พุทธศาสนากับการกำกับดูแลกิจการที่ดี (1)
คำสอนทางพุทธศาสนา มิได้มีไว้แค่ให้ปฏิบัติในวัดเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆ อยู่ที่เราจะเลือกประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ในชีวิตจริง แม้แต่ในบทบาทของการเป็นกรรมการบริษัทและผู้บริหารธุรกิจที่ดี
คำสอนทางพุทธศาสนา มิได้มีไว้แค่ให้ปฏิบัติในวัดเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆ อยู่ที่เราจะเลือกประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ในชีวิตจริง แม้แต่ในบทบาทของการเป็นกรรมการบริษัทและผู้บริหารธุรกิจที่ดี
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ The Buddhist Contribution to Good Governance โดย พระอาจารย์พรหมวังโส เจ้าอาวาสวัดโพธิญาณ ในประเทศออสเตรเลีย แล้วรู้สึกประทับใจว่า มีแนวคิดเชิงพุทธที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลกิจการ และการบริหารธุรกิจได้เป็นอย่างดี จึงขอนำสิ่งดีๆ เช่นนี้มาแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน
ท่านทั้งหลายคงสงสัยว่า พระจะมาสอนอะไรทางธุรกิจได้ ทางโลกกับทางธรรมเป็นเหมือนโลกสองใบที่วิ่งขนานกัน ไม่มีวันที่จะมาบรรจบกันได้
พระอาจารย์พรหมฯ จึงเกริ่นนำว่า พุทธศาสนาที่ขยายตัวแตกกิ่งก้านสาขาไปทั่วโลก ก็เหมือนกับองค์กรข้ามชาติ โดยท่านพระอาจารย์พรหมฯ รับบทบาทเป็นเหมือน กรรมการผู้จัดการ หรือเอ็มดี ของวัดโพธิญาณ จึงสามารถนำประสบการณ์ในการบริหารและกำกับดูแลองค์กรดังกล่าวมาเป็นข้อคิดในการบริหารองค์กร และนำมาแบ่งปันกับผู้อ่านที่เป็นนักบริหารได้
ในส่วนของพุทธศาสนาเองนั้น ก็เป็นศาสตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำระดับโลก แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล แห่งสหราชอาณาจักร ก็มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาและมีพระพุทธรูปไว้บูชา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
คำสอนของพระอาจารย์พรหมฯ สามารถแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้ดังนี้
1.ใช้ใจนำใจ (Leadership Skills)
2.ตัดสินใจโดยอิสระจากอคติ (Decision Making)
3.สำรวจจิตก่อนร่วมแก้ปัญหา (Problem Solving)
ใช้ใจนำใจ (Leadership Skills) การเป็นผู้นำที่ดีสามารถสร้างกระแสแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างลุกขึ้นมาทำตาม โดยแบ่งเป็น 3 แบบ ดังนี้
1.1 นำด้วยการทำเป็นตัวอย่าง (Leading by example) พระอาจารย์พรหมฯ ได้ให้คำอธิบายว่า ท่านมหาตมะ คานธี เป็นผู้นำอินเดียออกจากระบบอาณานิคมโดยแทบจะไม่เกิดการเสียเลือดเนื้อเลย
ภาวะผู้นำของท่านที่สั่งสมมาทั้งชีวิต สามารถสมานมวลมหาชนหลายก๊กหลายเหล่าเข้าด้วยกัน เพื่อเป้าหมายที่เป็นหนึ่งเดียว คือ อิสรภาพจากการเป็นเมืองขึ้น โดยใช้การนำด้วยการทำเป็นตัวอย่าง
