posttoday

พระยาพหลฯ เชษฐบุรุษ นายกรัฐมนตรี 5 สมัย

05 เมษายน 2558

เมื่อเอ่ยนามนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ทุกคนรู้ว่าท่านคือหัวหน้าคณะราษฎร

โดย...ส.สต

เมื่อเอ่ยนามนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ทุกคนรู้ว่าท่านคือหัวหน้าคณะราษฎร ในการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่หลายท่านอาจลืมไปแล้วว่าท่านคือเชษฐบุรุษ และนายกรัฐมนตรี 5 สมัย

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นักสะสมหนังสือหายาก เจ้าของสำนักพิมพ์ต้นฉบับ มารื้อฟื้นความทรงจำ และบอกเล่าอนุชนให้ทราบถึงเกียรติภูมิอดีตผู้นำของชาติ โดยสรรหาภาพหายากของนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามารวมเล่ม แบ่งเป็น 2 ภาค ภาคที่ 1 หนา 208 หน้า ภายในบรรจุภาพเล่าเรื่องตั้งแต่ปฐมวัย ส่วนภาพปกเป็นภาพขบวนแห่ของกรมแผนที่ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ มีข้อความที่เขียนในแผ่นผ้าว่าได้เสมอภาค เพราะรัฐธรรมนูญ โดยมีภาพนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาในวงกลมแทรกอยู่ ภาพปกหลังเป็นภาพรับเสด็จนิวัตพระนครของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2480 และภาพนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบบก ถ่ายกับนักเรียนนายร้อยราว พ.ศ. 2470

หนังสือสมุดภาพภาค 1 มี 2 ภาษาไทย อังกฤษ ซึ่ง ดร.พีรศรี โพวาทอง รับหน้าที่บรรยายภาษาอังกฤษ

 

พระยาพหลฯ เชษฐบุรุษ นายกรัฐมนตรี 5 สมัย พระยาพหลฯ กับครอบครัว

 

ภาคที่ 1

เนื้อหาภายในเล่ม เล่าประวัติปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดที่บ้านข้างวัดราชบูรณะ หรือวัดเลียบ เรียนหนังสือที่โรงเรียนสุขุมาลลัย วัดพิชยญาติการาม บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกัลยาณมิตร เป็นนักเรียนนายร้อย เมื่อสอบชั้นที่ 5 ขึ้นชั้นที่ 6 สอบได้ที่ 1 ได้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2447 เรียนจบใน 3 ปี ไปศึกษาต่อที่เดนมาร์ก แต่ไม่ทันเข้าเรียนชั้นสูงต้องถูกเรียกตัวกลับ ถูกส่งตัวไปประจำการทหารปืนใหญ่ที่ 4 จ.ราชบุรี เมื่อเดือน ส.ค. 2457

ประวัติบางส่วนบางตอน ให้เยาวชนถือเป็นแบบอย่างได้ เช่น ความพยายามเอาชนะในการเรียน เมื่อรู้ว่าอ่อนวิชาอะไร ก็พยายามถึงที่สุดจนได้รับคำชมจากอาจารย์ เมื่อเรียนวิชาประวัติศาสตร์สากลที่ถูกตำหนิว่าอ่อน แต่ด้วยความเพียรพยายาม จนทำคะแนนได้ลำดับต้นๆ

เมื่อเป็นสมุดภาพจึงเล่าเรื่องร้อยเรียงสั้นๆ แต่ให้ภาพบอกความละเอียดทั้งมวล ได้ทั้งอรรถรส ทั้งทางวรรณกรรม และภาพหายาก

ประวัติย่อ

พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นบุตรคนที่ 5 ของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) กับคุณหญิงจับ พหลพลพยุหเสนา เกิดวันที่ 29 มี.ค. 2430 ที่บ้านหน้าวัดราชบูรณะ เริ่มเรียนหนังสือไทยกับบิดา, โรงเรียนสุขุมาลลัย ณ วัดพิชยญาติการาม โรงเรียนนายร้อยทหารบก และสุดท้ายได้ไปศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2447เมื่อกลับประเทศสยาม (พ.ศ. 2457) ได้รับราชการประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 จ.ราชบุรี (ยศเป็นร้อยโท) ถึงเดือน เม.ย. 2459 เลื่อนยศเป็นร้อยเอก และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสรายุทธสรสิทธิ์ ครั้นถึงเดือน เม.ย. 2462 ได้รับยศเป็นพันตรี ต่อมา พ.ศ. 2466 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นพระสรายุทธสรสิทธิ์ ยศพันโท และ พ.ศ. 2471 ได้เลื่อนยศเป็นพันเอก

พระยาพหลฯ เชษฐบุรุษ นายกรัฐมนตรี 5 สมัย เมื่อเป็นนักเรียนนายร้อยที่เยอรมนี

 

วันที่ 6 พ.ย. 2474 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา

ครั้นวันที่ 24 มิ.ย. 2475 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

พ.ศ. 2476 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เป็นที่ปรึกษา โดยรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวม 5 สมัย (พ.ศ. 2476-2481)

วันที่ 6 ก.ค. 2484 ลาออกจากราชการเพื่ออุปสมบท ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน (ขณะนั้นตั้งชื่อว่าวัดประชาธิปไตย)

วันที่ 20 เม.ย. 2485 เป็นหัวหน้าคณะทูตฉลองกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

วันที่ 2 ธ.ค. 2485 ได้รับพระราชทานยศเป็นพลเอก

วันที่ 20 พ.ย. 2486 ได้รับพระราชทานยศเป็นพลเรือเอก พลอากาศเอก

ครั้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2488 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ล้มป่วยลงด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตกจนเป็นอัมพาต

วันที่ 13 ก.พ. 2490 อาการทรุดลง หายใจลึกและสะท้อน ชีพจรอ่อน จนถึงเวลา 03.05 น. ของวันที่ 14 ก.พ. 2490 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เชษฐบุรุษก็ได้ถึงอสัญกรรม สิริอายุได้ 60 ปี

ภาคที่ 2

ภาคที่ 2 ว่าด้วยเรื่องปราบกบฏ พ.ศ. 2476 หนา 200 หน้า ภาพปกหน้าและหลังเป็นภาพขบวนแห่ศพทหารที่พลีชีพในการปราบกบฏบวรเดช เพื่อนำไปพระราชทานเพลิงศพ ณ ท้องสนามหลวง

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เขียนคำนำภาค 2 ว่าเป็นผลงาน
สมุดภาพเล่มแรก พ.ศ. 2558 ของสำนักพิมพ์ที่ตั้งปณิธานว่าจะผลิตหนังสือสมุดภาพออกมาทุกปี

สมุดภาพภาค 2 เป็นภาพเล่าเรื่องการปราบกบฏ พ.ศ. 2476 ที่จัดเก็บไว้ที่ศูนย์กลางทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี เป็นผลงานลำดับที่ 39 ของสำนักพิมพ์

นอกจากภาพหายากแล้ว คำนิยมโดย ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีคุณค่า ทำให้เห็นภาพรวม ภาพกว้างของการเมืองไทยในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้แจ่มแจ้ง หาอ่านที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว

หนังสือที่ว่านี้หาซื้อได้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 6 เม.ย.เป็นวัดสุดท้าย