posttoday

คุก (ไม่) ลับ

18 ธันวาคม 2557

ไทยเคยมีประสบการณ์ที่ขมขื่นกับอเมริกามาแล้ว บทความนี้มีวัตถุประสงค์ให้ระวัง “เพื่อนเรา เผาเรือน”

โดย...ภุมรัตน  ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ประเทศไทยเพิ่งเจอหางเลขจากรายงานของคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภา ที่เปิดเผยว่า ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ซีไอเอใช้เป็นสถานที่คุมขังและซักถามทรมานผู้ก่อการร้ายกลุ่มอัลกออิดะห์ที่จับได้  นอกเหนือจากปากีสถานและประเทศอื่นๆ “คุกลับ” ในไทยเป็นหัวข้อข่าวเด่นในสัปดาห์ก่อน ทำให้คนไทยเริ่มเสียวๆ เพราะมีเสียงเตือนว่า กลุ่มก่อการร้ายอาจหาทาง “เอาคืน” ประเทศไทยที่ร่วมมือกับอเมริกา  

พอต้นสัปดาห์นี้ ก็มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับการก่อการร้ายในหลายประเทศ เริ่มต้นของสัปดาห์เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ธ.ค. เมื่อชาวอิหร่านอพยพคนหนึ่งบุกเข้าไปในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จับคนในร้านเป็นตัวประกันเป็นเวลา 16 ชั่วโมง ก่อนที่หน่วยคอมมานโดบุกเข้าไปยิงคนร้ายตาย แต่ตัวประกันก็ตายไป 2 คน เรื่องนี้ทั้งที่นายผู้ก่อการร้ายคนนี้ซึ่งเคยมีคดีอาญาติดตัวหลายคดี แต่ตำรวจไม่เคยระแวงว่านายคนนี้จะก่อการร้าย จึงไม่ใส่ไว้ในบัญชีเฝ้าดู จนเกิดเรื่องใหญ่ขึ้น 

พอวันอังคารที่ 16 ธ.ค. ผู้ก่อการร้าย 5-6 คนจากกลุ่มตาลีบันสาขาปากีสถาน ได้บุกเข้าไปในโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ที่เมืองเปซชาวา ทางตอนเหนือของปากีสถาน ใกล้พรมแดนอัฟกานิสถาน สังหารนักเรียนและครูเสียชีวิตไปกว่า 126 คน บาดเจ็บอีกมาก โดยอ้างว่าเพื่อตอบโต้กับการที่กองทัพส่งทหารไปปราบปรามกลุ่มตาลีบัน จนทำให้พวกเขาตายและบาดเจ็บไปมากมาย ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เหี้ยมโหดมากที่ผู้ก่อการร้ายกระทำต่อนักเรียนผู้บริสุทธิ์

ที่ต้องโยงไปยังเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในนครซิดนีย์  ออสเตรเลีย และปากีสถาน ก็เพราะว่าสองประเทศนี้เป็น “พันธมิตร”ใกล้ชิดกับอเมริกา ออสเตรเลียได้ส่งทหารไปร่วมกับอเมริกาในการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายตลอดมา เรียกว่าทำตัวซ่ามาก คงทำให้กลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงสุดโต่งหมั่นไส้มานานแล้ว เรื่องนี้หน่วยงานความมั่นคงของออสเตรเลียก็รู้ตัว ก่อนหน้านี้ไม่นาน ออสเตรเลียมีความกังวลกับคนมุสลิมจำนวนหนึ่งที่อพยพไปอยู่ในออสเตรเลียที่เข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสสู้รบในซีเรียและอิรัก โดยเกรงว่าเมื่อกลุ่มนี้กลับประเทศจะมาก่อการร้ายในประเทศ

ส่วนรัฐบาลปากีสถานนั้นได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐในการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มตาลีบันและกลุ่มอัลกออิดะห์มาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้ก่อการร้าย กลุ่มตาลีบันและอัลกออิดะห์เอามาขังและทรมานซักถามในปากีสถาน ก่อนส่งไปคุมตัวไว้ที่ค่ายกวนตานาโม ประเทศคิวบา ซึ่งถือว่าเป็นคุกใหญ่ที่สุดสำหรับขังผู้ก่อการร้ายโดยเฉพาะ

สองประเทศโดนเข้าไปแล้ว แล้วประเทศไทยล่ะ?  แม้ทางการไทยจะท่องคาถาว่า “คงจะไม่เกิดขึ้นในไทย เพราะไทยไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร” แต่คนไทยก็หายใจไม่ทั่วท้อง ผู้ก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงได้มาก่อเหตุร้ายในไทยหลายครั้งแล้ว รวมทั้งเตรียมที่จะก่อเหตุร้ายอีกหลายครั้งแต่ล้มเลิกไป เพราะเจ้าหน้าที่รู้ตัวก่อน จริงอยู่ พวกนี้ไม่ได้มุ่งกระทำต่อเป้าหมายทางการและคนไทย แต่มีผลประโยชน์ของอเมริกา อิสราเอล ออสเตรเลีย อังกฤษ ฯลฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายอยู่ในไทย   ล่าสุดผู้ก่อการร้ายมุสลิมพยายามสังหารทูตอิสราเอลในไทย แต่ไม่สำเร็จ    

