ผบ.ตร.ที่ชื่อ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
ไม่ว่าการดำเนินการในการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะช้าหรือเร็ว หรือแม้ว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย
ไม่ว่าการดำเนินการในการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะช้าหรือเร็ว หรือแม้ว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะออกมาปกป้องตัวเองในกรณีนี้อย่างไร แต่ผู้คนในสังคมก็ยังอยากรู้จักภูมิหลังและที่มาที่ไปของนายตำรวจผู้นี้อยู่ดี ว่าเป็นมาอย่างไรจากตำรวจที่ได้ชื่อว่าตำรวจพ่อค้า เหตุไฉนจึงใหญ่โตมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เกิดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2497 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของแฉล้มและอัญชลี พุ่มพันธุ์ม่วง จบการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนท่าเรือนิตยานุกูล จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วเข้าศึกษาต่อ ตท.รุ่น 15 ก่อนจะเข้าศึกษาต่อโรงเรียนนายตำรวจ รุ่น 31 (นตร.31) จบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จบปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์การเมือง จากมหาวิทยาลัยปูนา ประเทศอินเดีย จบปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สมรสกับ พจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง และรชต พุ่มพันธุ์ม่วง
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เข้ารับราชการตำรวจครั้งแรก ในตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพระโขนง เนื่องจากเป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยา จึงมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับครอบครัว มนตรี พงษ์พานิช สส.พระนคร ศรีอยุธยา หลายสมัย จึงได้เป็นนายตำรวจติดตาม มนตรี พงษ์พานิช เป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี ได้ติดตามมนตรีไปทุกหนทุกแห่ง เป็นเหตุให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รู้จักมักคุ้นกับนักการเมือง นักธุรกิจ และผู้มีอำนาจในกองทัพทุกยุคทุกสมัย การเป็นนายตำรวจติดตามนักการเมืองที่อดีตเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคมและเป็นรัฐมนตรีหลายสมัย นอกจากจะทำให้ พล.ต.อ.สมยศ มีช่องทางในการทำธุรกิจแล้ว ตำแหน่งราชการในกรมตำรวจของพล.ต.อ. สมยศ ก็เติบโตก้าวหน้ามาเรื่อยๆ เช่น
16 ธ.ค. 2532 รองผู้กำกับการ (ทำหน้าที่นายตำรวจปฏิบัติราชการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) สำนักงานกำลังพล
1 มี.ค. 2538 - ผู้กำกับการกองวิชาการ
25 ต.ค. 2539 - รองผู้บังคับการชุดตรวจงานอำนวยการ ส่วนตรวจราชการ 1 สำนักงานจเรตำรวจ
16 ธ.ค. 2540 - รองผู้บังคับการ กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
1 พ.ค. 2542 - รองผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมือง 1
14 ต.ค. 2542 - ผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
1 ต.ค. 2544 - ผู้บังคับการ กองแผนงาน 2
11 พ.ย. 2545 - ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานแผนงานและงบประมาณ
1 ต.ค. 2546 - ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
1 ต.ค. 2547 - รองจเรตำรวจแห่งชาติ
1 ต.ค. 2549 - ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย)
30 พ.ย. 2549 - ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสืบสวน)
7 ก.พ. 2551 - จเรตำรวจแห่งชาติ (สบ 8)
31 พ.ค. 2551 - ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
1 ต.ค. 2551 - ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
18 พ.ย. 2554 - ที่ปรึกษา(สบ 10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ
1 ต.ค. 2555 - รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
1 ต.ค. 2557 – ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
หลังจาก มนตรี พงษ์พานิช เสียชีวิต และตำแหน่งหน้าที่ทางราชการกรมตำรวจก็เจริญก้าวหน้ามาตลอด แต่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในกลุ่มนักการเมือง ทั้งยังมีสายสัมพันธ์เป็นอันดีกับนักการเมืองคนสำคัญของทุกพรรค พล.ต.อ.สมยศ ปรากฏชื่อเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้เล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างกว้างขวาง เมื่อสามารถเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ของ สุริยา ลาภวิสุทธิสิน แล้วเข้าไปสนิทสนมกับ เนวิน ชิดชอบ และกลุ่มคนในพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เพราะเคยทำงานด้านปราบปรามยาเสพติดด้วยกันมา ที่สำคัญที่สุด พล.ต.อ.สมยศ เป็นลูกหม้อกรมตำรวจที่เป็นลูกน้องเก่าของ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายทหารใหญ่ของ คสช. ทั้งยังมีความสนิทสนมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ซึ่งก็เป็นนายตำรวจกลุ่มก้อนเดียวกันกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อีกทั้งภรรยาของ พล.ต.