ช่างหินรุ่นสุดท้ายแห่ง "อ่างศิลา"
หินอ่างศิลาแท้ๆ ที่นำมาทำครกนับวันจะหายากมากขึ้น ส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล
โดย...ตรีนัยน์ จันทร์ศรีชล
เมื่อกล่าวถึง “อ่างศิลา” สิ่งแรกที่คนทั่วไปจะนึกถึงก็คือครกหินที่แข็งแกร่ง ตำแล้วไม่เป็นทรายและมีสีขาวนวล หรือเหลืองอ่อน จากวัตถุดิบหินแกรนิตและหินทราย ที่แข็งแกร่งไม่ผุกร่อนแตกง่ายเหมือนหินตามชายทะเลทั่วไป และการผลิตที่ใช้ฝีมือคนล้วนๆ เป็นของขึ้นชื่อเมืองชลบุรีมายาวนาน
ในอดีตอาชีพแกะสลักหินของชาวบ้านอ่างศิลา เป็นอาชีพเสริมหลังจากที่ว่างจากการทำประมง โดยยุคแรกผลิตหินโม่แป้งสำหรับชุมชนจีน ต่อมาจึงนำเศษหินที่เหลือมาทำครกตำน้ำพริก จนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อ
แต่วันนี้ ช่างตีหินอ่างศิลา กำลังจะกลายเป็นตำนาน
ช่างเปิ้ล หรือ ยงยุทธ โตพิกุล ชายผิวคล้ำ ร่างเล็ก ที่คลุกคลีกับการตีครกหินมาตั้งแต่จำความได้บอกว่า เด็กรุ่นใหม่มองข้ามอาชีพช่างตีหิน การตีหินด้วยวิธีและเครื่องมือโบราณที่สืบทอดกันมาไม่มีใครสืบทอด เพราะปัจจุบันมีการนำเครื่องทุ่นแรงมาใช้ ผลิตได้เร็วขึ้น แต่ยิ่งเร็วกลับยิ่งส่งผลถึงคุณภาพของครกที่จะด้อยลงไปด้วย
“ครกที่ผ่านการตีด้วยมือ จะมีความทนทานสูง กล่าวคือ ครกที่ผ่านการเจียด้วยเครื่อง เพราะเครื่องใช้แรงดันน้ำและความร้อนในการเซาะหิน เมื่อหินถูกความร้อนและน้ำทำให้เกิดการเปราะแตกง่าย ผิดกับการกระเทาะหรือตีด้วยมือ หินที่นำมาทำเป็นครกจะไม่กระทบกระเทือน จึงมีความแข็งแกร่งเหนียวกว่าครกที่ทำด้วยเครื่อง”
ช่างเปิ้ล บอกว่า หินอ่างศิลาแท้ๆ ที่นำมาทำครกนับวันจะหายากมากขึ้น ส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งที่ดินเหล่านี้ถูกปรับถมก่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยตามความเจริญที่เกิดขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่สงวน การเสาะแสวงหาหินอ่างศิลาสักก้อนในเวลานี้ ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงส่งผลให้ราคาครกหินอ่างศิลาแท้ กลายเป็นของสะสมหายาก ซื้อขายกันตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสน
“ครกอ่างศิลาขนาดความกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้วขึ้นไป เนื้อหินสีมันปู ซื้อขายกันในราคาหลักหมื่นบาท หรือบางลูกลายสวยๆ อาจสูงถึง 3 หมื่นบาท และหากเป็นครกหินอ่างศิลาที่ทำด้วยมือไม่ผ่านเครื่องเจียแล้ว ราคาจะสูงขึ้นไปอีก ที่ผมทำเองเหลืออยู่เพียง 4 ใบเท่านั้น”
ช่างเปิ้ลบอกว่า เคล็ดลับการดูครกอ่างศิลาของแท้ ต้องยกขึ้นส่องกับแดด ดูเนื้อหิน เมื่อกระทบแสงจะมีเกร็ดเพชรปรากฏขึ้นอย่างมากมาย แต่หากเป็นของไม่แท้จะมีเกร็ดเพชรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เมื่อครกธรรมดากลายเป็นของหายากย่อมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ครกอ่างศิลา เป็นครกเพียงชนิดเดียวที่สถานธนานุบาล เทศบาลตำบลอ่างศิลา รับจำนำ
“นานแล้วที่ไม่มีการนำครกมาจำนำ เพราะหากเป็นของคุณภาพไม่ดีเราก็ไม่รับ แต่หากเป็นครกอ่างศิลาแท้ ที่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญก็จะรับไว้ และพิจารณาเงินตามหลักเกณฑ์หากเป็นครกที่ทำจากหินอ่างศิลาแท้ สามารถนำมาจำนำได้อย่างแน่นอน” จงจิตร บุญกุระกนก ผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลตำบลอ่างศิลา ยืนยันถึงความพิเศษของครกอ่างศิลา
เพื่ออนุรักษ์คุณค่าสินค้าพื้นเมืองขึ้นชื่อนี้ เทศบาลเมืองอ่างศิลา กำลังพยายามผลักดันให้ ครกหินอ่างศิลา ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยอ้างถึงขอบเขตที่ตั้งแหล่งภูมิศาสตร์ที่ผลิตครกหินอ่างศิลา ต้องอยู่ในเขตพื้นที่ ต.อ่างศิลา เสม็ด และ บ้านปึก อ.เมือง จ.ชลบุรี
ซึ่งอาจเป็นความพยายามรักษาสินค้าขึ้นชื่อคู่เมืองชลบุรีมาอย่างยาวนานให้สืบทอดต่อไปได้ ก่อนจะถึงยุคสุดท้ายของช่างฝีมือ ตีหินแห่งอ่างศิลา
ตำนานครกที่ไม่ธรรมดา
ในหนังสือขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีการระบุประวัติความเป็นมาของครกหินอ่างศิลาที่น่าสนใจว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีช่างชาวจีน ชื่อ นายเจ๊กฮั้ว แซ่ตั้ง เดินทางมารับจ้างทำเสาหินที่วัดอ่างศิลา และพบว่า หินบริเวณอ่างศิลามีความแกร่งทนทานสวยงามจึงนำหินที่เหลือจากการทำเสาวัดมาตีเป็นครก เพื่อใช้ในครัวเรือน และพบว่าครกหินที่ทำจาก อ่างศิลาสามารถใช้งานได้ดี มีคุณภาพ ตำแล้วไม่มีเศษหินแตกออก จึงได้ทำออกขายในหมู่บ้านจนเป็นที่ยอมรับ และแพร่กระจายออกไปสู่เมืองใหญ่ต่างๆ นอกจากนี้ส่วนที่ใช้จับหรือยกเพื่อสะดวกในการย้ายและทำความสะอาดเป็นหูสองหูตรงข้ามกัน เป็นการผลิตด้วยมือ โดยผู้มีฝีมือที่ชำนาญการสืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