โลก...ในมุมมองแมว
ปริศนาการมองเห็นภาพของสัตว์เป็นที่สนใจของใครหลายคน ว่าภาพที่มันเห็นนั้น เหมือนหรือต่างจากที่เราเห็น
โดย...รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ปริศนาการมองเห็นภาพของสัตว์เป็นที่สนใจของใครหลายคน ว่าภาพที่มันเห็นนั้น เหมือนหรือต่างจากที่เราเห็น เช่นเดียวกับศิลปิน Nickolay Lamm ที่สงสัยว่า ในภาพๆ เดียวกันนั้น ถ้า “คนมอง” เห็นภาพเป็นอย่างนี้แล้ว ภาพที่ “แมวมอง” ล่ะ มันจะเห็นต่างไปจากเราอย่างไร
Lamm ออกตระเวนหาข้อมูลและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาของสัตว์หลายแห่ง เพื่อจะสร้างสรรค์ผลงานมุมมองของแมวเหมียวให้ออกมาใกล้เคียงกับสายตาแมวจริงๆ มากที่สุด โดยชุดภาพทั้ง 7 ของเขาแสดงการเปรียบเทียบระหว่างมุมมองของคนกับของแมวเหมียวออกมา
ทั้งนี้ ภาพที่อยู่ด้านบนเป็นภาพที่คนเราเห็น ส่วนภาพที่อยู่ด้านล่างเป็นภาพที่แมวเหมียวเห็น
ภาพชุดแรกแสดงให้เห็นว่า “ค่ำมืดเป็นเวลาของแมว” ในยามวิกาลที่มืดมิด คนเราแทบจะแยกแยะไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร แต่ภาพที่แมวเหมียวเห็นนั้นตรงข้าม แมวเหมียวจะเห็นวัตถุเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนกว่า และยังสามารถจับภาพเคลื่อนไหวของวัตถุได้ดีกว่าตาคนเราด้วย
สาเหตุเป็นเพราะที่จอตา หรือ เรตินา ในลูกตาแมวมีจำนวนเซลล์รูปแท่ง (Rod cell) ซึ่งไวต่อการรับแสงมากกว่าคนเรา 6-8 เท่า รวมถึงมีกระจกตาขนาดใหญ่ และยังมีชั้นเนื้อเยื่อพิเศษที่เป็นเสมือนตัวสะท้อนแสง ที่เรียกว่า “Tapetum lucidum” (เทพีตัม ลูซิดัม) อยู่ด้านหลังจอตาด้วย บางครั้งเราจะเห็นตาวาวๆ ของสัตว์ที่อยู่ในความมืด นั่นเกิดจากแสงที่สะท้อนออกมาจากเทพีตัมนั่นเอง
ทั้งนี้ แม้การมองเห็นของแมวเหมียวในตอนกลางคืนจะได้เปรียบกว่าเรา แต่ในตอนกลางวันที่มีแสงจ้า โลกที่เราเห็น สวยงามกว่าแมวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสีสัน เนื่องจากที่จอตาของคนมีเซลล์รูปกรวย (Cone cell) ที่ทำหน้าที่รับแสงสว่างและแยกแยะสีจำนวนมากกว่าในตาแมว เราจึงเห็นภาพสีสวยสด แจ่มแจ๋ว ในขณะที่แมวเหมียวเห็นเป็นภาพที่มีโทนสีจืดจางและไม่ชัดเจน
ส่วนเรื่องการมองเห็นสีของแมวนั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงว่า มันเห็นกี่สีและเห็นเป็นสีอะไรกันแน่ บ้างก็ว่าเห็นแค่สีฟ้ากับเทา บ้างก็ว่า แมวมองเห็นแค่สองสีคือ ฟ้ากับเหลือง และไม่เห็นสีแดงกับเขียว เช่นเดียวกับสุนัขและคนตาบอดสีแดง
กระนั้น นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในตาแมวมีเซลล์รับภาพที่ไวต่อช่วงแสงสีม่วง-ฟ้า และสีเขียว-เหลือง แถมยังมีเซลล์รูปกรวยบางส่วนที่ไวต่อช่วงแสงสีเขียว ดังนั้น แมวเหมียวน่าจะมองเห็นได้ 3 สี คือ ฟ้า เหลือง และแถมสีเขียวบ้างนิดหน่อย
ขณะเดียวกัน ถึงภาพที่เห็นจะมีสีไม่สดไม่แจ่ม แต่ในตาของแมวเหมียวมีเซลล์รูปแท่งจำนวนมากกว่าของเรา ทำให้จับภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวเร็วๆ ได้ดีกว่าตาเราถึง 10 เท่า นั่นแปลว่า ถ้าเราเห็นคนกำลังเดินทอดน่องอยู่ แมวเหมียวอาจจะเห็นว่าคนคนนั้น ยืนอยู่เฉยๆ ก็ได้ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่อธิบายถึงความเป็นอัจฉริยะด้านการไล่ตะปบหนูของพวกมัน
นอกจากนี้ ตาของแมวเหมียวยังมีมุมมองกว้างถึง 200 องศา ในขณะที่คนมีมุมมองกว้าง 180 องศา พวกมันจึงเห็นภาพที่อยู่บริเวณหางตาได้ชัดกว่าเราด้วย ถ้าดูจากในภาพของ Lamm เราจะเห็นผู้คนที่อยู่บริเวณตรงกลางภาพชัดเจน แต่เห็นสุภาพบุรุษที่ยืนอยู่ทางด้านซ้ายของภาพแบบเบลอๆ ในขณะที่แมวเหมียวมองเห็นเขาได้อย่างคมชัด
อย่างไรก็ตาม แม้จะมองได้กว้าง แต่แมวเหมียวนั้น “สายตาสั้น” โดยปกติแล้ว ที่ระยะประมาณ 30 เมตร คนเรายังมองเห็นและรู้ว่าเป็นภาพอะไร ส่วนแมวเหมียวถ้าเกินกว่า 6 เมตร มันก็ไม่รู้แล้วว่ากำลังมองอะไรอยู่ อย่างในภาพมหานครที่เต็มไปด้วยตึกสูงศิวิไลซ์ แต่แมวมองแล้วคงได้แต่ส่ายหัว เพราะสิ่งที่มันเห็นนั้นเป็นภาพสุดเบลอแสนมัว
เมื่อระยะไกลไปก็มองไม่เห็น แล้วถ้าเลื่อนวัตถุเข้ามาใกล้ๆ ก็ใช่ว่าแมวเหมียวจะมองเห็น เพราะพวกมันจะโฟกัสภาพไม่ได้เลย ถ้าสิ่งของนั้นอยู่ห่างจากสายตาไม่เกิน 10 นิ้ว ในขณะคนเราเห็นภาพวัตถุที่อยู่ห่างจากสายตาในระยะประมาณ 5-6 นิ้ว ได้อย่างสบาย