ลานเพลงลูกกรุงในฟู้ดคอร์ท ... ความสุขของคนวัยเกษียณ
เวทีประชันเพลงลูกกรุงในศูนย์อาหาร พื้นที่เล็กๆที่มอบความสุขใหญ่ๆให้คนสูงวัย
ภาพและเรื่องโดย...นรินทร์ ใจหวัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยเรากำลังเข้าสู่ยุค “คนแก่ครองเมือง” (Longer Old Age) ด้วยจำนวนคนสูงวัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการเอาใจใส่ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยตอบโจทย์นัก เราจึงเห็นคนแก่จำนวนไม่น้อยในสังคม ยังต้องเหงาหงอย นั่งเฝ้าบ้านไปวันๆอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย
แต่หารู้ไม่ ยังมีชุมชนเล็กๆให้เหล่าคนวัยเกษียณได้มีโอกาสได้พบปะสังสรรค์กัน ทั้งยังได้รำลึกอดีตอันแสนหวานด้วยการขึ้นเวทีโชว์ลูกคอร้องเพลงลูกกรุง ณ ศูนย์อาหารบนห้างสรรพสินค้าบางแห่ง เสียงนุ่มๆของนักร้องวัยเก๋า ผสานกับบทเพลงลูกกรุงสุดแสนคลาสสิก เล่นเอาใครหลายคนที่เดินผ่านอดที่จะยิ้มไม่ได้
"ชราโอเกะ" สุขเล็กๆของชาวสว.
น้ำเสียงนุ่มทุ้มแบบหนุ่มยุคเก่า ท่วงท่าการยืนสง่าผ่าเผย แววตาแห่งความสุขยามอยู่บนเวที ทำให้ สกลชัย ไปษยานันท์ เจ้าของธุรกิจเครื่องกีฬาวัย 70 เศษ รู้สึกเหมือนได้กลับมาเป็นบุคคลสำคัญและได้รับการยอมรับอีกครั้ง เหตุนี้เองทำให้เขาเดินทางมาจับไมค์ครวญเพลง ณ ห้องคาราโอเกะบนห้างดิโอลด์สยนามเป็นประจำ
“ไปนั่งฟังเขาร้องเพลงก็เสียเงิน ร้องเองก็เสียเงิน แปลกนะ แต่มันทำให้เรามีความสุขได้” นักร้องรุ่นหลายครามเอ่ยขึ้นเบาๆ แววตาสุขใจฉายออกมาอย่างเห็นได้ชัด
คุณตาสกลชัย เล่าว่า เข้ามาร่วมกิจกรรมร้องเพลงกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกันมานาน10 ปี แล้ว วันธรรมดาจันทร์-ศุกร์ นั่งอยู่บ้านดูแลกิจการตามปกติ วันหยุดสุดสัปดาห์ถึงค่อยออกมาซ่า โดยควงแขน พ.อ.ประชุม ยะคะเสม ข้าราชการบำนาญ มาร้องเพลงกันที่ดิโอลด์สยาม จนกลายเป็นคู่ซี้ทั้งในและนอกเวทีไปแล้ว
“อายุปูนนี้ ไม่รู้ว่าจะตายวันตายพรุ่ง เราต้องทำอะไรที่เราชอบ และให้ความสุขกับเรามากที่สุด แน่นอนมันต้องไม่เดือดร้อนใคร ไม่เดือนร้อนลูกหลาน เราค้นพบว่าการได้ร้องเพลงลูกกรุงเก่าๆที่มีภาษาสวยงาม ดนตรีเพราะๆนี่แหละทำให้เราสบายใจที่สุด จะร้องเพลงที่ไหนก็ได้ ขอให้มีคนฟังเราสัก 6-7 คนก็พอ ทันทีที่เอ่ยปากร้อง ทุกคนก็จะนิ่งเงียบแล้วหันมามองที่เรา นี่แหละคือรางวัลที่ได้รับ ไม่ต้องไปฝึกร้องแข่งกับใครที่ไหน ถ้วยรางวัลของผมผลิตขึ้นเองได้ แต่สิ่งที่เราต้องการคือ เสียงปรบมือของคนฟังที่มอบให้กัน”
