110 ปี แห่งการเลิกทาสไทย
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ นั้น มีพระราชดำริอันยิ่งใหญ่ว่า
โดย...รัชนี ทรัพย์วิจิตร
เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ นั้น มีพระราชดำริอันยิ่งใหญ่ว่า
"...การสิ่งไรซึ่งเปนการเจริญมีคุณแก่ราษฎร ควรเปนไป ให้ทีละเลกละน้อยตามกาลเวลา การสิ่งไรซึ่งเปนธรรมเนียม บ้านเมืองมาแต่โบราณ แต่ไม่สู้เปนยุติธรรม ก็หยากจะเลิกถอนเสีย"
พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่งตามพระราชดำริที่ทรงกำหนดไว้ ที่นักประวัติศาสตร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ กล่าวสรรเสริญ พระบารมีไปทั่วทุกสารทิศคือ การเลิกทาส อันนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย เพราะ ทาส เป็นสถาบันที่มีมากว่า 500 ปี ความสำเร็จครั้งนี้มิใช่อยู่ที่ "ทรงประกาศเลิกทาส" หากแต่อยู่ที่ว่า "ทรงดำเนินการเลิกทาสได้โดยเรียบร้อย ละมุนละม่อมไม่เสียเลือดเนื้อ" ดังเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะ เลิกทาส มาตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ แต่ขัดข้องด้วยโบราณ ราชประเพณีของบ้านเมืองจะหาผู้ที่สนับสนุนพระราชดำรินั้นได้ยาก เพราะบุคคลชั้นสูงต้องใช้แรงงานทาสทำงานต่างๆ ช่วยกิจการบ้านเรือน หากเลิกทาส คือปล่อยคนสำหรับใช้สอยไปหมด ก็จะไม่สามารถเลี้ยงตัวได้ การจ้างแรงงานคนใช้แทนทาสก็เป็นการสิ้นเปลือง นายเงินเจ้าของทาส จึงต้องเอาใจใส่เลี้ยงดูทาสให้กินอยู่ใช้สอยแต่พอสมควร ส่วนทาสนั้นก็เข้าใจว่า หากพ้นจากเป็นทาสจะกลับได้รับความเดือดร้อนต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพเอง มีความลำบากกว่าการเป็นทาสที่นายเงินเลี้ยง
ดังนั้น พระราชดำริจะ เลิกทาส ในระยะแรก จึงขัดกับความนิยมของมหาชน คงเกิดเรื่องยุ่งยากขึ้นอย่างแน่นอน จึงทรงหาวิธีที่จะเลิกทาสโดยไม่ให้คนเหล่านั้นรู้สึกเดือดร้อน ทรงใช้วิธี เกษียณอายุ นั่นคือ กำหนดค่าชดใช้ที่นายต้องเลี้ยงดู ให้บรรดาลูกทาสลูกไทที่เกิดในรัชกาลของพระองค์ ตั้งแต่ปีมะโรง พุทธศักราช 2411 พ้นจากการเป็นทาส ได้ประกาศใช้ "พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาษลูกไท" เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ปีจอ จุลศักราช 1236 ตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม พุทธศักราช 2417 ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ อันเป็นสถานที่พระบรมราชสมภพของพระองค์
แต่เพราะจุลศักราช 1230 ปีมะโรงสัมฤทธิศก ตรงกับพุทธศักราช 2411 เป็นปีที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ บรมราชาภิเษกในพระมหาเศวตฉัตรเป็นปีมหามงคลอันประเสริฐ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งปีมะโรง สัมฤทธิศกเป็นต้น พระราชบัญญัติลักษณะลูกทาส คือให้บังคับใช้กฎหมายนี้ย้อนหลัง 6 ปี โดยถือว่า ปีมะโรงที่ทรงได้รับราชสมบัติเป็นปีเริ่มพระราชบัญญัติ ดังนั้นผู้ที่เกิดปีที่ทรงได้รับราชสมบัติแม้จะเกิดเป็นลูกทาสก็พ้นจากความเป็นทาสอย่างช้าที่สุดเมื่ออายุ 21 ปี คือในพุทธศักราช 2432 ส่วนผู้ที่เกิดปีถัดมาก็พ้นความเป็นทาส ใน พุทธศักราช 2433 เช่นนี้เรื่อยไป และผู้ที่เกิดตั้งแต่พุทธศักราช 2432 เป็นต้นไป ได้เป็นไททั่วกันหมด แม้จะสมัครเป็นทาสก็ไม่สามารถเป็นได้ การกระทำดังนี้ในระยะแรกทำให้ทาสในเมืองไทยหมดสิ้นไปเป็นหมื่นคน
