สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ สร้างความหวังผู้จบ ป.ธ.3
นับแต่เดือน มิ.ย. 2558 เป็นต้นไป พระภิกษุ-สามเณร ที่เรียนบาลี สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
โดย...สมาน สุดโต
นับแต่เดือน มิ.ย. 2558 เป็นต้นไป พระภิกษุ-สามเณร ที่เรียนบาลี สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค สามารถหาทางเรียนจนจบปริญญาตรีได้แล้ว เมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ศ.ดร. พระมหาสมศักดิ์ ป.ธ.9 Ph.D) ร่างหลักสูตรประกาศนียบัตรบาลีพุทธศาสน์ ให้เรียนอีก 1 ปี 6 เดือน ทั้งด้านวิชาสามัญ และภาษาบาลี เมื่อสอบผ่านจะได้วุฒิเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 มีศักดิ์และสิทธิเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยได้
หลักสูตรของ มจร
หน่วยงานที่รับรองการเรียนการสอน หลักสูตรประกาศนียบัตรบาลีพุทธศาสน์ ได้แก่ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)
ทางสำนักเรียนจะรับนักเรียนรุ่นแรกเพียง 50 รูป เท่านั้น ในเดือน พ.ค. 2558 เปิดสอนปีการศึกษาแรกในเดือน มิ.ย. 2558
ส่วนสถานที่เรียน ได้แก่ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเพิ่งสร้างใหม่ในวัดพิชยญาติการาม เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ช่วยแก้ปัญหาผู้สอบตก
ผศ.เวทย์ บูรณกรกุล อาจารย์สถาบันพุทธโฆส มจร กล่าวว่า การที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ดำริจัดหลักสูตรประกาศนียบัตรนี้ เพื่อแก้ปัญหาผู้ที่เรียนและสอบได้ ป.ธ.3 แล้ว ไม่แน่ว่าจะสอบเปรียญธรรมชั้นสูงต่อขึ้นไปได้หรือไม่ เพราะการสอบบาลีแต่ละชั้นนั้นค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างผู้ที่สอบผ่าน ป.ธ.3 แล้ว สมมติว่าได้ 500 รูป เมื่อสอบ ป.ธ.4 ในปีต่อไปไม่แน่ว่าจะสอบได้ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งความจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะประโยคเปรียญธรรมสูงขึ้น ผู้ที่สอบได้ก็ลดน้อยลงตามลำดับ เมื่อเป็นดังนี้อาจทำให้หมดหวังในการเรียน แต่ถ้าผู้นั้นมาเข้าเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบาลีพุทธศาสน์ นอกจากได้ความรู้วิชาสามัญ ยังได้ภาษาบาลีมากขึ้น เพราะทางโรงเรียนจะจัดสอนบาลีด้วย ระหว่างที่เรียนก็สามารถไปสอบบาลี
ชั้นสูงขึ้นไปก็ได้
ภาษาบาลีที่ใช้สอนในหลักสูตรนี้เป็นบาลีชั้นสูงเรียกว่าสัททาวิเสส ที่จะทำให้ผู้เรียนมีศักยภาพสูงขึ้น สามารถแปลคัมภีร์พระไตรปิฎกได้ง่ายขึ้น และจุ ดประสงค์สุดท้ายก็คือเป็นการสืบสานศาสนทายาท ให้กำลังใจแก่ผู้ที่เรียนและสอบได้ ป.ธ.3 ยังอยู่ในเพศบรรพชิต ต่อไปก็อย่างน้อยๆ 5 ปี จนกระทั่งจบปริญญาตรี เพราะผู้ที่เรียนภาษาบาลีอย่างเดียว ต่อไปอาจลาสิกขาเร็วขึ้น ถ้าหากสอบชั้นต่อๆ ไปไม่ได้
อาจารย์เวทย์ ที่เป็นผู้ช่วยร่างหลักสูตรด้วยผู้หนึ่งกล่าวว่า ความตั้งใจของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ คือต้องการรักษาภาษาบาลี และสืบสานมรดกด้านภาษาให้คงอยู่คู่กับพระพุทธศาสนาต่อไป
สถิติผู้สอบบาลีปี 2558
เพื่อให้เห็นภาพการสอบบาลีว่าสอบได้มากน้อยแค่ไหน แม่กองบาลีสนามหลวง แสดงสถิติทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประจำปี 2558 ดังนี้
คือ ป.ธ.9 มีผู้เข้าสอบ 413 รูป สอบได้ 49 รูป เท่ากับ 14.41%
ป.ธ.8 มีผู้เข้าสอบ 668 รูป สอบได้ 75 รูป เท่ากับ 18.47%
ป.ธ.7 มีผู้เข้าสอบ 853 รูป สอบได้ 127 รูป เท่ากับ 24.71%
ป.ธ.6 มีผู้เข้าสอบ 900 รูป สอบได้ 274 รูป เท่ากับ 45.51%
ป.ธ.5 มีผู้เข้าสอบ 1,497 รูป สอบได้ 196 รูป เท่ากับ 22.53%
ป.ธ.4 มีผู้เข้าสอบ 2,588 รูป สอบได้ 510 รูป เท่ากับ 28.57%
ป.ธ.3 มีผู้เข้าสอบ 6,387 รูป สอบได้ 896 รูป เท่ากับ 19.34%
และ ป.ธ.1-2 มีผู้เข้าสอบ 22,283 รูป สอบได้ 1,215 รูป เท่ากับ 8.75%
รวมผู้เข้าสอบ 35,589 รูป สอบได้ 3,342 รูป เท่ากับ 14.52%
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ สามารถสร้างหลักสูตรวิปัสสนาภาวนาระดับปริญญาโท ซึ่งมีนิสิต นักศึกษาเข้าศึกษามาแล้ว 9 รุ่น จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตอนท้ายปีการศึกษาแต่ละรุ่น ให้นิสิตฝึกอบรมวิปัสสนาอย่างเข้มข้น 7 เดือน ในจำนวนนั้น ส่งไปฝึกอบรมที่สำนักมหาสีศาสนยิกตา ที่ประเทศพม่า 2 เดือน
ทั้งหมดที่ทำนอกจากเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา ยังช่วยสร้างพระวิปัสสนาจารย์ให้แก่สำนักต่างๆ ที่ขาดแคลนในขณะนี้
การริเริ่มและการดำเนินงานของพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากมหาเถรสมาคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และประชาชนทั่วไป เพราะเป็นงานที่ช่วยพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้มีบารมีเท่านั้นจะพึงทำได้และดีอย่างนี้ ขออนุโมทนา