สปช.ชงแยกคดีอาญาออกจากสตช.
สปช.เสนอแยกคดีอาญาออกจากสตช.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ชี้การบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ
สปช.เสนอแยกคดีอาญาออกจากสตช.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ชี้การบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช. คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยเปิดให้สมาชิกอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อเรื่อง "จะทำอย่างไรให้มีการบังคับใช้กฎหมาย เป็นไปอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม"
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. อภิปรายว่า ปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาหลายเรื่อง ล่าสุดเกิดเหตุระเบิดที่หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งผู้กระทำผิดทำเหมือนไม่กลัวกฎหมาย ท้าทายอำนาจรัฐ ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะที่ผ่านมาบ้านเมืองไม่สงบสุข มีทั้งอาชญากรรม ปล้น จี้ ชิงทรัพย์ เผาบ้านเผาเมือง การหมิ่นประมาทซึ่งกันและกัน เด็กนักเรียนตีกัน มีการหมิ่นสถาบัน ปรากฏอยู่ในหลายเว็บไซต์ เหมือนบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย ไม่มีคนรับผิดชอบ
ขณะที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็มีปัญหา มีการวิ่งเต้นโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงกว้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหานั้นรัฐต้องกวดขันให้เจ้าหน้าที่เคร่งครัดต่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการต้องเป็นธรรม หากเจ้าหน้าที่กระทำความผิดต้องถูกลงโทษเป็น 2 เท่า
ด้านนายวันชัย สอนศิริ สปช. อภิปรายว่า กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้สรุปถึงการบังคับใช้กฎหมายว่าต้องมีความอิสระ ปราศจากการแทรกแซง และไม่ถูกครอบงำ ซึ่งมี 2 เรื่อง ที่ทำให้เกิดปัญหา คือ เงินกับอำนาจ ทำให้การทำงานของข้าราชการไม่มีอิสระ มีการแทรกแซง เกิดการครอบงำ แม้แต่ในสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นสส. สว. หรือรัฐมนตรี
"บางคนที่เป็นข้าราชการดีแสนดี พอมาอยู่ในสภาฯ ก็ แพ้เงิน แพ้อำนาจ บางคนเป็นผู้ใหญ่น่าเคารพนับถือของบ้านเมือง แต่พอเจอเงินกับอำนาจ ก็เพี้ยน ซึ่งหลักการของข้าราชการ ไม่ว่าข้าราชการประจำ หรือข้าราชการการเมือง จะทำงานเพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรี เพราะเป็นผู้ควบคุมกติกาและกฎหมาย โดยยึดหลักคุณธรรม ขณะที่พ่อค้า นักธุรกิจ ทำงานเพื่อเงินและผลกำไร เพื่อบริษัทตัวเอง เพื่อวงศ์ บริวาร จะหาช่องทางทางกฎหมายทุกรูปแบบ มีการเล่นใต้ดินและบนดิน ซึ่งทั้ง 2 องค์กรนี้เขาห้ามรัดวงจรกัน"นายวันชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม แต่ในความเป็นจริงเงินก็เข้ามาควบคุมข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ จนทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เคร่งครัดและไม่เป็นธรรม ดังนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องทำเรื่องสำคัญ คือ ทำให้คนดีมีที่ยืนอยู่ได้ ทั้งยศและตำแหน่ง คนชั่วต้องถูกขจัดออกไป
ขณะที่ พล.ต.ต.ปรีชา สมุทระเปารยะ สปช. อภิปรายว่า การบังคับใช้กฎหมายด้านคดี มี 2 กระบวนการ คือ การตั้งข้อหาและจับกุมผู้ต้อง และการสอบสวนในชั้นพนักงานสอบสวน ส่วนตัวเห็นว่าเพื่อความโปร่งใส เจ้าหน้าที่ตำรวจน่าจะต้องมีการบันทึกเสียงและภาพ ตั้งแต่การสอบสวน การจับกุม เก็บเป็นไฟล์บันทึก เพื่อเป็นเครื่องยืนยันกรณีที่ผู้ต้องหาหรือพยานกลับคำให้การหรือพนักงานสอบสวนมีการค้าสำนวน เพื่อให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และหากผู้ต้องหาต้องการบันทึกภาพและเสียง ก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายด้านคดีมีความยุติธรรมมากขึ้น และหากจะนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน
จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยมีความเห็นตรงกันว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น อาทิ นางตรึงใจ บูรณสมภพ และพ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ สปช. เสนอให้มีกฎหมายเพื่อควบคุมผู้ที่มีหน้าที่บังคับบัญชาใช้กฎหมาย แต่กลับละเมิดไม่ปฏิบัติตาม เช่น ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือข้าราชการระดับรองลงมา
นอกจากนี้ ประชาชนที่คอยเป็นหูเป็นตาหรือรู้เบาะแสในความผิดต่างๆ สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องแต่ละคดีได้นั้นต้องได้รับรางวัล รวมทั้งยังเสนอให้แยกคดีอาญา ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพราะจะทำให้การทำงานมีความเป็นธรรมมากขึ้น ภายหลังสมาชิกใช้เวลาอภิปราย 3 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบส่งความเห็นดังกล่าวให้กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและความเป็นธรรม และกมธ.ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ด้วยคะแนน 221 งดออกเสียง 5 เสียง จากนั้นประธานได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 14.00 น.