เมื่อครั้งที่ท่านมหาตมะ คานธี ยังหนุ่มอยู่ และกำลังศึกษาวิชากฎหมายอยู่ในกรุงลอนดอน ท่านเป็นนักเรียนประจำอาศัยอยู่ในหอพัก อยู่มาวันหนึ่งสตรีเจ้าของหอพักได้ขอให้ท่านช่วยขอให้ลูกชายของเธอลดการบริโภคน้ำตาล เธอบ่นว่า เธอพูดอย่างไรลูกก็ไม่ยอมทำตาม เธอรู้ว่า ลูกของเธอชื่นชมเลื่อมใสในตัวของท่านมหาตมะ คานธี จึงมาขอให้ช่วยเกลี้ยกล่อม ในที่สุดท่านก็รับปาก แต่ครึ่งเดือนผ่านไป สตรีผู้นั้นก็ยังกลับมาบ่นกับท่านว่าลูกชายยังไม่ลดการบริโภคน้ำตาลเลย
ท่านมหาตมะ คานธี จึงตอบเธอว่า ท่านเพิ่งจะมีโอกาสได้พูดกับลูกชายของเธอเมื่อเช้านี้เอง เมื่อเธอถามท่านว่า ทำไมท่านจึงไม่พูดก่อนหน้านี้ ท่านก็ตอบว่า ท่านต้องลดการบริโภคน้ำตาลของท่านเองให้ได้ก่อน จึงจะสามารถไปบอกลูกชายของเธอได้ ซึ่งตัวท่านเพิ่งจะลดน้ำตาลได้เมื่อวานนี้เอง นี่แหละ ไม่มีคำสั่งหรือคำแนะนำใดที่จะศักดิ์สิทธิ์เท่ากับการทำตนเป็นตัวอย่าง
ผู้นำที่เอาแต่สั่ง แต่ตัวเองไม่ทำด้วยนั้น ก็ไม่ต่างอะไรไปจากพวกมือถือสากปากถือศีลเท่านั้นเอง
1.2 นำด้วยอำนาจอันชอบธรรม (Leading with authority) การเป็นผู้นำ สังคมต้องยอมรับ จึงจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน สิทธิ์ขาดหรืออำนาจที่แท้จริงมิใช่ของใคร แต่เป็นของส่วนรวม
หนึ่งในตัวอย่างที่พระอาจารย์พรหมฯ ได้เล่าถึง ก็คือ กลไกของสังคมในการยอมรับผู้นำแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว น้อยคนที่จะทราบว่า ระบอบประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุด น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลที่อินเดีย ซึ่งเกิดก่อนยุคโซแครติสของกรีกเสียอีก
โดยในแคว้นเวสาลีในสมัยพุทธกาล มีการจัดตั้งการปกครองระบอบประชาธิปไตยในแคว้นวัชชี (Vajji) ทุกครั้งที่จะมีการลงมติเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายการปกครอง ประชาชนต้องมีส่วนร่วม และการลงมติต้องเป็นเอกฉันท์ ถ้าจะต้องมีการแต่งตั้งผู้นำในการลงมติ ประชาชนก็จะเป็นผู้แต่งตั้ง
จึงกล่าวได้โดยสรุปว่า อำนาจอันชอบธรรมเป็นสิ่งที่ประชาชนเท่านั้นที่มีสิทธิมอบให้ผู้นำ และประชาชนก็อาจมีสิทธิที่จะทวงอำนาจนั้นคืนได้
1.3 นำด้วยเมตตา (Leading through kindness) กาลครั้งหนึ่งจักรพรรดิจีนได้ถามแม่ทัพว่า เหตุใดทหารในกองทัพจึงมีวินัยมากกว่าทัพอื่นอย่างชัดเจน แม่ทัพตอบว่า ทหารเชื่อฟังคำสั่งของตน เพราะสั่งในสิ่งที่ทหารอยากจะทำอยู่แล้ว!
พระอาจารย์พรหมฯ ได้ย้ำว่า นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่เป็นความล้ำลึกของสภาวะผู้นำ เคล็ดลับก็คือ การจูงใจด้วยความเมตตา การสร้างความกดดันให้ลูกน้องโดยใช้อารมณ์ความเกรี้ยวกราด อาจจะทำให้ลูกน้องทำตามในระยะสั้น
แต่ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดความเกลียดชังและกระแสต่อต้านขึ้น
อ่านต่อสัปดาห์หน้า