posttoday

เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ พระอัยกาในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (จบ)

15 มีนาคม 2558

หลังจากสงครามสงบแล้ว นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือนายควง อภัยวงศ์ ได้แต่งตั้งให้ ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

หลังจากสงครามสงบแล้ว นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือนายควง อภัยวงศ์ ได้แต่งตั้งให้ ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร เป็นรัฐทูตวิสามัญ และอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ม.จ.นักขัตร มงคลจึงทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปด้วยในกลางปี 2489 ขณะนั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 ของโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ แล้ว

ระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เรียนเปียโน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสกับครูพิเศษ แต่พำนักอยู่ที่อังกฤษได้ไม่นาน ม.จ.นักขัตรมงคลก็ทรงย้ายไปประเทศเดนมาร์กและประเทศฝรั่งเศสตามลำดับ ระหว่างนี้ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ยังคงตั้งใจเรียนเปียโนอย่างขะมักเขม้นเพื่อเตรียมสอบเข้าวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส และทรงไปศึกษาต่อในโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงด้านการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือภาษาศิลปะดนตรี วรรณคดี และประวัติศาสตร์ ณ เมืองโลซานประเทศสวิตเซอร์แลนด์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2492 เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อเดือน มี.ค. 2493 นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ตามเสด็จฯ ด้วย

วันที่ 28 เม.ย. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ และทรงเจิมแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ และทรงเจิมแด่ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ในการนี้ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินี

วันที่ 5 พ.ค. 2493 เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” และทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

วันที่ 5 มิ.ย. 2493 ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะแพทย์ผู้รักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกราบบังคมทูลแนะนำให้ทรงพักรักษาพระองค์อีกระยะหนึ่ง ต่อมาในปี 2494 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ณ โรงพยาบาลมองชัวซีศ์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเจริญพระชันษาได้ 7 เดือน ทั้ง 3 พระองค์จึงเสด็จนิวัตประเทศไทย ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ซึ่งต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ซึ่งต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ได้ประสูติต่อมาตามลำดับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน รวมพระราชโอรสและพระราชธิดา 4 พระองค์

ปลายปี 2498 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาแห่งสภากาชาดไทยเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีให้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสืบแทน เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2499 และในปีนี้เองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และภายหลังเมื่อทรงลาพระผนวชแล้ว ได้ทรงสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อันมีความหมายว่าทรงเป็นที่พึ่งของประชาชน นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของไทย ต่อจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป

นอกจากเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ จะเป็นพระอัยกาที่ได้เลี้ยงดูสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์แล้ว ยังเป็นเสนาบดีที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองไม่น้อย เป็นผู้ที่ให้ความเอาใจใส่และเห็นความสำคัญในด้านการศึกษาของเยาวชนในชาติ ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระบิดาสิ้นพระชนม์ เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ ได้เป็นต้นคิดในหมู่ทายาทให้นำวังของพระบิดามาก่อตั้งเป็นสถานศึกษาสำหรับสตรี โดยได้รับพระราชทานนามโรงเรียนจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2459 ว่า โรงเรียนสายปัญญา อันเป็นโรงเรียนสตรีที่มีชื่อเสียงและมีอายุเกือบจะถึง 100 ปี ในเร็วๆ นี้

เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2483 ด้วยไข้มาลาเรีย เบาหวานและโรคหัวใจ ศิริอายุรวม74 ปี