินไป เพียงแต่รู้จักจัดระเบียบวินัยระหว่างการเรียนกับการใช้ชีวิตส่วนตัว ให้มีความสมดุล และหมั่นทบทวนความรู้ด้วยการทำการบ้านส่งอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน
ด้าน ขจรวิทย์ สายวงษ์ หรือ เหนาะ อายุ 18 ปี นักเรียนห้องพิเศษชั้น ม.6 ซึ่งสอบได้โควตาคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก เพราะพ่อกับแม่ตั้งความหวังว่าอยากจะให้เป็นแพทย์ในอนาคต ซึ่งขณะนี้ก็เข้าใกล้ความจริงแล้ว ส่วนที่เลือกเข้าคณะแพทย์ศาสตร์นั้น เพราะตั้งใจอยากจะช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งนี้สำหรับเทคนิคพิเศษต่างๆ นั้น เคยเรียนกับครูสอนพิเศษข้างนอกบ้าง แต่ไม่ได้นำมาใช้นัก เพราะท้ายที่สุดก็ได้ความรู้จากห้องเรียนปกติมากกว่า และคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร หากมีความตั้งใจที่จะเป็นแพทย์อย่างชัดเจนอยู่ในใจ
ขณะที่ ณัฐชนินส์ ปิตตานัง หรือ ต้นกล้า อายุ 17 ปี นักเรียนห้องพิเศษชั้น ม.6 ซึ่งสอบได้โควตาคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นก็รู้สึกกังวลใจ เพราะการสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อทำได้แล้ว ก็รู้สึกดีใจ ส่วนเทคนิคการเรียนจะแบ่งเวลาเป็น 3 ส่วน คือ การเรียน การพักผ่อน และการใช้ชีวิตกับครอบครัว ซึ่งจะต้องจัดสรรเวลาให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดเกินไป
"หลังจากนี้ก็จะตั้งใจเรียนให้จบคณะแพทย์ศาสตร์ เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณะสุข สุดท้ายอยากให้น้องๆ รุ่นใหม่ ทดลองตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนไว้ก่อน เพราะจะทำให้เราไม่ท้อเมื่อเจออุปสรรคต่างๆ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ หากเรามีความตั้งใจจริง"ณัฐชนินส์ กล่าว
มาณพ วงษ์คำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายห้องเรียนพิเศษ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย มีการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะห้องเรียนพิเศษ ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ห้อง คือห้องวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และอังกฤษ ที่ได้ปูพื้นฐานมาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว ซึ่งห้องพิเศษเหล่านี้มีความสำคัญต่อการสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์มาก ดังนั้นในช่วงนี้เป็นการสอบชิงโควตา จึงทำให้มีนักเรียนสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ได้มากถึง 41 คน และคาดว่าในช่วงสอบ GAT, PAT จะมีนักเรียนสอบได้คณะแพทย์ศาสตร์อีกไม่ต่ำกว่า 60 คน
ด้าน บุญเลิศ พ่วงเพ็ชร ผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบัน โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย มีนักเรียนตั้งแต่ละดับ ม.1 – ม.6 ทั้งหมดจำนวนกว่า 4,000 คน และจากการที่ได้มีห้องพิเศษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และอังกฤษ ตั้งแต่ระดับ ม.ต้น เมื่อเข้าสู่ ม.ปลาย ตั้งแต่ระดับ ม. 4 – ม.6 เราก็ได้ต่อยอดโดยการส่งนักเรียนไปเรียนด้านวิทยาศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. ซึ่งเป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือชื่อย่อโครงการ วมว. ที่ผ่านมาเรามีห้องเรียนพิเศษนี้ 1 ห้อง โดยมีนักเรียนห้องละ 30 คน เรียนสัปดาห์ละ3 วัน จันทร์-พุธ อีกส่วนก็เรียนอยู่ในห้องพิเศษในโรงเรียนปกติ ทำให้ได้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา มีนักเรียนสอบชิงโควตาได้คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยชื่อดังมากถึง 41 คน และปีหน้าจะเพิ่มห้องเรียนพิเศษ วมว. เป็น 2 ห้อง เพื่อรองรับนักเรียนจำนวน 60 คน