ลิเบอรัลและโคมูตร
ตอนนี้ในโลกออนไลน์ที่อินเดียกำลังเฮฮากันใหญ่ หลังจากฝ่ายเสรีนิยม (ลิเบอรัล) กับฝ่ายอนุรักษนิยม (โมทีภักต์)
โดย...กรกิจ ดิษฐาน
ตอนนี้ในโลกออนไลน์ที่อินเดียกำลังเฮฮากันใหญ่ หลังจากฝ่ายเสรีนิยม (ลิเบอรัล) กับฝ่ายอนุรักษนิยม (โมทีภักต์) แข่งกันปล่อยหมัดใส่กันคนละชุดสองชุด โดยทำใบปลิวออนไลน์ออกมาแจกแจงคุณลักษณะหน้าไหว้หลังหลอกของอีกฝ่าย
ลิเบอรัลในที่นี้คือกลุ่มเสรีนิยมสากลหัวเอียงซ้าย ส่วนอนุรักษนิยม คือกลุ่มนิยมนายกรัฐมนตรีโมที จากพรรคการเมืองชาตินิยมภารต/ฮินดู เป็นสองกระแสสายในการนำสังคมการเมืองอินเดีย
ใบปลิวที่ว่านี้คนทำหยิบมาจากแผ่นแนะแนวค่านิยมของเยาวชน แต่ตัดแคปชั่นออก ใส่คำบรรยายใหม่เน้นแขวะฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยฝ่ายอนุรักษนิยมเริ่มก่อน พาดหัวเรื่องว่า “อาทรัศ ลิเบอรัล” (ลิเบอรัลในอุดมคติ) มักมีลักษณะ เช่น สู้เพื่อสิทธิสัตว์แต่กินเนื้อสัตว์ (ในอินเดียนิยมมังสวิรัติค่อนประเทศ), โจมตีศาสนาในนามแนวคิดโลกวิสัย, เที่ยวหรูๆ หาที่เสวนาและทำความเข้าใจปัญหาความยากจน, สนับสนุนกองกำลังกบฏคอมมิวนิสต์ (นิยมฝ่ายซ้ายแม้ว่าจะเป็นพวกใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงอย่างเหี้ยมโหด) และชี้นำชาวโลกโซเชียลที่หูหนวกตาบอด
ต่อมาฝ่ายลิเบอรัลก็ตอบโต้บ้าง โปรยใบปลิวออนไลน์ประกาศคุณสมบัติของฝ่าย “อาทรัศ ภักต์” หรือ “พวกภักดีตัวอย่าง” หมายถึงกลุ่มผู้ภักดีฝ่ายอนุรักษนิยม หรือฝ่ายนิยมนายกฯ โมที (คำว่าภักดีมีความหมายในเชิงศรัทธาอย่างเหนียวแน่นมากกว่าเหตุผล) โดยชำแหละว่าเป็นพวกบูชาโมทีกับโคทเส (นาถูราม โคทเส - มือสังหารมหาตมะ คานธี นัยว่านิยมความรุนแรง), กินเนื้อวัวแต่ไม่ให้คนรู้ (วัวเป็นเทพพาหนะ ฮินดูเคร่งๆ บูชานัก), ต่อต้านกลุ่มเพศทางเลือก, มัวเมาในคำโฆษณาของพรรคอนุรักษนิยม, “คลั่ง” ชาติสุดหัวใจ, วิวาทกับทุกคนที่เห็นต่างกับผู้นำอนุรักษนิยม, เป็น อส.ป้องกันประเทศแต่ไม่ยอมสมัครเป็นทหาร, ได้ A+ วิชาโหราศาสตร์กับพระเวท และชอบดื่มโคมูตรก่อนอาหารเช้า (โคมูตร - ปัสสาวะวัว หมายถึงศรัทธาในศาสนาจนมืดบอด เพราะมีกลุ่มฮินดูสายจัด นิยมดื่มปัสสาวะวัวตอนเช้าตรู่นัยว่าช่วยรักษาโรคร้ายได้)
หลังจากนี้แล้ว ยังแลกกันคนละหมัดสองหมัด และผลัดกันทำใบปลิวล้อกันไปมาอย่างเผ็ดร้อน
อินเดียแม้จะมีอะไรหลายอย่างที่ดูไม่งามในสายตาเรา แต่สำหรับผมอินเดียมีสิ่งที่งดงามอย่างหนึ่ง คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสื่อที่ทำงานค่อนข้างขมีขมันและเป็นกลาง หรือหากจะเอียงก็เอียงอย่างสุภาพชน ไม่ใช่เอียงอย่างคนมืดบอด (อันธะ ภักตะ) ยุแยงให้คนเบียดเบียนกันในนามของคุณค่าและอุดมการณ์
และเราต้องตระหนักว่า ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความรุนแรงจากความเห็นต่างเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้