ประเทศไทยมีชื่อปรากฏอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการข่าวกรอง วุฒิสภาสหรัฐ เรื่อง “การทรมานนักโทษของ ซีไอเอ” ซึ่งระบุว่า  ซีไอเอมาใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ในการกักขังและซักถามผู้ก่อการร้ายโดยใช้วิธีทรมาน พอความลับเริ่มรั่วออกไป สื่อมวลชนไทยพยายามหาว่า “คุกลับ” ที่ในรายงานใช้คำว่า “พื้นที่สีเขียว” นั้นอยู่ที่ไหน โดยมีการไปตรวจสอบที่สถานีวิทยุเสียงอเมริกา หรือวีโอเอ ที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี แต่ไม่พบ ซีไอเอจึงปิดคุกลับในไทย เราปฏิเสธว่าไม่มีคงยาก เพราะรายงานของคณะกรรมาธิการฯ และของซีไอเอคงไม่โกหก เพียงแต่ว่าไม่ใช่คุกลับใหญ่โตแบบที่กวนตานาโม อาจเป็นสถานที่เล็กๆ ซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งในช่วงนั้น อีกทั้งกรณีของ “นายฮัมบาลี” ก็เป็นผลงานจากการซักถามครั้งนั้น

ผู้เขียนเองไม่ได้ตื่นเต้นกับวิธีการที่ซีไอเอใช้ในการรีดข้อมูลจากผู้ก่อการร้ายแต่อย่างใด “การซักถาม” เป็นมาตรการหนึ่งในการหาข่าวจากผู้ถูกจับหรือเชลยศึกเจ้าหน้าที่ซักถามต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ในการซักถาม มีทั้งการปลอบโยน การข่มขู่ การใช้มาตรการทางจิตวิทยากดดัน ต้องหาจุดอ่อนของผู้ถูกซักถามให้ได้ โดยหลักการแล้วเชื่อว่า ข้อมูลที่ผู้ถูกซักให้โดยสมัครใจจะเป็นข้อมูลที่ดีที่สุด ดังนั้น ผู้ซักถามจะต้องหาทางเอาทำลายอุดมการณ์ทางการเมือง ความเชื่อทางการเมืองและทางศาสนา ฯลฯ ของอีกฝ่ายให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนระดับผู้ก่อการร้ายย่อมมีความเชื่อทางการเมืองและทางศาสนา อีกทั้งถูกฝึกมาให้ทนต่อการถูกซักถามรูปแบบต่างๆ ส่วน “การทรมาน” นั้นเป็นวิธีสุดท้าย บนความเชื่อที่ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง  ไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะทนต่อการทรมานทางร่างกายได้ ในสนามรบไม่มีคำว่าสิทธิมนุษยชน

การที่ซีไอเอใช้ประเทศอื่นเป็นที่ควบคุมตัวเพื่อเลี่ยงกฎหมายของประเทศ เพราะหากซักถามในประเทศต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่มีข้อจำกัดมากมาย   

การที่จะเอานักโทษผู้ก่อการร้ายเข้ามาในประเทศไทย ทูตอเมริกาต้องขออนุญาตจากรัฐบาลไทย เพราะนี่คืออธิปไตยของไทย บ่อยครั้งที่ซีไอเอเอาเข้ามาก่อนแล้วมาขออนุญาตในลักษณะ “แจ้งให้ทราบ” ในภายหลัง เรื่องนี้คงต้องไปถามนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ผู้นำไทยส่วนใหญ่มักจะเกรงใจอเมริกาและ “หยวนๆ” ไปเรื่อย เห็นจะมีแต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น ที่เล่นงานอเมริกาอยู่หมัดในกรณี “เรือมายาเกซ” เมื่อปี 2515 ที่สหรัฐใช้ประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการช่วยเหลือทหารอเมริกาในกัมพูชาโดยไม่บอกให้รัฐบาลไทยทราบ จนวอชิงตันต้องขอโทษขอโพยใหญ่โต

เรื่องนี้เป็นการเมืองภายในประเทศของอเมริกาที่พรรคดีโมแครตหาทางดิสเครดิตพรรครีพับลิกัน แต่เมื่อเปิดเผยออกไปแล้ว มีผลกระทบต่อมิตรประเทศ ซึ่งนักการเมืองอเมริกาไม่ค่อยสนใจนัก พวกเขาสนใจแต่ผลประโยชน์ของตนเอง ไทยเคยมีประสบการณ์ที่ขมขื่นกับอเมริกามาแล้ว บทความนี้มีวัตถุประสงค์ให้ระวัง “เพื่อนเรา เผาเรือน” เพราะอเมริกาไม่เคยจริงใจกับใคร