เมื่อออกประกาศนั้นไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือแสดงความยินดี เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติมีเพียงเด็กอายุ 6 ขวบเป็นอย่างมาก มีเพียงเสียงเล่าลือบ้างแล้วก็เงียบหายไป เริ่มมีปัญหาเมื่อผ่านพ้นไปหลายปี เนื่องจากบิดามารดาใช้อุบายขายลูกที่เป็นไทตามพระราชบัญญัติให้กลับเป็นทาสด้วยการหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติ จึงทรงออกประกาศฉบับต่อๆ มาอีกหลายฉบับ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีน้ำพระทัยเมตตาปรานีแก่พสกนิกรของพระองค์ "ประดุจบิดาปรานีบำรุงเลี้ยงดูบุตรอันเป็นที่รัก" ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระองค์ทรงประกาศเลิกทาสแล้ว ก็ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ประการหนึ่ง อันแสดงถึงน้ำพระทัยต่อทาสด้วยคือ ในคราวเฉลิมพระชนมพรรษา 2 รอบ พุทธศักราช 2420 พระองค์ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์วันละบาทหนึ่ง ในการที่ทรงเจริญพระชนมายุ 24 พรรษา เป็นเงิน 8,767 บาท พระราชทานช่วยทาสซึ่งขายตัวอยู่กับนายเงินคนเดียวมาตั้งแต่ พุทธศักราช 2396 รวมทั้งลูกหลานของทาสนั้นด้วย เพราะมีพระราชดำริว่า
"พวกทาษซึ่งอยู่กับนายเงินเดียวถึง 25 ปี คงจะเปนคนดี มากกว่าคนชั่ว ภอจะตั้งตัวทำมาหากินให้เปนศุขได้ตามกำลัง ประการหนึ่งคนเหล่านี้ ต้องทนทุกขยากเปนทาษมาช้านาน ถึง 25 ปีขึ้นไป มิได้คิดยักย้ายเปลี่ยนแปลงจากนายของตัว สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดให้พ้นทาษได้"
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยไถ่ตัวให้พ้นจากทาส รวมทาสชายหญิงและลูกทาสทั้งสิ้น 44 คน อีกทั้งโปรดเกล้าฯ พระราชทานไร่นาและเครื่องใช้สอยต่างๆ สำหรับประกอบการทำมาหากินต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม "พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาษลูกไท" นั้น แม้จะใช้บังคับทั่วพระราชอาณาจักร แต่ความจริงกลับปรากฏว่า มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ มณฑลบูรพาและมณฑลไทรบุรี รวมทั้ง เมืองกลันตันและเมืองตรังกานู ไม่ได้มีผลใช้บังคับด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเลิกทาสในมณฑลทั้ง 3 ในเวลาต่อมา โดยเริ่มประกาศใช้ในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือก่อน ทรงถือเอาวันเสด็จ พระราชดำเนินกลับจากยุโรป เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2440 เป็นวันกำหนดให้ลูกทาสที่เกิดก่อนและในวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2440 เป็นวันเลิกทาสในมณฑลนี้ ส่วนมณฑลบูรพาและมณฑลไทรบุรี ก็ได้ทรงออกประกาศเกี่ยวกับทาสเมื่อ พุทธศักราช 2447 และ พุทธศักราช 2448 ตามลำดับ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีพระราชประสงค์ที่จะให้ทาสในประเทศไทยหมดไปในรัชกาลของพระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติทาษรัตนโกสินทร์ ศก 124" ขึ้น ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2448 เป็นต้นไป บรรดาลูกทาสจึงได้เป็นไททั้งหมด และหมดไปโดยสิ้นเชิงในทุกภาคทุกมณฑลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 มกราคม พุทธศักราช 2454
ในโอกาสวันครบรอบ 110 ปี แห่ง การเลิกทาส 1 เมษายน พุทธศักราช 2558 เหล่าพสกนิกรชาวไทยทั้งปวง ต่างสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระเมตตาบริจาคมหาทานอันประเสริฐยิ่ง ให้อาณาประชาราษฎร์ได้เป็นไทยแท้สมนามแห่งชาติ ไม่มีผู้ใดเป็นทาสอีกต่อไป คงเหลือไว้เพียง ประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำและพระมหากรุณาธิคุณอันสูงสุดแห่ง พระปิยมหาราช เท่านั้น