posttoday

เปรียบเทียบยาแรง "มาตรา44-อัยการศึก"

02 เมษายน 2558

เปรียบเทียบขอบเขตอำนาจระหว่าง "กฎอัยการศึก" และ คำสั่งคสช.ตาม "มาตรา44" ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

โดย...เจษฎา จี้สละ

การยกเลิกกฎอัยการศึกพร้อมกับออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่3/2558 ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 มาตรา 44 ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่าระหว่าง "กฎอัยการศึก" กับ "มาตรา44" อันไหนมีขอบเขตอำนาจมากกว่ากัน

ย้อนเนื้อหาอัยการศึก

สำหรับสาระสำคัญของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก กำหนดให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือกว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ซึ่งผู้ประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญา รวมถึงคดีที่เกี่ยวกับความมั่นของประเทศ

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจในการ “ตรวจค้น” สิ่งต้องห้ามหรือมีไว้ครอบครองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งสามารถตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ เคหะสถาน หรือที่ใด รวมถึงตรวจข่าสาร สื่อสิ่งพิมพ์ และภาพโฆษณาต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีอำนาจ “ห้าม” ไม่ให้บุคคลกระทำการตามที่เจ้าหน้าทีฝ่ายทหารกำหนด คือ1. ห้ามมั่วสุมประสุมประชุมกัน 2. ห้ามออก จำหน่าย จ่ายแจก สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพ ฯลฯ 3. ห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ รับหรือส่งซึ่งวิทยุ วิทยุ กระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ 4. ห้ามใช้ทางสาธารณะเพื่อการจราจรไม่ว่าทางบก น้ำ อากาศ รถไฟ หรือทางรถราง 5. ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารหรือาวุธที่สามารถก่ออันตรายกับบุคคลอื่น  6. ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนด 7. ห้ามบุคคลเข้าไปหรืออาศัยอยู่ในเขตท้องที่ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าจำเป็น และ 8. ห้ามบุคคลกระทำกิจการใดที่เป็นข้อห้ามตามที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกำหนด

ส่วนกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนต่อกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถกักตัวบุคคลเพื่อสอบถามหรือกระทำการตามจำเป็น แต่จะกักตัวได้ไม่เกิน 7 วัน อย่างไรก็ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติภารกิจภายใต้กฎอัยการศึก จะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหารหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้

มาตรา 44 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้มข้น

ขณะที่สาระสำคัญของมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว บัญญัติให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อป้องกันและปราบปรามการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ซึ่งทุกการกระทำตามอำนาจนั้นจะมีผลบังคับไม่ว่าจะเป็นนิติบัญญัติ บริการ และตุลาการ โดยหัวหน้า คสช. จะต้องรายงานต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกฯ ทราบโดยเร็ว

ทั้งนี้ คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 3/2558 ควบคู่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทันที โดยอำนาจยังอยู่กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร คือ ข้าราราชการทหารที่มียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป ในฐานะ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” เพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 107 และ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และสิ่งเทียมอาวุธปืน รวมถึงผู้ฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของ คสช.

สำหรับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ ประกอบด้วย 1. ออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานฯ 2. จับกุมตัวบุคคลที่จะกระทำผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนำส่งพนักงานสอบสวน 3.ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน 4. เจ้าพนักงานฯ สามารถเข้าไปตรวจคค้นในสถานที่ใดๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลซึ่งกระทำผิดหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำผิด ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ และ 5. ยึดหรือายัดทรพัย์สินที่ตรวจค้นนั้น

นอกจากนั้นเจ้าพนักงานฯ ยังมีอำนาจ “สั่งห้าม” การนำเสนอข่าว จำหน่าย หรือเผยแพร่หนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่อใด ที่จะทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป หากฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่หลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นกระทำผิด สามารถ “เรียกตัวบุคคล” มาสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคำ ซึ่งหากยังไม่แล้วเสร็จสามารถควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน

อย่างไรก็ตามผู้ใดฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ ในข้างต้น หรือต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา44อำนาจกว้างกว่าอัยการศึก

กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายทั้งคู่มีความใกล้เคียงกัน สำหรับกฎอัยการศึกจะใช้ในสถานการณ์ที่เกิดจลาจล สงคราม หรือเหตุความไม่สงบ ขณะที่มาตรา 44 ใช้ในสถานกาณ์ที่มีเหตุจำเป็น เพื่อป้องกันวิกฤตของบ้านเมืองด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ใช่วิกฤตสงครามก็ได้ ฉะนั้นอำนาจตามมาตรา 44 จึงกว้างกว่าอำนาจตามกฎอัยการศึก

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นรัฐบาลในสถานปกติ เมื่อวิกฤตจะออกเป็นพระราชกำหนดในสถานการฉุกเฉินเร่งด่วน เพื่อออกกฎหมายโดยขอความเห็นชอบจากรัฐสภาในการอนุมัติ แต่อำนาจตามมาตรา 44 รัฐบาลไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา เพราะมีอำนาจอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะใช่เมื่อไหร่ จะวางกฎ หรือไม่วางกฎ เป็นเรื่องของเขา ซึ่งเขาเพิ่งจะออกกฎเกณฑ์เรื่องความสงบเรียบร้อยในประเทศ (ประกาศฉบับ 3/2558) รวบอำนาจรักษาความสงบไว้ในมือทหาร แทนที่จะอยู่ในข้าราชการปกครองและตำรวจ เหมือนกฎอัยการศึก แต่ไม่ใช่กฎอัยการศึก”

นักวิชาการด้านกฎหมายรายนี้ กล่าวสรุปว่า ไม่ว่ากฎอัยการศึกหรือมาตรา 44 จะผูกมัดผู้ใช้ หรือ คสช. เพราะประกาศใช้เพื่อรักษาความสงบ ซึ่งหากใช้อำนาจไปในทางที่ผิดหรือก่อความไม่สงบเสียเอง เจ้าพนักงานฯ ก็จะมีความผิดเช่นกัน ขณะที่กระบวนการยุติตามมาตรา 44 จะมีความรุนแรงน้อยกว่ากระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎอัยการศึก เพราะจะใช้วิธีพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลทหาร