posttoday

ชวนดูดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี

07 มิถุนายน 2558

เวลาหัวค่ำตลอดช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2558 หากวันใดท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆของฤดูฝนปกคลุมท้องฟ้ามากนัก

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

เวลาหัวค่ำตลอดช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2558 หากวันใดท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆของฤดูฝนปกคลุมท้องฟ้ามากนัก เราจะเห็นดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเป็นดาวสว่างสองดวงอยู่ใกล้กันบนท้องฟ้าด้าน
ทิศตะวันตก ขณะนี้ดาวทั้งสองกำลังเคลื่อนเข้าใกล้กันมากขึ้นทุกวัน ใกล้ที่สุดในคืนวันที่ 1 ก.ค. 2558

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าเมื่อมองจากโลก บางครั้งเรียกว่าน้องสาวของโลก เพราะมีขนาดและมวลใกล้เคียงกัน ดาวศุกร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณร้อยละ 95 ของเส้นผ่านศูนย์กลางโลก แม้จะเป็นดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรผ่านใกล้โลกที่สุด แต่เราไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวของดาวศุกร์ได้ เนื่องจากบรรยากาศที่มีเมฆปกคลุมอย่างหนาแน่น เมฆของดาวศุกร์สะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดี มีส่วนทำให้ดาวศุกร์สว่างมาก

วงโคจรของดาวศุกร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก และเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกบนดาวศุกร์ ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงมาก เฉลี่ยสูงถึงราว 460 องศาเซลเซียส สูงพอที่จะทำให้ตะกั่วหลอมละลายได้ ยานอวกาศของรัสเซียเคยประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดาวศุกร์ ส่งภาพถ่ายพื้นผิวของดาวศุกร์มาให้เราเห็นเป็นครั้งแรก แต่ก็ทำงานอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง

ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีดาวบริวารขนาดใหญ่สี่ดวงที่สังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ดาวบริวารเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปทีละน้อยตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสเกิดปรากฏการณ์หลายอย่างในแต่ละวัน เช่น ดาวบริวารผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี เงาของดาวบริวารปรากฏบนบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี ดาวบริวารถูกเงาของดาวพฤหัสบดีบัง หากเป็นช่วงที่ระนาบวงโคจรของดาวบริวารทั้งสี่ทำมุมอยู่ในแนวสายตาเมื่อมองจากโลก จะเกิดการบังกันระหว่างดาวบริวาร และเงาของดาวบริวารดวงหนึ่งไปบังดาวบริวารอีกดวงหนึ่ง ปรากฏการณ์เหล่านี้สังเกตได้ในกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่และกำลังขยายสูง

หลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า แสงสนธยาทำให้ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท แต่เราจะเริ่มเห็นดาวสว่างได้ ซึ่งดาวศุกร์ควรจะเป็นดาวดวงแรกที่เริ่มเห็นได้ในแสงสนธยา ส่วนดาวพฤหัสบดีก็น่าจะตามมาติดๆ ดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่สูงบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ กว่าจะตกลับขอบฟ้าก็กินเวลาไปอีกนับชั่วโมง ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจึงอยู่ในตำแหน่งที่ดีสำหรับการสังเกตจากพื้นโลก

วันเสาร์ที่ 13 มิ.ย.ดาวศุกร์ผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้งที่ระยะหนึ่งองศา กระจุกดาวรังผึ้งเป็นกระจุกดาวเปิด มีดาวฤกษ์หลายดวงถือกำเนิดร่วมกันเป็นกลุ่ม ความสว่างรวมของกระจุกดาวนี้มากพอที่จะสังเกตเห็นได้จางๆ ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อมีดาวศุกร์ซึ่งสว่างกว่ามากเคลื่อนมาอยู่ใกล้ ส่องสว่างกลบแสงของดาวข้างเคียง จึงควรสังเกตดาวศุกร์ขณะผ่านใกล้กระจุกดาวนี้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์

ตลอดเดือนนี้และเดือนถัดไป ดาวศุกร์ปรากฏบนท้องฟ้าโดยอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี เข้าใกล้กันที่สุดในคืนวันพุธที่ 1 ก.ค. มีระยะห่างเชิงมุมระหว่างกันที่ 0.4 องศา หรือใกล้กว่าขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงเล็กน้อย หลังจากนั้น ดาวเคราะห์ทั้งสองจะเคลื่อนออกห่างกันมากขึ้นทุกวัน แต่เรายังคงเห็นทั้งคู่อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตกได้ต่อเนื่องไปอีกหลายสัปดาห์ ก่อนที่ทั้งคู่จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้มีโอกาสเห็นได้เฉพาะในช่วงที่อยู่ใกล้ขอบฟ้า หายลับไปในแสงสนธยาเมื่อถึงต้นเดือน ส.ค.

หากเมฆฝนเป็นอุปสรรคบดบังการเข้าใกล้กันระหว่างดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. เราจะมีโอกาสเห็นดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีได้อีกช่วงหนึ่งในปลายเดือน ต.ค. 2558 แต่คราวนี้ดาวเคราะห์ทั้งสองจะย้ายไปอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด เข้าใกล้กันที่สุดในวันจันทร์ที่ 26 ต.ค. 2558 อยู่ห่างกัน 1.0 องศา หรือไกลกว่าในเดือน ก.ค.ด้วยระยะห่างมากกว่า 2 เท่า

การเข้าใกล้กันของศุกร์และดาวพฤหัสบดีเป็นเพียงมุมมองที่เกิดจากดาวเคราะห์ทั้งสองมาเรียงอยู่ในแนวใกล้เคียงกันเมื่อมองจากโลก ความจริงดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีอยู่ไกลกันมากในอวกาศ ค่ำวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวเคราะห์ทั้งสองเข้าใกล้กันที่สุดเมื่อสังเกตจากประเทศไทย ดาวศุกร์อยู่ห่างโลก 77 ล้านกิโลเมตร ดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างโลก 910 ล้านกิโลเมตร ดาวเคราะห์ทั้งสองจึงอยู่ห่างกันกว่า 800 ล้านกิโลเมตร

นอกจากดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะสว่างโดดเด่นสะดุดตาอยู่บนท้องฟ้า ช่วงวันที่ 18-21 มิ.ย. จันทร์เสี้ยวจะเคลื่อนมาอยู่ทิศเดียวกับดาวเคราะห์ทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืนวันเสาร์ที่ 20 มิ.ย. ดวงจันทร์อยู่ใกล้จนเกิดปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน

ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ เคยเรียงตัวกันจนเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้คนเรียกว่า “พระจันทร์ยิ้ม” เมื่อคืนวันที่ 1 ธ.ค. 2551 แต่การเข้าใกล้กันในวันที่ 20 มิ.ย. ไม่เรียงตัวกันแบบนั้น จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นพระจันทร์ยิ้ม แต่ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่
น่าสนใจสำหรับช่างภาพที่ชอบความสวยงามบนท้องฟ้า