กระชับอำนาจทหาร คสช.เร่งปั๊มผลงาน
นับเป็นจังหวะก้าวเดินครั้งสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
นับเป็นจังหวะก้าวเดินครั้งสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และประชาชนโดยส่วนรวม เมื่อวันที่ 8 เม.ย. โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44
เป็นการใช้อำนาจมาตรา 44 ครั้งที่สองในรอบหนึ่งสัปดาห์นับจากการออกคำสั่งที่ 3/2558 ของหัวหน้า คสช. เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติการทำงานของฝ่ายความมั่นคงภายหลังยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึก
สาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2558 คือ การให้ทหารมีอำนาจเทียบเท่าตำรวจ
การใช้อำนาจที่ว่านั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐมนตรีประจำกระทรวงจะขอแรงไปยัง รมว.กลาโหม ก่อนจะส่งเรื่องไปให้หัวหน้า คสช.มีคำสั่งให้ทหารออกมาดำเนินการ
“ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจขอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคําสั่งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอํานาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งหรือหลายฉบับ เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายนั้นให้เป็นไปอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ
ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ได้รับมอบหมายมีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้น รวมทั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา” ส่วนหนึ่งของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2558
แน่นอนว่าการใช้ยาสามัญมาตรา 44 ถึงสองครั้งในรอบสัปดาห์กำลังสะท้อนถึงนัยทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต้องยอมรับว่าในระยะหลังมานี้ คสช.เจอปัญหาในการทำงานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการติดขัดในเรื่องกฎหมายที่ทหารไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เฉพาะเจาะจงในบางกรณี ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาของประเทศที่ไม่ใช่เรื่องการเมืองและความมั่นคงอย่างปัญหาการบุกรุกที่ดิน หรือการจัดระเบียบสังคม ยังไม่ค่อยได้ดั่งใจ คสช.เท่าไหร่นัก
ภายใต้กฎหมายปกติ ทหารจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่ในสถานการณ์พิเศษได้มากนัก เพราะจะทำอะไรที่ต้องรอเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่และเกี่ยวข้องขยับตัวก่อน
เช่น การกวาดล้างบ่อนการพนันก็ต้องให้ตำรวจเป็นฝ่ายนำ การแก้ไขปัญหาคนบุกรุกที่ดินสาธารณะก็จำเป็นต้องรอกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับการจัดระเบียบทางเท้าใน กทม. ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายคืนความสุขให้ประชาชนของ คสช. ที่จะคิดลงมือทำอะไรก็ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานของกรุงเทพมหานครก่อน เป็นต้น
เมื่อปัญหาสะสมมากขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้ ผลที่ตามมาก็คงหนีไม่พ้นการเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ต้องพุ่งตรงมาที่ คสช.ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ยิ่งปัญหาต่างๆ ไม่ได้รับการสะสางนานเท่าไหร่ กระแสแง่ลบที่จะมีต่อ คสช.ย่อมต้องมากขึ้นเท่านั้น ท้ายที่สุดทุกอย่างจะตกมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปโดยปริยาย
ดังนั้น คสช.จึงไม่มีทางเลือกนอกจากการใช้อำนาจพิเศษเข้ามาแก้ไขปัญหา
แต่กระนั้นการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ชุดใหญ่รอบนี้ ด้านหนึ่งอาจเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสียเช่นกัน โดยเฉพาะการถูกเพ่งเล็งว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าความจำเป็นหรือไม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาของประเทศจำนวนมากจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่การใช้อำนาจพิเศษดังกล่าวจะมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการใช้มาตรา 44 ของ คสช.
รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 มีระบบตรวจสอบเพียงแค่การกำหนดหัวหน้า คสช.ต้องรายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งในที่นี้หมายถึงแค่การรับทราบเท่านั้น ให้ความเห็นในเชิงคัดค้านเพื่อให้การใช้อำนาจตามมาตรา 44 สิ้นสุดไปไม่ได้
ต่างจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในเวลานั้นมาตรา 15 ก็ได้บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศเช่นกัน
กล่าวคือ กำหนดให้จัดทำเป็นพระราชกำหนดที่มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ พร้อมวางกลไกตรวจสอบด้วยการให้ สนช.สามารถลงมติได้ว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่
ถ้า สนช.ลงมติเห็นชอบก็บังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติ แต่ถ้าไม่เห็นชอบ จะมีผลให้พระราชกำหนดตกไป โดยไม่กระทบต่อสิ่งที่ได้ดำเนินการตามพระราชกำหนดก่อนเสนอพระราชกำหนดเข้าสู่ที่ประชุม สนช.
คสช.จะมีมาตรการใดที่ทำให้สังคมไว้วางใจได้ว่าการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกตรวจสอบถ่วงดุล ป้องกันไม่ให้ใช้อำนาจครอบจักรวาลเกินกว่าความเหมาะสมและความจำเป็น เพราะเพียงแค่การให้ สนช.รับทราบถึงการใช้มาตรา 44 ไม่ใช่หลักประกันที่ดีเท่าไหร่นัก
เพราะฉะนั้น หากในระยะยาว คสช.ยังคงใช้มาตรา 44 ในลักษณะของการกำหนดมาตรการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยปราศจากการวางระบบตรวจสอบ ย่อมเป็นรอยด่างสำคัญของ คสช.ในอนาคต แม้ว่า คสช.จะมีเจตนาที่ดีก็ตา