แฉนักเรียนเดินโพยยอมเสียตัวแลกเงินพนันบอล
นายอิสสระ สมชัย รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ฟุตบอลโลก 2010 วิกฤตหรือโอกาสของเยาวชน” ตอนหนึ่งว่า ข้อมูลจากศูนย์การเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม พม. ซึ่งร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่สำรวจปรากฏการณ์ฟุตบอลโลกปี 2006 ในพื้นที่ 75 จังหวัด พบว่ามีถึง 74.89% สนใจและติดตามการแข่งขันฟุตบอลโลก และมีการเล่นพนันถึง 80.7% การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2010 จึงมีแนวโน้มเล่นพนันมากขึ้นเช่นกัน
“ที่ผ่านมาพบเด็กที่ไปก่ออาชญากรรมจี้ ปล้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเล่นพนัน หรือบางคนถึงขั้นใช้แฟนไปใช้หนี้แก้ขัด และยิ่งเวลานี้ไม่เฉพาะบอลโลก บอลลีกจากต่างประเทศ แต่บอลลีกไทยเริ่มมีคนสนใจมากขึ้น ซึ่งก็เชื่อมโยงให้เกิดการพนันมากขึ้น” นายอิสสระ กล่าว
นายอิสสระ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีนักเรียนหญิง ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งย่านฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นอาสาสมัครศูนย์การเฝ้าระวังฯ เปิดเผยข้อมูลให้ทราบว่า ไม่เฉพาะนักเรียนชายที่เล่นพนันบอล แม้แต่นักเรียนหญิงก็เล่น และได้รับรู้เรื่องการพนันในหมู่นักเรียน ตั้งแต่สมัยอยู่มัธยมต้นก็มีการเล่นกันแล้ว แต่จะเห็นจำนวนมากในช่วงที่อยู่มัธยมปลาย ถึงขั้นมีนักเรียนเดินโพยพนันบอล รวมไปถึงโพยยาที่มีเด็กช่างกลมาส่งต่อให้กับเด็กในโรงเรียน
“ที่น่าห่วงเวลานี้แม้แต่เพื่อนหญิงร่วมชั้นเดียวกันประมาณ 34 คน มีการพูดคุยกันถึงการยอมเสียตัวเพื่อแลกเงินมาเล่นพนันบอล ซื้อของฟุ่มเฟือย ทั้งที่เพื่อนกลุ่มนี้เป็นคนเรียนดี แต่ช่วงหลังๆ ผลการเรียนแย่ลง ขาดเรียนบ่อย ขณะที่นักเรียนชาย ม.6 จากโรงเรียนเดียวกันให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีเพื่อนชั้นเดียวกันเองเป็นเด็กเดินโพย และจะกระจายบอกต่อๆ กันชักชวนให้เพื่อนเข้ามาเล่นพนันบอลตามฤดูกาลต่างๆ เฉลี่ยห้องหนึ่งมี 45 คน มีนักเรียนที่เล่นพนันถึง 12 คน
เท่าที่ทราบมีการแทงแต่ละแมตช์เป็นหลักพัน บางคนเล่นมากๆ เข้าก็ติดหนี้ไม่มีเงินจ่าย บางรายเป็นหนี้ 5,0006,000 บาท ถึงขั้นมีโต๊ะรับแทงพนันมาทวงหนี้ถึงโรงเรียน ซึ่งอาจารย์ก็รับรู้ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้” นายอิสสระ กล่าว
ทั้งนี้ การที่เยาวชนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ส่วนหนึ่งเพราะอยากตามกระแส จึงจะรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเสนอผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้ ได้กำชับให้ศูนย์การเฝ้าระวังฯ พม. ในทุกจังหวัดกว่าพันคนคอยจับตาและแจ้งเบาะแสความไม่ชอบมาพากล และประสานการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครเฝ้าระวังที่เป็นเยาวชน รวมถึงสภาเด็กและเยาวชนร่วมในการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเล่นพนัน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังขอเงินพ่อแม่ใช้
ด้านนางกีรติกา แพงลาด ผู้แทนศูนย์ประสานงานเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา (ศปค.) กล่าวว่า จากการที่ ศปค.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจ “พฤติกรรมและทัศนคติต่อการเล่นพนันฟุตบอลโลกปี 2553” ประชาชนอายุ 1260 ปี เขตกรุงเทพฯ ชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา จำนวน 2,541 ราย เมื่อวันที่ 414 พ.ค. 2553 สะท้อนว่า 87.9% เป็นห่วงเด็กเยาวชนที่เล่นพนันบอล
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตั้งใจจะติดตามข่าวสารการแข่งขันฟุตบอลโลกผ่านทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และอินเทอร์เน็ต ทำให้การเล่นพนันบอลผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีเพิ่มมากขึ้น
โดยเว็บไซต์ www.sbobetth.com นิยมเล่นมากถึง 91.7% สำหรับลักษณะการเผยแพร่ข่าวสารที่กระตุ้นให้อยากแทงบอล 61.7% เกิดจากอัตราการต่อรอง/แต้มต่อ 55.8% การวิเคราะห์เจาะลึก/ฟันธง และ 33.6% การชี้นำบอลเต็ง
“ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่านอกจากจะเล่นไม่ได้เงินแล้วยังต้องเลี้ยงข้าว เลี้ยงเหล้า เบียร์ บุหรี่ และคาราโอเกะเพื่อน ปัญหาที่เกิดจากการแทงบอล 26.6% เกิดความเครียด เสียสุขภาพจิต ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย อีก 11.0% โดนโกง/จ่ายไม่ครบ/ไม่จ่าย
เมื่อถามถึงพฤติกรรมการใช้เงิน พบว่า 5 อันดับแรก ตั้งใจจะยืมเงินเพื่อนหากไม่พอจ่ายในการแทงบอลมากถึง 43.1% รองลงมา แฟน/คนรัก 24.0% ยืมเงินผู้ปกครอง 20.2% นำทรัพย์สินไปขาย/จำนำ 9.7% และกู้เงินนอกระบบ 7.5% ที่น่าเป็นห่วงคือ 24.2% ไม่กังวลใจต่อการถูกจับดำเนินคดีจากการเล่นแทงบอล” นางกีรติกา กล่าว