เทคโนเวิลด์
แอลจี ดิสเพลย์ เปิดตัวโทรทัศน์รุ่นใหม่ล่าสุดที่บางที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีขนาดจอ 55 นิ้ว บางเท่ากับแผ่นดีวีดี
‘แอลจี’ เปิดตัวทีวี 55 นิ้ว บางที่สุดในโลก
แอลจี ดิสเพลย์ เปิดตัวโทรทัศน์รุ่นใหม่ล่าสุดที่บางที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีขนาดจอ 55 นิ้ว บางเท่ากับแผ่นดีวีดี และมีน้ำหนักน้อยกว่า 2 กิโลกรัม ในขณะที่สามารถยึดติดกับผนังได้ด้วยแม่เหล็กพิเศษ อย่างไรก็ตามแม้แอลจีจะยังไม่วางขายโทรทัศน์ดังกล่าวในเร็ววันนี้ แต่การเปิดตัวนวัตกรรมดังกล่าวก็แสดงให้เห็นศักยภาพที่จะผลิตโทรทัศน์โอเลต ที่จะแสดงภาพได้คมชัดยิ่งกว่าจอแอลซีดีและมาพร้อมกับความยืดหยุ่นและน้ำหนักเบา โดยเทคโนโลยีโอเลตนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการต่อยอดพัฒนาอุปกรณ์ เช่น กล้องดิจิทัล สมาร์ทวอทช์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือในอนาคตต่อไป
คอนกรีตสมานรอยแตกด้วยแบคทีเรีย
ไม่ว่าคอนกรีตของบ้านหรืออาคารจะทนทานแข็งแกร่งเพียงใด ก็ย่อมมีวันแตกหักสึกกร่อนได้หลังเผชิญหน้าท้าทายฝ่าลมฟ้าอากาศ โดยเฉพาะน้ำฝนมานานหลายสิบปี ส่งผลให้เจ้าของบ้านต้องเสียเงินและเวลามานั่งซ่อมแซม งานนี้ เฮนดริก มาริอุส จุนเกอร์ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟ์ตในเนเธอร์แลนด์ จึงทดลองสร้างคอนกรีตมีชีวิตที่สามารถรักษาตัวเองได้ด้วยการผสมแบคทีเรียและอาหารของแบคทีเรียอย่างแคลเซียมแลคเตทลงไปในคอนกรีต ทำให้เมื่อเกิดรอยแตกและมีน้ำหยดลงไปในรอยแตกนั้น แบคทีเรียจะตื่นขึ้นมากินอาหารและอุดรอยแตกดังกล่าว นอกจากนี้แบคทีเรียบางตัวที่สามารถหาได้ใกล้ภูเขาไฟ ยังมีความสามารถทนต่อความร้อนและความเย็นได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณสมบัติแข็งแกร่งทนทานของคอนกรีตได้อีกขั้นหนึ่ง
โดรนจิ๋วพับได้ถ่ายภาพภัยพิบัติ
โดรนกลายเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย นอกเหนือจากประโยชน์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมานานในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กระนั้น ด้วยขนาดที่เทอะทะและน้ำหนักมากจนยากต่อการพกพา ทำให้ สเตฟาโน มินช์เชฟ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ชีวะ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ เดินหน้าพัฒนาโดรนที่มีขนาดเล็กเพียงฝ่ามือ และมีน้ำหนักเบาเพียง 36 กรัม โดยผลิตจากเส้นใยไฟเบอร์กลาสและพลาสติกขนาดเบา แถมเมื่อใดก็ตามที่ไม่ได้ใช้งาน โดรนจิ๋วดังกล่าวจะสามารถพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูด้วยตัวเองทำให้พกพาสะดวก นอกจากนี้ด้วยขนาดที่เล็กมากจึงสามารถเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยพิบัติและถ่ายภาพสถานที่ดังกล่าว พร้อมติดต่อกับผู้ประสบภัยได้อีกด้วย
หุ่นยนต์สองแขนเพื่อผู้ป่วยระบบประสาท
นักวิจัยจากโรงเรียนวิศวกรรมคอกค์เรลล์ แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส สหรัฐ พัฒนา “ฮาร์โมนี” หุ่นยนต์โครงกระดูกที่มีลักษณะครอบส่วนบนของร่างกาย เพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทผิดปกติจากหลายสาเหตุ เช่น กระดูกสันหลังได้รับความเสียหาย หรือเส้นเลือดแตกในสมองได้เร็วขึ้น โดยทางทีมวิจัยพัฒนาเซ็นเซอร์และซอฟต์แวร์ที่ช่วยเก็บข้อมูลของคนไข้ให้แก่แพทย์ได้สำเร็จแล้ว และกำลังจะเริ่มทดลองในคนไข้เร็วๆ นี้