ถอดรหัส "โค้งร้อยศพรัชดาฯ" อุบัติเหตุแก้ไขได้ไม่ต้องพึ่งไสยศาสตร์
ไขปริศนาอุบัติเหตุโค้งร้อยศพ หน้าศาลอาญารัชดาฯ อันมีเหตุจาก "ความเร็ว" และ "สภาพถนน" ที่แก้ไขได้โดยไม่ต้องพึ่งไสยศาสตร์
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล
"โค้งร้อยศพ" บริเวณหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
แต่แทนที่ทุกคนจะสืบสาวหาต้นตอว่ามาจากความประมาทของผู้ขับขี่ ประสิทธิภาพของตัวรถ หรือความบกพร่องในการออกแบบถนน กลับไปโทษว่าเป็นอาถรรพ์ลี้ลับของเจ้าที่เจ้าทาง วิญญาณเฮี้ยน เอาผ้าแพรห้าสี เอาม้าลายมาเซ่นไหว้กันอย่างหน้ามืดตามัว
ท้ายที่สุดปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขกลับยืดเยื้อเรื้อรังไม่จบสิ้น
น.พ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุบนท้องถนน กล่าวว่า ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เรามักสรุปสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุว่าเป็นเรื่องของความประมาท ทั้งที่ควรวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ทั้งคน รถ และถนน
"ในต่างประเทศแค่ศพที่หนึ่งศพที่สอง เขาก็หาสาเหตุหาแนวทางแก้ไขกันแล้ว แต่ประเทศไทยต้องรอถึงร้อยศพ เพราะเราชอบมองข้ามการลงไปสืบสวนหาสาเหตุในเชิงลึก เลือกที่จะจบแค่ไกล่เกลี่ยยอมความ นี่คือรากของปัญหาที่แท้จริง สำนวนคดีอุบัติเหตุมากกว่า 90 % ชี้ว่าเป็นการขับรถโดยประมาท แต่ในทางหลักวิชาการเราพบว่าปัจจัยด้านถนนเข้ามาส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุถึง 28 %"
นพ.ธนะพงศ์มองว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนโค้งร้อยศพ หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกคือ การขับรถเร็วเกินกว่าที่ถนนออกแบบไว้
"สิ่งสำคัญต้องมองว่าฟังก์ชั่นของถนนเส้นนี้คืออะไร เช่น ฟังก์ชั่นเป็นถนนในเขตเมือง หรือถนนไฮเวย์ ซึ่งการกำหนดฟังก์ชั่นว่าถนนถูกออกแบบมาเพื่ออะไรจะเป็นตัวกำหนดความเร็วของถนนด้วย เช่น ถ้าเป็นถนนไฮเวย์ก็จะใช้ความเร็วได้มากกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป แต่ถ้าเป็นถนนในเขตเมือง ความเร็วก็จะลดลงมา ซึ่งถนนรัชดาภิเษกหน้าศาลอาญาถูกกำหนดมาให้เป็นถนนในเขตเมือง เพราะฉะนั้นดีไซน์การออกแบบถนนจึงรองรับความเร็วเพียงแค่ 50-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ไม่มีการยกโค้ง หรือทำถนนให้ลาดเอียงเพื่อไม่ให้หลุดโค้งเหมือนถนนไฮเวย์ ยกตัวอย่าง
บริเวณทางโค้งจากถนนมอเตอร์เวย์เข้าสนามบินสุวรรณภูมิ จะสังเกตได้ว่าพื้นถนนลาดเอียงตรงช่วงโค้ง เนื่องจากฟังก์ชั่นถนนออกแบบมาให้รถสามารถใช้ความเร็วสูง
สำหรับถนนรัชดาภิเษก พอใช้งานจริงกลับไม่ใช่ เพราะเวลากลางคืน ถนนโล่ง แถมยังกว้างตั้ง 4 เลน ทำให้หลายคนใช้ความเร็วเกินกำหนด เมื่อถนนไม่มีการยกโค้งก็อาจหลุดโค้งไปชนต้นไม้ ชนเกาะกลางถนนจนบาดเจ็บและเสียชีวิต ที่ผ่านมาพบว่าเกิดอุบัติเหตุในตอนกลางคืนเยอะ ประกอบกับคนเมาแล้วขับด้วย เพราะถนนเส้นนี้เชื่อมต่อกับย่านสถานบันเทิง หลายกรณีจึงมีเรื่องเมาแล้วขับเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง มันไม่ใช่เรื่องไสยศาสตร์ แต่เป็นเรื่องการออกแบบถนนและการกำหนดฟังก์ชั่นที่ไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง"
ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหุตบนท้องถนนรายนี้ แนะนำว่า ทางออกของปัญหาต้องแก้ที่การจำกัดความเร็ว และวิธีที่ได้ผลที่สุดคือใช้หลักทางด้านวิศวกรรมจราจร
1.ใช้ป้ายเตือน สัญญาณไฟกะพริบเตือนเป็นตัวกำหนดความเร็ว เช่น "ลดความเร็ว""ระวังทางโค้ง" "เขตชุมชนโปรดลดความเร็ว" หรือ "ห้ามใช้ความเร็วเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง" เป็นต้น
2.การเตือนเป็นการตัวอักษร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่ายลงบนพื้นถนน หรือเรียกว่า “มาร์กกิ้ง”
3.การเตือนด้วยลูกระนาด (Rumble Strip ) เป็นเครื่องหมายจราจรบนผิวทางที่มีลักษณะเป็นเส้นหลายๆเส้นเพื่อให้ขับรถให้ช้าลง เมื่อผ่านเส้นชะลอความเร็วรถจะเกิดอาการสั่นสะเทือน ทำให้ผู้ขับขี่ตื่นตัวและเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ
4.บีบถนนให้แคบลง ด้วยการตีเส้นช่องทาง หรือขีดเส้นเป็นสัญลักษณ์เตือนให้ลดความเร็วที่มองเห็นได้ง่าย เรียกว่า Optical speed bar หรือเครื่องหมายที่ติดตั้งบนไหล่ทางที่เรียกว่า Shoulder Rumble Strip คล้ายที่สะพานข้ามห้าแยกลาดพร้าว ทำให้คนขับรถรู้สึกว่าถนนแคบลง และจะลดความเร็วลงโดยอัตโนมัติ
5.เพ้นท์สีทึบลงบนพื้นถนนตรงช่วงโค้งเพื่อให้ยึดเกาะถนนได้ดี ทั้งยังมีส่วนช่วยให้รถชลอความเร็วลงด้วย
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ว่าหลังจากมีการปรับปรุงถนนให้มีความรับโค้งมากขึ้น ตั้งแต่ติดป้ายเตือน สัญญาณไฟกะพริบ รวมไปถึงลูกระนาดชะลอความเร็ว อัตราการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณโค้งร้อยศพ หน้าศาลอาญารัชดาภิเษกลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการสืบค้นหาสาเหตุเชิงลึก แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขตามหลักวิชาการด้านวิศวกรรมจราจร มิใช่เรื่องลี้ลับอาถรรพ์ ผีหลอกวิญญาณหลอนแต่อย่างใด