posttoday

เสียงลมหายใจ ที่ปลายเท้า

08 กุมภาพันธ์ 2558

ผิวเผินแล้วการหายใจดูจะไม่ใช่เรื่องยากเย็น ในเมื่อมันอาจจะถือเป็นความสามารถแรกๆ

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ผิวเผินแล้วการหายใจดูจะไม่ใช่เรื่องยากเย็น ในเมื่อมันอาจจะถือเป็นความสามารถแรกๆ ที่ติดตัวมากับดีเอ็นเอ จนไม่ต้องไปเสียเวลาเรียนรู้หรือฝึกฝนอะไรกันมากมาย

สัญชาตญาณการเอาตัวรอดอาจเป็นแรงขับให้ร่างกายต้องรู้จักปรับตัวกับรูปแบบการรับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงร่างกายด้วยปลายจมูกของตัวเอง ตั้งแต่สายสะดือถูกตัดขาด

จากนั้นจึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้เทคนิคการหายใจเพื่อให้สัมพันธ์กับกิจกรรมในชีวิตของตัวเอง จนเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางระบบการหายใจก็เข้าสู่โหมดออโต้ไพลอต ชนิดที่ไม่ต้องไปสนใจไยดีกับมันอีกต่อไป

คล้ายกับการ “วิ่ง” ที่ดูประหนึ่งจะเป็นความสามารถที่แทบจะไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมาก แค่รอความพร้อมของแขน ขา ร่างกาย พัฒนาจนสามารถทรงตัว ยืนกายตั้งฉากกับพื้นโลก ฝืนกับแรงโน้มถ่วงได้สำเร็จ จนสามารถก้าวย่างและพัฒนาความเร็วเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

จากความเพลิดเพลินในวัยเด็กหลังลิ้มรสความรู้สึกการวิ่งเป็นครั้งแรกๆ ไม่กี่ปีผ่านไปหลายคนมองว่าการวิ่งเป็นกิจกรรมที่พึงหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันการเหนื่อยล้า หรือเหนียวเหนอะ

ยิ่งในยุคปัจจุบันแค่การ “เดิน” หลายคนยังพยายามหลีกเลี่ยง แสวงหาเครื่องทุ่นแรง ไม่ให้ร่างกายต้องสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ

จนสุดท้ายโลกก็หมุนกลับมาสู่จุดสมดุลของตัวเองเมื่อคนกรุงที่ห่างเหินการวิ่งไปนาน ก็กลับมาสนอกสนใจการวิ่งอีกครั้งถึงขั้นกลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

และนั่นอาจทำให้ใครหลายคนต้องกลับมาทบทวนเรียนรู้รูปแบบ วิธีการ “วิ่ง” และ “หายใจ” กันใหม่หมด จากที่ละเลยไม่สนใจกันมานาน ที่สำคัญทั้งการวิ่งและหายใจมันมีจุดที่เชื่อมโยงกันอยู่

ถ้าการวิ่งมีคัมภีร์ให้ฝึกฝนเหมือนสุดยอดวรยุทธ์ในหนังจีน เทคนิคการ “หายใจ” คงเป็นกระบวนท่าสุดท้าย ที่เป็นไม้ตายช่วยให้การวิ่งขับเคลื่ีอนไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เพราะลำพังแค่การฝึกฝนรูปแบบพื้นฐานทั้งการก้าวย่าง​ ขยับแขน ขยับขา ให้สอดประสาน สัมพันธ์ไปทั้งร่างกาย ทั้งทำให้เกิดความคล่องตัว และป้องกันการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้น

ส่วนการหายใจนั้นสำคัญเพราะเป็นตัวควบคุมความ “เหนื่อย” และ “ล้า” ช่วยทำให้ขีดความสามารถในการวิ่งทั้งในแง่ความเร็ว ระยะทาง และเวลา

ความสำคัญของการหายใจอยู่ตรงที่เป็นกลไกควบคุมออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ เมื่อการวิ่งจะต้องใช้พลังงานและออกซิเจนมากกว่าการเคลื่อนไหวปกติในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเร็วหรือความลึกเพื่อดึงออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อให้พอเหมาะ

ส่วนความพอเหมาะนั้นเป็นเรื่องปัจเจกไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว อยู่ที่แต่ละคนจะต้องฝึกฝนและเรียนรู้เอาเอง ว่าจังหวะก้าวย่างแบบไหน จะหายใจอย่างไร

การฟังเสียงลมหายใจเข้าออกระหว่างแต่ละก้าวย่างจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วยยกระดับการวิ่งให้เต็มประสิทธิภาพ แต่ยังถือเป็นช่องทางการฟังเสียงร่างกายของตัวเอง

ไม่ว่าจะเป็นความเมื่อยล้า ความเหนื่อย ความเจ็บปวด ที่โคจรไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทุกอย่างสื่อสารออกมาได้ชัดเจนผ่านลมหายใจที่แตกต่างออกไป

การจับสัญญาณและแปลความได้อย่างถูกต้อง ย่อมทำให้เข้าใจกลไกในร่างกายและรู้จักอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ซึ่งอาการบาดเจ็บนั้นล้วนแต่เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

ชวนให้นึกถึงประโยคสุดคลาสสิกของ ฮารูกิ มุราคามิ “อาการความเจ็บปวดนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะไม่ทนทุกข์ไปกับมันได้”

ผลพลอยได้จากการติดตามกำหนดลมหายใจเข้าออกยังช่วยพัฒนาสมาธิ มองร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงสิ่งรอบตัวได้ลึกซึ้งมากขึ้น

ไม่ใช่เพียงแค่เสียงลมหายใจของตัวเองแต่ในสนามการฟังเสียงลมหายใจของคนรอบตัวย่อมรับรู้รับทราบความเคลื่อนไหวของนักวิ่งคนอื่นๆ ได้ลึกซึ้งกว่าที่ตาเห็น

ยิ่งในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป การมีสมาธิซึ่งไม่ได้หมายความแค่การจดจ่ออยู่แค่ลมหายใจที่ปลายจมูก แต่รับรู้รับทราบสิ่งต่างๆ รอบตัว ระหว่างทาง ทั้งสถานที่ บุคคลอื่นๆ ทั้งหมดนี้ล้วนประกอบให้เห็นความเป็นมาเป็นไปของสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน

การรับฟังเสียงลมหายใจในแต่ละก้าวย่างจึงเป็นเสน่ห์ที่หลายคนอาจยังไม่รู้