เช่นเดียวกับ พ.อ.ประชุม เพื่อนซี้ ที่แม้อายุจะปาเข้าไป 80 แล้ว แต่ยังดูกระฉับกระเฉง โชว์ลูกคอร้องเพลงของนักร้องขวัญใจอย่าง “สุเทพ วงศ์กำแหง” ได้อย่างไม่สั่นคลอนสังขารแม้แต่น้อย
คุณตาประชุม บอกว่า ความสุขของคนแก่วัยเกษียนอย่างเขาคือการได้ร่วมร้องเพลงในสถานที่ต่างๆ ถือเป็นกิจกรรมผ่อนคลายที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด
“ผมมาแต่ละครั้งก็นั่งรถเมล์มา รถจอดไว้ที่บ้านนั่นแหละ สบายใจดี ไม่เกินเที่ยงก็จะหาข้าวกิน อิ่มก็มาร้องเพลงต่อ ไม่เกิน 5โมงเย็นก็กลับบ้าน วันธรรมดาก็ทำธุรกิจเล็กๆน้อยๆของเราไป แต่เสาร์-อาทิตย์ต้องมาที่นี่ ขาดไม่ได้เลย มาเจอเพื่อนซี้ คู่บัดดี้คนนี้แหละ”พูดจบก็เอื้อมมือไปโอบไหล่คุณตาสกลชัย แล้วพากันหัวเราะครื้นเครง จากนั้นจึงขอตัวเดินไปโค้งหญิงสาวคนหนึ่งเชิญมาเต้นลีลาศ ภายใต้เสียงดนตรีเพลงจังหวะเร้าอารมณ์ ท่วงท่าสง่างามไม่แพ้ชายหนุ่มรุ่นๆเลยทีเดียว
พ.อ.ประชุม ยะคะเสมโชว์การเต้นลีลาศ
ถึงสังขารจะร่วงโรย แต่ใจไม่โรยรา
หากจะกล่าวถึงตำนานของเพลงลูกกรุงในฟู้ดคอร์ทแล้ว คงมองข้ามศูนย์อาหารชั้น 3 ของห้างสรรพสินค้าเก่าแก่อย่าง ดิโอล์ด สยาม ไปไม่ได้ สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมเหล่าบรรดาชายหญิงสูงวัย หัวใจเดียวกันไว้เพียบ บ้างจับกลุ่มนั่งคุย บ้างมาสั่งอาหารทานร่วมกัน และแน่นอน กิจกรรมร้องเพลงลูกกรุงกับดนตรีสดอันเลื่องชื่อ ยังคงเป็นความสุขอันดับหนึ่งที่ทุกคนที่นี่ต่างผลัดกันขึ้นไปโชว์พลังเสียง
มณฑา พิณเวศน์ วัย 73 หญิงชราที่พี่น้องผองเพื่อนพร้อมใจยกให้เป็นประธานชุมชนคนสูงวัยรักเสียงเพลง ดิโอลด์สยาม เธอบอกว่า มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆได้เพียงอาทิตย์ละ 2 วัน คือเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น เพราะช่วงวันธรรมดาต้องทำหน้าที่เฝ้าบ้าน แทนลูกหลาน หัวใจอันร้อนรุ่มถึงขนาดต้องนับวันรอว่าเมื่อไหร่จะเป็นเวลาที่ได้ออกมาพบปะกับเพื่อนๆเสียที
“ยายนั่งแท็กซี่มากจากเกษตรค่ะ มีความสุขทุกครั้งที่มาเจอเพื่อนๆ ที่นี่เป็นดนตรีสด ไม่เหมือนที่อื่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นคาราโอเกะ ราคาจึงสูงกว่าที่อื่นเล็กน้อย วันเสาร์-อาทิตย์จะเพลงละ 25 บาท ส่วนวันธรรมดา 20 บาทต่อเพลง แต่มันเป็นความสุขทางใจ เราได้มารู้จักเพื่อนๆ จากมาครั้งแรก หลายคนติดใจมาบ่อยๆจนสนิทกัน ไม่ร้องเพลงก็มานั่งคุย นั่งทานอาหาร บางคนเรียนเต้นรำมาก็มาเต้นโชว์ บางคนไม่ร้องก็ช่วยเคาะแทมบูรีน เขย่าลูกแซกเพิ่มจังหวะให้ อยากให้ลูกๆหลานๆ พาคนแก่ที่บ้านมาทำกิจกรรมแบบนี้บ้าง เพราะเชื่อว่ายังมีคนแก่อีกเยอะที่ไม่มีโอกาสเหมือนเรา”คุณยายมณฑารอยยิ้มกว้างด้วยความสุขใจ
