posttoday

"ม้าลายริมถนน" ความเชื่อ-เครื่องเตือนใจอุบัติเหตุ

12 มกราคม 2558

ที่มาที่ไปของ "ม้าลายริมถนน" กับเสียงจากผู้คนที่มองว่าส่งผลด้านจิตใจ รวมถึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงปัญหาบนถนน

โดย…นรินทร์ ใจหวัง

ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วว่า เมื่อมีศาลเจ้าที่ ศาลตายาย หรือมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงไหน เราจะได้เห็นรูปปั้นม้าลาย มาปรากฏกายอยู่บริเวณนั้นๆ ยิ่งผู้คนเชื่อว่ามีความขลังเท่าไหร่ ก็ทำให้จำนวนรูปปั้นม้าลายเพิ่มจำนวนขึ้นตามไปด้วย ทั้งขนาดเล็กจิ๋ว ขนาดกลางๆ ไปจนสูงใหญ่เท่าตัวจริง

ทำไมต้องม้าลาย

เชื่อว่า คำถามที่ว่า ทำไมต้องนำม้าลายมาวางยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คงเป็นคำถามที่หลายคน กังขาอยู่ไม่น้อย ความเชื่อที่พูดกันปากต่อปากบอกที่มาที่ไปไว้แตกต่างหลากหลาย อาทิ เจ้าพ่อเจ้าแม่ ณ สถานที่นั้นชอบม้าลายเป็นพิเศษ ถ้ากล่าวบนบานด้วยม้าลาย จะมีผลสำเร็จที่มากกว่า บ้างก็ว่าม้าลายอาจจะเกิดจากความเข้าใจผิดจากคำว่ามาลัยก็มี ขณะที่อีกความเชื่อ บอกว่า หากบนด้วยม้าลาย จะทำให้แคล้วคลาด ปลอดภัยจากการขับรถ เพราะม้าลายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัยบนท้องถนน

หมอเพียร สัมพันธมาส พราหมณ์ชื่อดัง ให้ความเห็นว่า การตั้งศาลตามพื้นที่สำคัญต่างๆ จะเป็นความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ แต่การนำม้าลายมาตั้งวางกลับไม่ได้อยู่ในคัมภีร์ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งพราหมณ์เพียรเชื่อว่าการกระทำในลักษณะนี้ น่าจะมาจากความเชื่อส่วนบุคคลล้วนๆ และเมื่อมีม้าลายคู่แรก ก็เริ่มมีม้าลายคู่2 คู่3 ตามมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นธรรมเนียมไป

“มันเป็นความเชื่อส่วนบุคคล พอคนหนึ่งทำ เห็นมีม้าลายคู่แรก คู่ที่สอง สามก็ตามมา ส่วนที่จะเชื่อว่านำบนด้วยม้าลายแล้วจะแคล้วคลาดนั้น แต่ถ้าเรายังขับรบรถด้วยความประมาท ไม่ว่าจะบนด้วยอะไรก็ไม่ช่วยให้รอดจากอุบัติเหตุได้ อย่างปากซอยหน้าบ้านผม ก็มีศาลที่คนเอาม้าลายมาไหว้กันเยอะแยะมากกมาย แต่อุบัติเหตุ รถชนคนตายก็ยังมีให้เห็นอยู่ เกือบทุกวัน”พราหมณ์เพียรกล่าว

เสียงจากคนเชื่อ "ยิ่งเยอะยิ่งดี ยิ่งใหญ่ยิ่งเฮง"

จันทิมา สามงามยา ศิษย์เก่ามหาวิยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าว่า เคยบนบานกับศาลเพื่อขอให้สอบติดโดยบนว่าจะนำยีราฟมาถวาย ขณะที่แม่ของเธอก็บนในที่เดียวกันเพื่อช่วยให้เห็นผลสัมฤทธิ์มากขึ้น โดยบนว่าจะนำมาม้าลายมาถวายต่างหาก ซึ่งตรงนี้เองทำให้ เธอมีกำลังใจในการสอบมากขึ้น และสุดท้ายก็สอบติด

“ตอนที่สอบติดก็ไปหาซื้อ ยีราฟกับม้าลายตามร้านขายของตกแต่งสวนแถวนนทบุรี ไม่ไกลกับมหาวิทยาลัยมากนัก ตอนนั้นก็บนเป็นยีราฟขนาดธรรมดา เพราะเราก็มีความมั่นใจแล้วว่าอ่านหนังสือมาดี ก็บนแบบไม่พิเศษอะไรมาก แต่แม่บนด้วยม้าลายตัวใหญ่หน่อย เพราะอยากให้ลูกสอบได้มากๆ ซึ่งเราคิดว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสบายใจมากขึ้น แต่ที่มากกว่านั้น เราต้องเตรียมตัวเองให้ดีที่สุดมากกว่า”หญิงสาวเล่าประสบการณ์

