posttoday

การสถาปนาหม่อมราชนิกุลและหม่อมราชินิกุล

18 มกราคม 2558

ในปัจจุบันนี้มีผู้คนจำนวนมากสงสัยอยากรู้ว่า เหตุใดจึงเรียก ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร ว่า หม่อมราโชทัย เรียก ม.ร.ว.ตัน สนิทวงศ์ ว่า หม่อมสนิทวงศ์เสนี เรียก ม.ร.ว.เฉลิมลาภทวีวงศ์ ว่า หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ จึงน่าที่จะมาทำความเข้าใจในยศพิเศษที่เรียกกันว่า “หม่อม” นี้ ให้เกิดความกระจ่าง

ในปัจจุบันนี้มีผู้คนจำนวนมากสงสัยอยากรู้ว่า เหตุใดจึงเรียก ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร ว่า หม่อมราโชทัย เรียก ม.ร.ว.ตัน สนิทวงศ์ ว่า หม่อมสนิทวงศ์เสนี เรียก ม.ร.ว.เฉลิมลาภทวีวงศ์ ว่า หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ จึงน่าที่จะมาทำความเข้าใจในยศพิเศษที่เรียกกันว่า “หม่อม” นี้ ให้เกิดความกระจ่าง

ยศพิเศษที่เรียกว่า หม่อม เช่น หม่อมราโชทัย หรือหม่อมท่านอื่นๆ นั้น ถือเป็นหม่อมราชนิกุลหรือหม่อมราชินิกุล ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ หม่อมราชวงศ์ชายที่ปฏิบัติความดีความชอบในราชการแผ่นดิน ซึ่งถ้าเทียบกับพระยศเจ้านาย ตำแหน่งหม่อมนี้จะสูงกว่าหม่อมราชวงศ์ แต่มียศต่ำกว่าหม่อมเจ้า และถ้าหากเทียบกับบรรดาศักดิ์ฝ่ายขุนนาง ก็ถือว่ามีบรรดาศักดิ์สูงกว่าพระแต่ต่ำกว่าพระยา เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกหม่อมเหล่านี้ว่าเจ้าราชนิกุล ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ใช้คำว่า หม่อม แทนคำว่า เจ้า จากเจ้าราชนิกุลในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงกลายเป็นหม่อมราชนิกุลในสมัยรัตนโกสินทร์

สำหรับหม่อมราชนิกุลนั้น ไม่ได้นับให้เป็นเจ้านายในพระราชวงศ์ จึงไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์ และบุตรธิดาของหม่อมราชนิกุลก็ยังคงมีศักดิ์เป็นหม่อมหลวงเช่นเดิม ยศหม่อมราชนิกุลในรัตนโกสินทร์มีทั้งหมด 36 ท่าน ดังนี้ คือ

1.หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร)

2.หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.เนตร อิศรางกูร)

3.หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.โต๊ะ อิศรางกูร)

4.หม่อมทศทิศฦๅเดช (ม.ร.ว.ผิว พนมวัน)

5.หม่อมนราธิราช (ม.ร.ว.ชิต ศิริวงศ์)

6.หม่อมนราธิราช (ม.ร.ว.ใหม่ นพวงศ์)

7.หม่อมอนุรุทธเทวา (ม.ร.ว.โนรี ศิริวงศ์)

8.หม่อมอนุรุทธเทวา (ม.ร.ว.สายหยุด สนิทวงศ์)

9.หม่อมเทวาธิราช (ม.ร.ว.เทวหนึ่ง ศิริวงศ์)

10.หม่อมเทวาธิราช (ม.ร.ว.แดง อิศรเสนา)

11.หม่อมนเรนทรราชา (ม.ร.ว.มโนรถ ศิริวงศ์)

12.หม่อมนเรนทรราชา (ม.ร.ว.รัตน์ เสนีวงศ์)

13.หม่อมนเรนทรราชา (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์)

14.หม่อมไพชยนต์เทพ (ม.ร.ว.พิณ สนิทวงศ์)

15.หม่อมดำรงรามฤทธิ์ (ม.ร.ว.ฉาย พนมวัน)

16.หม่อมดำรงรามฤทธิ์ (ม.ร.ว.เชื้อ พนมวัน)

17.หม่อมอนุวงศ์วรพัฒน์ (ม.ร.ว.สำเริง อิศรศักดิ์)

18.หม่อมสีหพงษ์เพ็ญภาค (ม.ร.ว.ตั้ว ชุมสาย)

19.หม่อมอนุยันต์ศิริวงศ์ (ม.ร.ว.เพิก ดารากร)

20.หม่อมอนุยันต์ศิริวงศ์ (ม.ร.ว.ยัน พนมวัน)

21.หม่อมศิริพงศ์อนุพันธ์ (ม.ร.ว.ฉิม ดารากร)

22.หม่อมอนุวัตรวรพงศ์ (ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์)

