ขอให้วัดกัลยาณมิตร เป็นกรณีสุดท้าย
เรื่องโบราณสถานในวัดแห่งใดแห่งหนึ่งที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้แล้ว โบราณสถานนั้นกลายเป็นทรัพย์มรดกของชาติ
โดย...สมาน สุดโต
เรื่องโบราณสถานในวัดแห่งใดแห่งหนึ่งที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้แล้ว โบราณสถานนั้นกลายเป็นทรัพย์มรดกของชาติที่หน่วยงานราชการ 2 หน่วย ต่างมีกรรมสิทธิ์ คือ วัดที่เป็นนิติบุคคลซึ่งโบราณสถานตั้งอยู่ และกรมศิลปากร ที่กฎหมายให้อำนาจในการปกป้องคุ้มครองทรัพย์มรดกของชาติ
ทำให้วัดและกรมศิลป์ขัดกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่คนละอย่าง
วัดซึ่งเจ้าอาวาสมีฐานะเป็นพระสังฆาธิการ เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ในวัดทุกอย่าง โดยต้องเอื้อเฟื้อต่อกฎหมาย จริยาพระสังฆาธิการ และพระธรรมวินัย ถ้าไม่ทำงานพัฒนา ปฏิสังขรณ์ ก็ถูกตำหนิจากชาวบ้าน และผู้บังคับบัญชาโดยตรง
ดังนั้น เมื่อเจ้าอาวาสมีหน้าที่ีต้องทำ เช่น งานสาธารณูปการ ก็ต้องสะเทือนถึงของเก่า หรือโบราณสถานที่ตั้งในวัด ในกรณีที่โบราณนั้นทรุดโทรม หรือขัดขวางในการปลูกสร้างสิ่งใหม่ จะรื้อ จะพัฒนาก็ทำไม่ได้ ถ้ากรมศิลปากรไม่อนุญาต ทั้งๆ ที่ตั้งในวัดที่เจ้าอาวาสรับผิดชอบโดยตรงแท้ๆ
ปัญหาความรับผิดชอบคนละอย่าง วัดมีหน้าที่สร้าง พัฒนา แต่กรมศิลป์มีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครอง (โบราณสถาน) มักเกิดขึ้นเสมอ ถ้าไม่ได้พูดกันให้รู้เรื่อง
กรณีที่เกิดที่วัดกัลยาณมิตร ปากคลองบางหลวง เป็นตัวอย่าง ที่เจ้าอาวาสพระพรหมกวี (Dr.พระมหาประกอบ หรือพงศ์สันต์ ป.ธ.9 Ph.D.) พัฒนาวัดกัลยาณมิตรที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 190 สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2492 หรือ 66 ปีมาแล้ว
พระพรหมกวีในฐานะเจ้าอาวาสได้สร้างสรรค์งานสาธารณูปการในปี 2546 หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2545 ซึ่งหนังสือชีวิตและผลงานพระพรหมกวี ที่แจกในงานสมโภชหิรัญบัฏ วันที่ 26 ก.พ. 2558 ว่ามีผลงานด้านสาธารณูปการในวัดกัลาณมิตร 28 รายการ ใช้เงินไปทั้งสิ้น 280,165,851 บาท
แน่นอนว่า งานที่ท่านทำนั้นกระเทือนของเก่าที่เป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไปแล้วหลายรายการ ดังเช่นที่ บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร ได้แถลงว่า ทางวัดทุบไป 22 รายการ 1.หอระฆัง 2.อาคารเสวิกุล 3.ศาลาทรงปั้นหยา 4.หอกลอง 5.หอสวดมนต์กัลยาณาลัย 6.ศาลาปากสระ 7.กุฏิคณะ 1 หนึ่งหลัง 8.สร้างอาคาร คสล. 1 ชั้น ทางทิศใต้ 9.บูรณะพระอุโบสถ 10.บูรณะหอพระธรรมมณเฑียร 11.บูรณะวิหารหลวง 12.บูรณะวิหารน้อย 13.รื้อราวระเบียงหิน พื้นหินฯ ที่หน้าพระวิหาร 14.รื้อกุฏิคณะ 4 15.ถมสระน้ำที่คณะ 2 ถมสระน้ำในคณะ 4 17.รื้อกุฏิพระโบราณ 18.รื้ออาคารเก็บอัฐิ 19.รื้อกำแพงแก้วทิศตะวันออกเฉียงใต้ 20.รื้อกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก 21.รื้อศาลาตรีมุข 22.รื้อกุฏิพระโบราณคณะ 1
เมื่อกรมศิลป์แถลงดังกล่าวแล้ว ผู้แทนวัดกัลยาณมิตรโต้ว่า ขออนุญาตทุกรายการ แต่ไม่ได้รับอนุญาตสักรายการเดียว พร้อมกับบอกว่า ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการแจ้งให้ทางวัดทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้การบูรณปฏิสังขรณ์ของวัดอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บูรณปฏิสังขรณ์ หอมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ พระอุโบสถ พระวิหารน้อย ด้วยงบประมาณมากกว่า 700 ล้านบาท
แท้จริงแล้วปัญหาการพัฒนาและการอนุรักษ์มิใช่เกิดเฉพาะที่วัดกัลยาณมิตรนี้เพียงแห่งเดียว เพราะโบราณสถานที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนทั่วราชอาณาจักรมีเป็นจำนวนมาก ทั้งสองฝ่ายต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะเดินทางไปด้วยกันได้อย่างไร เพราะโบราณสถานนั้น ถ้าไม่ดูแลรักษา หรือปฏิสังขรณ์ ย่อมผุพังไปตามกาลเวลา
การจะให้ดำรงคงอยู่เหมือนเดิมนั้น กรมศิลป์มีงบประมาณมาก ต้องฟังเสียงทางวัดที่เป็นเจ้าของพื้นที่ แต่วิธีการให้เข้าใจตรงกันโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องซ่อมสร้างทั้งหลายว่าเป็นไปได้ยาก ถึงกระนั้นก็ยังไม่หมดหวัง นั่นคือกรมศิลปากรเห็นความต้องการของวัด ในขณะที่ทางวัดก็ต้องให้เกียรติกรมศิลปากรที่เป็นผู้รักษากฎหมาย ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ถ้าพบการละเมิดไม่แจ้งความดำเนินคดี จะถูกกล่าวหาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ได้
ส่วนทางวัด โดยเฉพาะเจ้าอาวาสก็ต้องลดทิฐิ ให้มีเมตตาเป็นปุเรจาริก ยึดมั่นในคำสั่งตามใบแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงว่า
พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ที่อยู่ในวัดดังกล่าวข้างต้น จงอยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสที่ได้รับแต่งตั้งแล้วนั้น ซึ่งปฏิบัติการชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศของมหาเถรสมาคม
ดังนั้น จึงขอให้วัดกัลยาณมิตรเป็นกรณีสุดท้าย อย่าให้เป็นสงครามยืดเยื้อเลย เพราะเราคือชาวพุทธ