ด้าน วันเฉลิม โพธิ์นอก เจ้าของกิจการโรงงานผลิตรูปปูนปั้นม้าลายเจ้าใหญ่ในพื้นที่นนทบุรี ให้ข้อมูลว่า ในเดือนๆ หนึ่งทางโรงงานจะขายปูนปั้นรูปม้าลายได้หลายร้อยตัว โดยเฉพาะไซส์เล็กๆ ตั้งแต่ 12 ซม.และ 20 ซม.จะขายง่ายและขายดีที่สุด คือ เดือนละประมาณ 2-3 ร้อยตัว ขณะที่ขนาดอื่นๆ ก็มีคนสั่งซื้อเยอะเช่นกัน ซึ่งที่ร้านเคยผลิตตัวใหญ่ที่สุดตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งคือ 3 เมตร เพื่อนำไปแก้บน

ถึงแม้จะมีการสั่งทำรูปปั้นสัตว์อื่นๆ ด้วย แต่ม้าลายก็ถือเป็นสัตว์ยอดนิยมอันดับหนึ่งตลอดกาล รองลงมาถึงจะเป็นรูปปั้น ช้าง ม้าทรง เพื่อแก้บนศาลหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิทั่วไป ไก่ทอง ไก่เงิน ไก่ชน ใช้แก้บนศาลสมเด็จพระนเรศวร รูปปั้นเสือ ใช้แก้บนศาลเจ้าพ่อเสือ ในที่ต่างๆ ส่วน ยีราฟ และนก เป็นปูนปั้นลำดับรองลงมาที่คนมักจะนำไปแก้บน ในสถานการศึกษาเนื่องจากบนบาน ให้ลูกหลานสอบติด หรือเรียนจบสูงๆ เหมือนลักษณะ ของคอยีราฟ และลักษณะการบินของนก นั่นเองและหนู จะนำไปแก้บนกับพิฆเนศ เป็นต้น

“เท่าที่ผมเคยคุยกับลูกค้า ที่มาสั่งรูปปั้นม้าลายขนาดใหญ่ เขาจะเล่าว่า ขนาดของรูปปั้นนั้น จะแล้วแต่การประสบความสำเร็จของแต่ละคน เช่นบางคนได้ผลตอบแทนมากก็พยายามแก้บนให้มากที่สุด หรือบางคนอาจจะบนล็อกสเป็กไว้เลยว่าจะให้เท่านี้ ที่ผมเคยทำใหญ่สุดก็ 3เมตร มันแล้วแต่ร้านด้วย ถ้าร้านไหนมารถเครน เขาอาจจะทำได้ตัวใหญ่กว่านั้น ยกตัวอย่างศาล ตายาย ที่เมืองทองธานี ที่ผมเคยคุยกับลูกค้า เขาจะมาบนกันในเรื่องขอให้ประสบความสำเร็จเรื่องหน้าที่การงาน”เจ้าของร้านหนุ่มกล่าว

"ศาลม้าลาย" เครื่องเตือนใจอุบัติเหตุ

ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน มองว่า การมีศาลม้าลายอยู่ตามถนนหนทางต่างๆ หากเครื่องเซ่นไหว้ อุปกรณ์การแก้บนไม่ได้เกะกะบริเวณพื้นผิวถนนหรือล้ำพื้นที่ทางเท้า จนทำให้คนที่เดินสัญจรไปมา ต้องลงมาเดินบนถนนแทน ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่ออุบัติเหตุโดยตรงมากนัก

ในทางกลับกันหากมอง ถึงข้อดีของศาลลักษณะนี้ จะเห็นว่า นอกจากจะเป็นเครื่องเตือนใจให้คนขับรถตื่นตัวกับบริเวณนั้นแล้ว การที่มีพื้นที่ที่มีศาลลักษณะนี้มากๆ น่าจะเป็นสัญญาณบอกแก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องว่า ควรเอาใจใส่ในเรื่องกายภาพของถนนบริเวณนั้นๆ ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง

“ลักษณะศาล แต่ละที่มีที่มาที่ต่างกัน หลักๆ คือ ณ จุดนั้นมีการเสียชีวิต หรือว่ามี เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น คน ก็ทำพิธีกรรม หรือตั้งศาลซึ่งอาจจะเป็นญาติของญาติผู้สูญเสีย แต่เมื่อเหตุการณ์มากขึ้น ศาลก็จะไม่ใช่แค่ศาลเดียว อย่างสถานที่ที่เห็นค่อนข้างชัดเจน คือศาลเขาโทน บนถนน304 อ.นาดี ปราจีนบุรี ช่วงทางลงเขา 5กิโลเมตร จะเห็นว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นถี่มาก เราจะเห็นศาล เล็กๆ ใหญ่ ๆ ตั้งเป็นกระจุกอยู่ด้วยกัน แต่อยู่นอกเขตทางถนน ก็ไม่น่าจะผลโดยตรงเรื่องความปลอดภัย