23.หม่อมอนุวัตรวรพงศ์ (ม.ร.ว.จำนง นพวงศ์)

24.หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร)

25.หม่อมอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ (ม.ร.ว.ประยูร อิศรศักดิ์)

26.หม่อมนิวัทธอิศรวงศ์ (ม.ร.ว.พยอม อิศรศักดิ์)

27.หม่อมภรตราชา (ม.ร.ว.โต มนตรีกุล)

28.หม่อมชาติเดชอุดม (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์)

29.หม่อมชาติเดชอุดม (ม.ร.ว.สิงหนัท ปราโมช)

30.หม่อมทวีวัฒนศักดิ์ (ม.ร.ว.ทวี สนิทวงศ์)

31.หม่อมสนิทวงศ์เสนี (ม.ร.ว.ตัน สนิทวงศ์)

32.หม่อมสุบรรณเสนี (ม.ร.ว.จรูญรัตน์ สุบรรณ)

33.หม่อมเกษมศรีศุภวงศ์ (ม.ร.ว.ขจิต เกษมศรี)

34.หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์ (ม.ร.ว.ฉายฉาน ศิริวงศ์)

35.หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์)

36.หม่อมกฤดากรราชเสนา (ม.ร.ว.เทียมพันธุ์ กฤดากร)

คำว่า หม่อมราชนิกูล หรือหม่อมราชนิกุล อาจจะมีการเข้าใจผิดว่าแท้จริงแล้วเป็นฐานันดรศักดิ์ของหม่อมราชินิกุล เพราะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 มีหม่อมท่านหนึ่งซึ่งมีฐานันดรศักดิ์เป็นทั้งหม่อมราชนิกุลและหม่อมราชินิกุล คือ หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์ (ม.ร.ว.ฉายฉาน ศิริวงศ์) ซึ่งผู้ใหญ่มักจะพูดกันว่าท่านเป็นหม่อมราชินิกุล จึงทำให้ทั่วไปเข้าใจเช่นนั้นและเรียกปะปนกันไป

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายคำว่า ราชนิกุล กับ ราชินิกุล เอาไว้ว่า ราชนิกุล กับคำว่า ราชินิกุล มีความหมายแตกต่างกันดังนี้ คือ ราชนิกุลเป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมชนกนาถ ส่วนราชินิกุลเป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนี ต่างกันอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งราชนิกุลย่อมเป็นเชื้อเจ้าเพราะสืบสายลงมาจากเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในพระราชวงศ์ร่วมสกุลอันเดียวกัน ดังใช้นามสกุลว่า ณ อยุธยา อยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ราชินิกุลนั้นเพราะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ย่อมมีพระญาติเป็นสกุลอื่นต่างกันทุกพระองค์ ราชินิกุลจึงมีหลายพวกหลายสกุล แต่การที่นับว่าราชนิกุลหรือราชินิกุลนั้น ไม่ได้ถือเอาข้อที่เกิดในวงศ์พระญาติอย่างเดียว ยังต้องอาศัยฐานะอย่างอื่นประกอบ คือ ฝ่ายราชนิกุลนับโดยกำเนิด แต่ชั้นที่ทรงศักดิ์เป็น “หม่อมราชวงศ์” และ “หม่อมหลวง” ต่อนั้นลงไปต้องถวายตัวทำราชการ (แต่โบราณกำหนดว่าต้องได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด) จึงนับเป็นราชนิกุล ฝ่ายราชินิกุลนั้นก็ถือเอาการที่ถวายตัวทำราชการ (คือได้รับเบี้ยหวัด) เป็นสำคัญทำนองเดียวกัน ถ้ามิได้อยู่ในฐานะดังกล่าวมา ถึงเกิดเป็นเชื้อสายพระญาติวงศ์ก็หานับในทางราชการว่าเป็นราชนิกุลหรือราชินิกุลไม่

ที่ว่า หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์ (ม.ร.ว.ฉายฉาน ศิริวงศ์) ท่านเป็นทั้งหม่อมราชนิกุลและหม่อมราชินิกุลนั้น เพราะท่านเป็นหม่อมราชวงศ์ ดังกล่าว สกุล “ศิริวงศ์ ณ อยุธยา” สืบสายลงมาจากพระองค์เจ้าศิริวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 (ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ในรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ)

พระบิดาของหม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ และเป็นอนุชาในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เดิมประสูติเป็นหม่อมเจ้า พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าฉายเฉิด พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้า และสถาปนาเป็นกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ โปรดให้ใช้คำนำพระนามว่า “พระสัมพันธวงศ์เธอ” พระองค์เองตรัสเรียกว่าน้าฉายเฉิด หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์จึงเป็นทั้งหม่อมราชนิกุลและหม่อมราชินิกุลดังกล่าว

หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์นี้ พระราชโอรส พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงหลายพระองค์ ตลอดจนพระโอรส พระธิดา ในสมเด็จเจ้าฟ้าร่วมพระราชชนนีเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เรียกว่า “อา” ทั้งๆ ที่พระชันษามากกว่าหม่อมศิริวงศ์ฯ

เล่ากันมาว่าเพราะวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีกระแสพระราชดำรัสเป็นเชิงสรรพยอกหม่อมศิริวงศ์ ซึ่งเวลานั้นยังเด็ก อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ว่า “ตาฉายเจ้ารู้ไหมว่าเจ้าเป็นอะไรกับข้า” หม่อมศิริวงศ์ก็กราบบังคมทูลทันทีว่า “เป็นน้อง” ทำให้ผู้ใหญ่ตกอกตกใจกันมาก เพราะธรรมเนียมไทยแต่ไหนแต่ไรมา ถ้าไม่ใช่พระราชวงศ์สูงศักดิ์แล้วก็ไม่มีใครอาจเอื้อมไปลำดับญาติกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ก็เกรงกันว่าจะทรงพระพิโรธถึงผู้ใหญ่ว่าไม่สอนทำนองนั้น ทว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง นอกจากจะไม่กริ้วแล้ว ยังพอพระราชหฤทัยนักหนา ตรัสชมว่าฉลาดและกล้าทำให้ทรงพระเมตตาหม่อมศิริวงศ์ยิ่งขึ้น ตั้งแต่นั้นพระราชโอรส พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตลอดพระโอรส พระธิดา ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เลยทรงพากันเรียกหม่อมศิริวงศ์ ทั้งๆ ที่ยังเด็กว่า “อา” กันทุกพระองค์ ทรงเรียกแต่เฉพาะหม่อมศิริวงศ์เท่านั้น หม่อมราชวงศ์ในสกุลศิริวงศ์อื่นๆ มิได้ทรงเรียก ดังนั้นตลอดลงมาถึงชั้นหม่อมหลวงบุตรหญิงชายของหม่อมศิริวงศ์ พระธิดาบางองค์ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ดังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงมาลิศเสาวรส ก็โปรดให้คุณๆ หม่อมหลวงเหล่านั้นเรียกท่านว่า “พี่ท่าน” คือจะเรียกว่า “ท่านพี่” จะหมายความว่าคุณๆ เหล่านั้นเป็นเจ้า จึงกลับเสียให้เรียกว่า “พี่ท่าน” เพราะนับตามสายสัมพันธ์ลงมา หม่อมหลวงในสายสกุลศิริวงศ์นับว่าเป็นญาติชั้นเดียวกันกับท่าน

เกี่ยวกับหม่อมเจ้าและหม่อมราชนิกุลนี้ เรื่อง “ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ของไทย” ในหนังสือพระบรมราชจักรีวงศ์ กล่าวถึงไว้ว่า “เจ้านายชั้นพระองค์เจ้าก็ดี หม่อมเจ้าก็ดี จะพึงเห็นได้ว่า ท่านอาจเลื่อนพระยศสูงขึ้นได้ เช่น หม่อมเจ้าเลื่อนยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้า พระองค์เจ้าเลื่อนพระยศขึ้นเป็นเจ้าฟ้า แต่หม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงนั้นเมื่อได้ทำความดีความชอบต่อราชการแผ่นดินมากๆ ถ้าไม่เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวง เป็นพระ เป็นพระยา ก็เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หม่อมราชนิกุล” (เฉพาะหม่อมราชวงศ์) เช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อน ม.ร.ว.กระต่าย ล่ามประจำคณะทูตเชิญพระราชสาส์นไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ กรุงอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2400 เป็นหม่อมราโชทัย เป็นต้น

นามของหม่อมราชนิกุลนั้นเป็นราชทินนาม ไม่ใช่นามเดิมของหม่อมราชวงศ์ผู้นั้น แต่ก่อนท่านเอาพระนามเจ้าราชนิกุลมาตั้งเป็นราชทินนามของหม่อมราชนิกุล ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นแล้ว การสถาปนาหม่อมราชนิกุลจึงนับเอานามสกุลของผู้ที่ได้รับการสถาปนามาตั้งเป็นราชทินนาม เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์สกุลของผู้ที่ได้รับการสถาปนา

เช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์ ขึ้นเป็น หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์ ทรงเป็นพระนัดดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระองค์เจ้าทวีถวัลย์ลาภ) อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการสถาปนาเป็นหม่อมราชนิกุลแล้ว ท่านก็ยังถือว่ามิใช่เจ้า ดังนั้นการพูดกับหม่อมราชนิกุลจึงพูดอย่างธรรมดาไม่ต้องใช้ราชาศัพท์

ในปัจจุบันฐานันดร หม่อมราชนิกุล หรือหม่อมราชินิกุล ได้หมดสิ้นแล้ว และไม่ได้มีการสถาปนาอีกเลย