อ.สมยศ คือ พจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง ก็มีความรักใคร่นับถือกับสมถวิล วงษ์สุวรรณ ภรรยาของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นอันมาก การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จึงเป็นไปโดยราบรื่นไม่ผิดไปจากความคาดหมาย เมื่อ คสช.เข้ามามีอำนาจแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แม้ว่าก่อนที่จะมีการแต่งตั้งไม่นานนัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีความรู้สึกสะดุดกับความร่ำรวยอย่างน่าแปลกใจของ พล.ต.อ.สมยศ อยู่บ้าง เมื่อมีข่าวว่า พล.ต.อ.สมยศ มีชื่อเข้าไปจองหุ้นในบริษัท เอคิว เอสเตท จำนวน 2,500,000,000 หุ้น (สองพันห้าร้อยล้านหุ้น) มูลค่า 855,000,000 บาท (แปดร้อยห้าสิบห้าล้านบาท) จน พล.ต.อ.สมยศ ต้องวิ่งเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจถึงแหล่งเงินทุนและธุรกิจที่มีอยู่แต่เดิมของครอบครัวพุ่มพันธุ์ม่วงอย่างกระจ่างชัดจนหมดข้อข้องใจ ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงยังเหนียวแน่นอยู่กับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง มาจนปัจจุบันท่ามกลางแรงเชียร์จากหลายฝ่าย รวมทั้งผู้บริหารในกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ด้วย
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ก็มิใช่นายตำรวจที่ปราศจากผลงานตลอดระยะเวลาที่รับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ หลายกรรม หลายวาระ พล.ต.อ.สมยศ ก็สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา
เมื่อได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่สังหารนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่าได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งคดีความของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการสอบสวนกลาง โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 631/2557 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2557 ให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์รังสิพราหมณกุล ผบช.น. ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.บุญสืบ ไพรเถื่อน ผบก.รน. พ.ต.อ.โกวิทย์ ม่วงนวล ผกก.ตม.สมุทรสาคร ตำรวจชั้นประทวน 1 นาย และพลเรือนอีก 4 ราย ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนหรือประโยชน์อื่นใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 149 และในวันเดียวกันนั้น ศาลได้อนุมัติหมายจับบุคคลทั้งหมดตามคำร้องของ ผบช.น.เช่นกัน
นอกจากนี้ กรณีสังหารพระบัณฑิต สุปัณฑิโต เจ้าอาวาสวัดป่าตอสีเสียด จ.อุดรธานี แม้บางคนจะบอกว่าการจับกุมผู้กระทำความผิดที่ก่อคดีสะเทือนขวัญ ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก “ผู้ทรงศีล” ซึ่งถูกสังหารจนมรณภาพไปไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งกับใคร การสืบสวนสอบสวนจึงอยู่ในปมแคบๆ แต่ถ้าลองไปไล่เรียงการทำงานของตำรวจ จะเห็นว่า ช่วงแรกๆ คดีต้องหยุดชะงักไประยะหนึ่ง จน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ต้องออกคำสั่งย้าย พล.ต.ต.บุญลือกอบางยาง ผบก.กฝ.บช.ตชด. และ พล.ต.ต.ชัยญัติ สายถิ่น ผบก.ภ.จว.อุดรธานี พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่เดิม ให้ไปปฏิบัติงานที่ ศปก.ตร. จากนั้นการไขปริศนาของคดีก็เดินหน้าอย่างรวดเร็ว จนจับกุมผู้ก่อเหตุได้ทั้งหมด แม้กระทั่งผู้ต้องสงสัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจ้างวาน โดยเฉพาะ ด.ต.ชาญชัย สร้อยสังวาลย์ อดีต ผบ.หมู่งานป้องกันปราบปราม บก.ภ.จว.อุดรธานี ผู้ชี้เป้าและขับรถพามือยิงไปก่อเหตุ โดยก่อนการจับผู้ต้องหารายนี้ “แม่ทัพสีกากี” ได้ออกมายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า คดีนี้มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง แล้วก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ และที่ต้องชื่นชมกันจริงๆ คือแม้ผู้ต้องหารายนี้จะหลบหนีไปซุกซ่อนอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ตำรวจก็สามารถนำตัวกลับมาดำเนินคดีในไทยได้
มาจนถึงคดีถอดยศ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร แม้ พล.ต.อ.สมยศ จะออกมาให้สัมภาษณ์สื่อในทำนองปกป้องตัวเองในกรณีนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พล.ต.อ.สมยศ จะละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ หากทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบกฎเกณฑ์และกฎหมาย จึงทำให้อุ่นใจได้ว่าในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีเวลาปฏิบัติราชการอีกเพียง 4 เดือน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของตำรวจให้เป็นที่พึ่งและที่ไว้วางใจของประชาชนได้ เพราะ พล.ต.อ.สมยศ ที่สื่อเรียกกันติดปากว่า “บิ๊กอ๊อด” นับตั้งแต่เข้ามาดูแลหน่วยงาน ซึ่งทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ทั้งคดีก่อการร้าย ล่วงละเมิดสถาบัน และคดีอาชญากรรมร้ายแรง ก็ได้ทำหน้าที่ให้คำตอบกับสังคมอย่างชัดเจน