แต่ด้านหนึ่งการมีศาล สำหรับคนขับรถเอง อาจจะถูกมองว่า เป็นเครื่องคอยเตือน บางศาลมีความเชื่อว่าต้องบีบแตร เป็นการเตือนกัน ว่า ณ จุดนี้ให้ระวัง ตื่นตัวอยู่เสมอ และหน่วยงานที่รับผิดชอบควรมองว่า ถ้าที่ไหน ถึงขั้นต้องมีศาล มีการผูกผ้า เครื่องเซ่นไหว้ มันควรถูกทบทวนเรื่องกายภาพ และไปแก้ที่นั่น แทนที่จะมาใช้ศาลในการเตือนอย่างเดียว ที่ไหนเกิดเหตุซ้ำ ไม่ใช่เรื่องพฤติกรรมคนอย่างเดียวแน่นอน”หมอธีระพงศ์กล่าวทิ้งทาย

7 ศาลม้าลาย รอบเมืองกรุง

ความเชื่อเรื่องศาลม้าลาย ยังเป็นสิ่งที่คนเมืองจำนวนไม่น้อยให้ความเชื่อถือ ซึ่งในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีศาลม้าลายที่มีผู้คนให้ความสนใจดังนี้

1.ศาลตา ยาย อิมแพคเมืองทองธานี เป็นอีกพื้นที่รวบรวมปูนปั้นม้าลายหลากหลายขนาด เนื่องจากผู้คนที่เลื่อมใสนำมาถวายแก้บน “ตายาย” ที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จด้านต่างๆ ร่วมทั้งโชคลาภและเลขเด็ดด้วย

2.ศาลม้าลาย คลองหลวง ใกล้ศาลเจ้าแม่อุย ตั้งอยู่บริเวณแยกสันติสุข ถนนติวานนท์ ปากเกร็ด-ปทุมธานี ซึ่งมีอีกชื่อว่าเป็นแยกร้อยศพ เนื่องจากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นอกจากญาติผู้เสียชีวิตจะไปตั้งศาลให้แก่ญาติให้คนตายแล้ว ก็มีคนที่เลื่อมใส นำม้าลายไปถวายเป็นการแก้บน จากความสำเร็จด้านต่างๆ จนมีจำนวนม้าลายขนาดต่างๆ นับหมื่นตัว

3.ศาลปู่จัน สะพานพระนั่งเกล้า ข้างปั๊มเอสโซ่ ถือเป็นอีกศาลม้าลายนับแสนตัว ที่เรียงรายกันจนเต็มพื้นที่ ถึงขั้นที่ว่ามีป้ายห้าม นำมาลายมาถวายอีก เนื่องจากพื้นที่วางเต็มไปหมดแล้ว จากความขลังของเรื่องความสำเร็จ และไม่พ้นเลขเด็ด ที่ก่อนวันหวยออกที่มีคนพลุกพล่านเป็นพิเศษ

4.ศาลปู่จัน สนามบินน้ำ เยี่ยงกระทรวงพาณิชย์ แม้จะมีชื่อเดียวกัน แต่ศาลแห่งนี้ยังถือว่าเป็นน้องใหม่ เพราะจำนวนม้าลาย ยังถือว่าอยู่ในหลักพัน แต่เรื่องความเชื่อ ความศรัทธาของคนในพื้นที่ก็มีมากไม่แพ้ใครเลยทีเดียว

5.ศาลเจ้าพ่อม้าลาย ถนนพหลโยธิน ใกล้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นศาลที่ประทับของเจ้าแม่ธรณี แต่คนส่วนใหญ่เรียกกันจนติดปากว่า “เจ้าพ่อม้าลาย” อยู่ริมถนนพหลโยธินขาเข้าเมือง ส่วนเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อคะเนตามจำนวนม้าลายแล้ว ถือว่าไม่ย่อยเลยทีเดียว

6.ศาลเสด็จปู่ฤาษี ยีราฟ –ม้าลาย พระนครเหนือ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นปูนปั้นยีราฟแต่ก็มีปูนปั้นม้าลาย ให้เห็นบ้างปะปราย โดยความเชื่อที่ว่าสัตว์จากกาฬทวีปพวกนี้ สายตากว้างไกล เมื่อนักศึกษาถวายแล้วจะทำให้เรียนเก่ง ขณะที่บางคนนำม้าลายมาถวายเพราะบนบานเพื่อให้สอบติด

7.โพธิ์ 5ต้น โค้งศาลอาญา รัชดา ขึ้นชื่อว่าเป็นโค้งร้อยศพ และระดับความเฮี้ยนสูงมาก แต่ก็มิวาย มีคนปีนไปจุดธูปขอหวยที่ต้นโพธิ์กันเป็นประจำ ส่วนใครที่ดวงดีได้โชคได้ลาภก็นำม้าลายมาถวาย จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่รวบรวมรูปปั้นม้าลายไว้เยอะมาก