ขอที่ยืนให้คนแก่
ชนิตา ปัญโญใหญ่ อดีตข้าราชการพยาบาลผู้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของธุรกิจคาราโอเกะเพื่อคนสูงวัย ซึ่งจัดขึ้นบนชั้น 5 ฟู้ดคอร์ทเซ็นเตอร์ ห้างพันทิพย์พลาซ่า งามวงศ์วาน เล่าให้ฟัง หลังหยุดกิจการไปนาน 2เดือน เพราะหมดสัญญาเช่า ระหว่างนั้นมีลูกค้าขาประจำผลัดกันโทรถามตลอดว่าร้านจะเปิดอีกเมื่อไหร่ เพราะคิดถึงเพื่อน อยากร้องเพลงด้วยกัน กระทั่งตอนนี้กลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง เหล่านักร้องรุ่นเก๋าทั้งหลายก็กลับมาอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
“ตรงนี้เป็นเหมือนที่แบ่งปันความสุข คนแก่จะพากันมาแชร์ประสบการณ์ที่ตัวเองมี เป็นเรื่องดีมาก เพราะส่วนหนึ่งจะช่วยให้คนแก่คลายเหงา ลดภาวะซึมเศร้าลงไปได้มาก จากประสบการตอนเป็นพยาบาล ป้าก็จะทำโครงการดนตรีเพื่อความสุขของคนสูงอายุอยู่แล้ว บางคนก็เข้ามาร้องเพลงได้ อาสาสมัครทั้งหมดก็ล้วนแต่เป็นคนแก่ทั้งนั้น ทั้งคนร้องทั้งคนรอก็พากันสบายใจ รอพบหมอกันอย่างไม่เครียด เราก็เป็นคนแก่เหมือนกัน มาทำกิจกรรมแบบนี้เราก็พลอยมีความสุขไปด้วย คนแก่ทุกคนก็ยังคิดว่าตัวเองยังทำงานได้ ยังมีศักยภาพพอที่ในการทำงาน โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลานมาก แต่บางคนต้องอยู่เฝ้าบ้าน เลยขาดความสุขที่ได้อยู่กับเพื่อนๆรุ่นเดียวกันไป
ภาพที่เกิดขึ้นนี้เป็นภาพที่น่ารักนะ บางครอบครัวลูกหลานเข้าใจก็พามาส่งเลย บางคนก็ให้เงินมาเที่ยวด้วย ป้าเป็นตัวแทนคนแก่คนหนึ่งก็อยากให้ลูกหลานเห็นความสำคัญกับกิจกรรมคนแก่แบบนี้ พาเขาออกมาบ้าง ที่ไหนก็ได้ มีอยู่เยอะนะกิจกรรมแบบนี้ ทั้งธนบุรี ดอนเมือง ปิ่นเกล้า และอีกหลายๆแห่ง ถือเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนค่ะ”
นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้เห็นรอยยิ้มของปู่ย่าตายาย พ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่เรารัก ทั้งที่เราพยายามทำงานหาเงินเพื่อความสุขของท่านมาตลอด ทว่าหลายคนคงหลงลืมไปว่าความสุขเล็กๆของคนแก่ เรื่องเงินอาจไม่สำคัญเท่าการมีที่ยืนและมีตัวตน.