posttoday

การมาถึงของโฮโลแกรมรุ่นที่สอง : ภาพ 3 มิติ...เทรนด์สำคัญของยุคนี้

04 มกราคม 2558

โฮโลแกรมกำลังจะทำให้คนทั้งโลกตื่นตะลึงอีกครั้ง ความก้าวหน้าของเลเซอร์และนาโนเทคโนโลยี

โฮโลแกรมกำลังจะทำให้คนทั้งโลกตื่นตะลึงอีกครั้ง ความก้าวหน้าของเลเซอร์และนาโนเทคโนโลยี จะช่วยผลักดันให้บริษัทคอมพิวเตอร์หลายๆ แห่งแข่งขันกันอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้เป็นเจ้าของโทรทัศน์และโทรศัพท์โฮโลแกรมรายแรกในท้องตลาด

ราชาเพลงป๊อป ไมเคิล แจ็กสัน ปรากฏตัวพร้อมท่าเต้นมูนวอล์กบนเวทีประกาศผลรางวัลบิลบอร์ดมิวสิก อวอร์ดในปี 2014 นี่คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเขาไม่ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน ภาพโฮโลแกรมที่เคลื่อนไหวได้ เต้นแทนตัวจริงได้อย่างน่าอัศจรรย์

เทคโนโลยีนี้ยังถูกใช้กับคนที่ยังมีชีวิตได้ด้วยผู้บุกเบิกรายแรกๆ เห็นจะเป็น นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดีย ที่ใช้ภาพโฮโลแกรมในการปราศรัยต่อหน้าผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 100 ล้านคนพร้อมกันในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เทคโนโลยีโฮโลแกรมก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งในรูปแบบของโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือ

วิญญาณของเปปเปอร์

หลักการของโฮโลแกรมถูกคิดค้นขึ้นในปี 1947 โดย เดนนิส กาบอร์ วิศวกรไฟฟ้าชาวอังกฤษ-ฮังกาเรียน ในตอนนั้นเขาคิดว่าคลื่นแสงจะเดินทางทะลุผ่านรูปภาพและเปลี่ยนทิศทางก่อนที่จะปรากฏเป็นภาพนั้นอีกครั้งลอยอยู่กลางอากาศ จนกระทั่งในปี 1962 เมื่อเทคโนโลยีเลเซอร์ได้รับการพัฒนามาถึงจุดหนึ่ง กาบอร์จึงทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงขึ้นด้วยการสร้างภาพโฮโลแกรมจากเลเซอร์เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นเทคโนโลยีดังกล่าวก็เป็นที่รู้จักไปทั่ว

ผู้คนต่างแห่กันไปดูนิทรรศการที่มีการแสดงผลงาน 3 มิติ ซึ่งมองเห็นได้จากทุกทิศทาง ความนิยมในเทคโนโลยีโฮโลแกรมพุ่งขึ้นถึงขีดสุดอีกครั้ง เมื่อตัวละครอย่างเจ้าหญิงเลอา และโอบีวัน เคโนบี ปรากฏตัวในรูปแบบของโฮโลแกรมพูดได้ในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ทว่าในความเป็นจริง การใช้งานโฮโลแกรมกลับเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก นับจนถึงตอนนี้เทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการเก็บบันทึกและเข้ารหัสข้อมูลสำคัญๆ เป็นส่วนใหญ่

ดูเหมือนว่าโฮโลแกรมกำลังจะคืนชีพอีกครั้งในรูปแบบที่ต่างกันออกไป อย่างในกรณีของไมเคิล แจ็กสัน และนเรนทรา โมดี ภาพลวงตาที่ปรากฏออกมาก็ยังคงใช้หลักการเดิมโดย จอห์น เฮนรี เปปเปอร์ นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษที่คิดค้นไว้ตั้งแต่ปี 1860 ซึ่งวิธีการนี้รู้จักกันในชื่อ “วิญญาณของเปปเปอร์” (Pepper’s Ghost) ซึ่งเป็นการฉายภาพสะท้อนของนักแสดงที่ซ่อนตัวอยู่บริเวณคอกสำหรับวงออร์เคสตร้าบริเวณด้านหน้าเวทีให้ลอยขึ้นมาบนเวที บริษัท มิวชันส์ (Musion’s)

ในประเทศอังกฤษได้ปรับปรุงวิธีการนี้ให้ทันสมัยขึ้นอีกขั้น อาทิ การบันทึกท่าทางของนเรนทรา โมดี ด้วยกล้องความละเอียดสูง การปราศรัยของเขาถูกการถ่ายทอดไปยังเวทีหาเสียงในที่ต่างๆ โดยการฉายภาพไปยังกระจกที่วางอยู่บนพื้นเวที ก่อนสะท้อนไปยังแผ่นฟอยล์โปร่งใสที่บางเพียง 0.1 มิลลิเมตร ซึ่งทำมุม 45 องศากับพื้นเวทีให้ปรากฏเป็นภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ ลึกเข้าไปในฉาก ดังนั้นในขณะที่โมดีกำลังกล่าวคำปราศรัย เขาจะสังเกตปฏิกิริยาของผู้ฟังได้จากหน้าจอโทรทัศน์ ภายในห้องอัด และโต้ตอบกลับไปได้ทันทีเมื่อมีการปรบมือหรือส่งเสียงโห่ร้อง ที่ทำให้ตัวตน 3 มิติของเขาดูมีชีวิตจริงๆ

คืนชีพให้นักร้องดัง

นักร้องที่เสียชีวิตแล้วกลับมาแสดงโชว์อีกครั้งได้ด้วยวิธีนี้เช่นเดียวกัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2012 เมื่อทูพัก ชาคัวร์ แร็ปเปอร์ชื่อดังกลับขึ้นมาบนเวทีอีกครั้งในรูปแบบของโฮโลแกรม ในงานเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นในสหรัฐอเมริกาหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว

Thailand Web Stat