posttoday

ชีวิตดั่งละคร ‘ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี’ 13 ปี ในรั้วพระราชวัง

27 ธันวาคม 2557
1.6 m

สูงสุดคืนสู่สามัญ ดูจะเป็นวลีที่เหมาะสมที่สุดหากจะขออนุญาตเอ่ยถึง ‘ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี’

ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

สูงสุดคืนสู่สามัญ ดูจะเป็นวลีที่เหมาะสมที่สุดหากจะขออนุญาตเอ่ยถึง ‘ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี’ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ตกเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในรอบปี 2557 เนื่องจาก อดีตคือพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร แต่ปัจจุบันคือสามัญชนคนเดินดิน หลังจากกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทและพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว

เรื่องของ ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี  ถือเป็นบุคคลสำคัญ ที่ถูกจับจ้องของสังคมไทย ทั้งคุณาปการที่ ‘ท่านผู้หญิง’ ที่ได้ปฏิบัติกรณียกิจไว้ขณะดำรงอิสริยยศ และสิ่งต่างๆ อีกมากมาย

เส้นทางของ ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ก่อนเดินเข้าสู่พระราชวงศ์  และกลับออกมาเป็นประชาชนสามัญธรรมดาอีกครั้ง เดิมมีเล่นว่า อี๊ด เกิดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2514 ที่จ.สมุทรสงคราม เป็นธิดาคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ของนายอภิรุจ และนางวันทนีย์ สุวะดี

ด้านการศึกษา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย (อนุกูลราษฎร์) จ.สมุทรสาคร ต่อมาสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจาก โรงเรียนกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการทั่วไป (หลักสูตร 4 ปี) เมื่อปี 2540

และได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2545 และทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาโท หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คหกรรมศาสตร์) ภาคพิเศษ สาขาวิชาการพัฒนาการครอบครัวและเด็ก คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.94


ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ เข้าถวายการรับใช้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ปี 2536 ในฐานะข้าราชการพลเรือนในพระองค์ นอกจากนี้ยังได้ถวายงานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในด้านศิลปาชีพ และได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย จากนั้นเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2544 เข้ารับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาวันที่ 6 พ.ค. 2547 เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ฝ่ายใน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้นเป็น “หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา”

ในเวลาต่อมาหลังจากมีประสูติกาลพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2548 จึงได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2548
พร้อมกับ ได้รับสถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2548 ในระหว่างดำรงฐานันดรศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานศูนย์ศิลปาชีพ 904 เป็นราชองครักษ์พิเศษ เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ และ เป็นผู้อำนวยการสำนักเวชศาสตร์ครอบครัว กรมแพทย์ทหารบก


นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งโครงการแห่งพระองค์ไว้หลายโครงการ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ ได้แก่ โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ศูนย์ศรีทวีรักสตูดิโอศุโขโยคะ ศิลปาชีพ 904 เฮาส์โชว์ เป็นต้น

นี่คือเส้นทางของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ที่ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุด  ก่อนที่วันที่ 11 ธ.ค.2557   จะเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต คล้อยหลังวันคล้ายวันเกิดเพียง 2 วันของท่านผู้หญิง ก็มีพระราชกิจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 29  เผยแพร่เรื่องลาออกจากฐานันดรศักดิ์ สิ้นสุดการเข้าสู่พระราชวงศ์ของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ และพ้นจากวังศุโขทัย หลังจากจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2544

การกลับสู่สามัญครั้งนี้ตอกย้ำในเรื่องเครือญาติของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ที่ถูกดำเนินคดีอาญาหลายกระทง ไล่เรียงจากคดีทุจริตของพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่มีศักดิ์เป็น “อา” ของท่านผู้หญิง ก่อนจะนำไปสู่การขยายผลจับกุมเครือญาติของท่านผู้หญิงอีกมากมายในนามสกุล “อัครพงษ์ปรีชา” ที่เป็นนามสกุลพระราชทานตามความผิดอาญากระทำผิดฐานแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงหาประโยชน์เข้าใส่ตนเอง และคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว


จากการจับกุมเครือข่ายแอบอ้างสถาบันครั้งนั้นเอง ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับคดีอาญาทุจริตเรียกรับประโยชน์หลายพันล้าน รวมถึงตัวผู้ต้องหาที่กระทำผิด เพราะหลายคนทราบดีว่าผู้ที่ถูกจับกุมไปนั้นเกี่ยวพันกับเครือญาติท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์โดยตรง

อย่างไรก็ตาม หลังจากลาออกจากฐานันดรศํกดิ์แล้ว ท่านผู้หญิงศรีรัศดิ์ ก็เลือกจะเดินทางไปทำบัตรประชาชนใหม่ทันที โดยใช้คำว่านางสาวนำหน้านามศรีรัศมิ์ และเลือกที่จะไปพักอยู่และขออยู่อย่างสงบที่บ้าน “สุวะดี” ตั้งอยู่เลขที่ 149 หมู่ 6 บ้านวัดเพลง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นบ้านของนายภิรุจและนางวันทนีย์ สุวะดี ผู้เป็นบิดาและมารดา

ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ เลือกที่จะเก็บตัวเงียบอยู่ภายในบ้างพัก โดยบริเวณด้านหน้าบ้านพักมีการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ขณะที่กองทัพสื่อมวลชนทุกแขนงได้ปักหลักทำข่าวความเคลื่อนไหวของท่านผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งวันที่ 17 ธ.ค.2557 มีจดหมายน้อยออกมาจากบ้านพัก เขียนด้วยลายมือของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ใจความว่า “เราขอขอบพระคุณผู้สื่อข่าวทุกท่าน ที่ให้ความเป็นห่วงเป็นใย คอยติดตามมาเสมอ เราขอความกรุณาผู้สื่อข่าวทุกท่านด้วย ช่วงนี้เราขออยู่ปฏิบัติธรรมเงียบๆในบ้านหลังนี้ พร้อมครอบครัวด้วยความสงบค่ะ” ลงชื่อ ศรีรัศมิ์ 17 ธ.ค.57 เป็นข้อความบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ของท่านผู้หญิง พร้อมขอร้องกับสื่อมวลชนให้หยุดรบกวน

การเดินทางที่แสนยาวไกลของ ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ที่เดิมจากสามัญชนสู่ชั้นฟ้าดวงดาว แต่ทุกวันนี้ก็กลับมาเป็นคนธรรมดาสามัญดังเช่นเคย   กระนั้นก็ตาม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  ได้พระราชทานเงินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อพระราชทานให้ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ใช้ในการดำรงชีพและดูแลครอบครัว

จะด้วยเหตุผลหรือข่าวลือมากมายที่สะพัดในสังคมเกี่ยวกับ ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์   แต่เชื่อได้ว่าสิ่งที่ท่านผู้หญิงได้เคยปฏิบัติกรณียกิจไว้ขณะดำรงอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารก็ยังคงสร้างคุณูปการหลายอย่างให้กับประเทศชาติ