ไขปริศนา "ปักเป้าน้ำจืด" กินแล้วตายจริงหรือ?
เผย“ปักเป้าบึง” ชาวบ้านแถบอีสานนิยมจับมาปรุงเป็นอาหาร บางพื้นที่กินได้ปลอดภัย บางพื้นที่กินแล้วถึงตาย
เผย“ปักเป้าบึง” ชาวบ้านแถบอีสานนิยมจับมาปรุงเป็นอาหาร บางพื้นที่กินได้ปลอดภัย บางพื้นที่กินแล้วถึงตาย
สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว หลังจากชาวบ้านสองรายในพื้นที่ต.หัวเรือ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม นำปลาปักเป้าน้ำจืดมาปรุงอาหารรับประทาน จนเกิดอาการตัวชา อาเจียน ก่อนหมดสติต้องหามส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ขณะที่อีกรายเสียชีวิตระหว่างทาง
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังนายบุญมา จูมเกตุ อายุ 64 ปี ได้ขอแบ่งปลาปักเป้าหน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จากชาวบ้านที่ไปวางตาข่ายหาปลาในลำห้วยน้ำเสียว แล้วนำมาต้มใส่ใบมะขามอ่อน โดยต้มทั้งตัวและไม่ได้ผ่าท้องล้างเครื่องในออก ภรรยาห้ามปรามก็ไม่ฟัง หลังทานเสร็จเรียบร้อยได้นำต้มปลาที่เหลือไปเททิ้งให้ไก่กิน ปรากฎว่าเพียงไม่กี่นาที ไก่จำนวนกว่า 11 ตัวเกิดอาการเซื่องซึมก่อนเสียชีวิตทั้งหมด
หลังจากนั้นนายบุญมามีอาการชาที่ปาก หมดแรง ก่อนจะอาเจียนอย่างหนักและหายใจหอบ สุดท้ายช็อกหมดสติไปจึงรีบนำส่งรักษาที่ ร.พ.วาปีปทุม ปรากฏว่าเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ยังมีนายชาญฤทธิ์ บุญสอน เพื่อนบ้านอีกคนที่แบ่งปลาปักเป้าไปหมกใบตองรับประทาน ก็ป่วยจนต้องพักรักษาอยู่ห้องผู้ป่วยหนัก ร.พ.มหาสารคาม
ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่เผยว่า สำหรับปลาปลาปักเป้าที่นิยมนำมารับประทานกันมี 2 ชนิด คือ จะมีลักษณะเป็นลายสีดำ ตาสีแดงมีครีบลำตัวไม่มีหนามคล้ายกับปลาบู่ตัวเล็กๆ และตัวลายสีเหลือง ที่ผ่านมาชาวบ้านเคยจับมาปรุงอาหารรับประทานบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยมีใครเสียชีวิต
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ ระบุว่า ปลาตัวดังกล่าวเป็นปลาปักเป้าน้ำจืด สายพันธุ์ที่เรียกว่า ปักเป้าบึง (Pao palustris) พบชุกชุมในภาคกลางและภาคอีสาน อาศัยอยู่ตามหนอง หรือบึงขนาดใหญ่ ขนาดตัวยาวประมาณ 6-10 ซม. ลำตัวเป็นสีเขียวมะกอก มีจุดวงกลมสีดำกระจายอยู่ตามด้านข้างและด้านบนของลำตัว ส่วนเพศผู้ลำตัวจะมีสีน้ำตาลเข้ม ตาสีแดงขนาดใหญ่
"ปักเป้าบึงเป็นปลาน้ำจืดที่พบได้ทั่วไป ชาวบ้านหลายชั่วคนนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน ที่ผ่านมาพบว่า ปลาปักเป้าชนิดนี้ หากอาศัยอยู่ในหนองบึงที่มีลักษณะเป็นน้ำนิ่ง อาจมีแพลงตอน หรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดพิษหลังจากปลาปักเป้ากินเข้าไป เมื่อคนจับไปกินก็อาจเป็นอันตราย ส่วนปลาปักเป้าที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไหลต่อเนื่องกับแม่น้ำจะไม่มีพิษ"ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำกล่าว