“พิทบูล”...เพื่อนผู้ภักดีหรือปีศาจสังหาร
เจาะลึกสุนัขพันธุ์ “พิทบูล” เพื่อนผู้ภักดี หรือ ปีศาจสังหาร
โดย.....ณิชกานต์ ปิ่นทอง
หากจะพูดถึงสุนัขพันธุ์ “พิทบูล” ความคิดแรกที่คนส่วนใหญ่มีต่อมันคือ ความโหด ความดุร้าย ความแข็งแรง ร่างกายกำยำ และพละกำลังมหาศาล เหตุผลที่ใครหลายคนเข้าใจว่าเจ้าพิทบูลโหดร้าย ส่วนหนึ่งมาจากข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์รวมทั้งคลิปวีดิโอที่ถูกปล่อยให้เห็นกันบนโลกออนไลน์ ทั้งรุมกัดคนหรือเด็กจนเสียชีวิต หรือกระทั่งกัดสุนัขด้วยกันเองจนทำให้ได้รับบาดเจ็บ หรือแม้แต่ตายลง
ด้วยลักษณะพันธุ์ที่บึกบึน กล้ามมัดเป็นสัดส่วนตั้งแต่ต้นขา แผงอก ด้านหลัง ขนสั้น หน้าดุ องค์ประกอบที่ว่าสำหรับคนที่ชอบสุนัข หากไม่รักพิทบูล ก็จะเกลียดไปเลย และด้วยความแข็งแรงที่ว่า จึงนำมาซึ่งพละกำลังที่มหาศาล บวกกับสายพันธุ์ที่มีค่อนข้างจะดุร้าย นำไปสู่การที่ผู้เลี้ยง “เอาไม่อยู่” ทำให้พิทบูลกลายเป็นตราบาปเพราะความโหดของมัน
จึงเกิดข้อสงสัยกันบนโลกออนไลน์มากมายว่า ความผิดนั้นเป็นความผิดของสุนัข หรือความผิดของคนเลี้ยงกันแน่ ที่เกิดภาพความโหดร้ายของสุนัขที่ได้ชื่อว่าเป็นสหายใกล้ชิดและซื่อสัตย์ของมนุษย์ ท้ายสุดจึงกลายเป็นว่าเจ้าพิทบูลนั้น โดนตราหน้าว่าเป็นสุนัขที่ดุร้ายและก้าวร้าว บางคนอาจคิดไปแล้วว่า สุนัขสายพันธุ์นี้โหดร้ายเกินกว่าจะนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง หรือเป็นเพื่อนคู่ใจ ทั้งที่หลักความจริง พิทบูลไม่ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนเลยมนุษย์สร้างพิทบูลขึ้นเพื่อกีฬาล่าสัตว์ หรือไว้ใช้สู้กับวัว ซึ่งมันยังคงลักษณะเดิมไว้จนถึงปัจจุบัน คือแข็งแรง ว่องไว อดทน
หากแต่ว่านี่คือสัญชาตญาณที่ติดตัวมันมาเอง
กระนั้น หากมองไปที่ภาพความโหดร้าย แม้ว่าจะไม่ได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่หากเกิดเรื่องร้ายขึ้นมาโดยเจ้าพิทบูลเป็นต้นเหตุนั้น หรือแม้แต่เข้าไปเกี่ยวข้อง ภาพความโหดร้ายแม้จะน้อยครั้ง ก็อาจฝังใจคนที่พบเห็นเข้าอย่างไม่ลืมเลือน
เลี้ยงได้แต่ต้องเลี้ยงเป็น
มาร์ค-ณัชพล สุพัฒนะ ประธานชมรมมิตรภาพพิทบูล บอกถึงต้นทางของนิสัยสุนัขพันธุ์นี้ว่า อเมริกันพิทบูลเทอเรีย เป็นสุนัขประเภทหวงถิ่นฐาน และจงรักภักดีกับเจ้านาย สาเหตุที่ทำให้มันเกิดอารมณ์โหดหรือก้าวร้าวอาจเกิดจากการที่มีคนไปล้ำอาณาเขตของมัน หรือไปกวน ไปเย้าไปแหย่มัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของผู้เลี้ยง ถ้ามันเข้าใจภาษาเราก็สามารถสอนมันได้ไม่ยาก โดยปกติของสุนัขทั่วไปจะจงรักภักดีกับเจ้าของอยู่แล้ว หากมันทำพฤติกรรมที่ก้าวร้าวกับเรา ก็ควรดุหรือตีเพื่อสอนให้มันจำว่าไม่ควรทำแบบนี้อีก
มาร์ค บอกอีกว่า บางประเทศจัดการปัญหาเรื่องความดุร้ายของพิทบูลด้วยการออกกฎหมาย “ห้ามเลี้ยง” หรือบางประเทศต้องมีลักษณะบ้านที่เป็นรัวรอบขอบชิดตามทีกำหนด จึงจะสามารถเลี้ยงได้ ในประเทศไทยเราก็มีกฎเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะมีการสั่งห้ามนำเข้าสุนัขสายพันธุ์นี้ แต่ก็ยังมีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอยู่ รวมถึงมีการเลี้ยงอยู่จำนวนหนึ่ง
“สมัยก่อนพิทบูลถูกเลี้ยงเพื่อเกมส์กีฬา คนเลี้ยงจะเลี้ยงตามสัญชาติญาณ เพราะฉะนั้นถ้ามันจะโหด หรือดุร้ายคงไม่แปลก ต่างจากปัจจุบัน ในปัจจุบันคนเลี้ยงพิทบูลไว้เป็นเพื่อน เลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน ความต้องการที่เปลี่ยนทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการเลี้ยง ต้องการเล่นกับมัน ต้องการให้มันเชื่อง อ่อนโยนและน่ารักกับเรา”
ประธานชมรมมิตรภาพพิทบูล ย้ำว่า ปัจจุบันคนเลี้ยงสุนัขให้เป็นคน คือเลี้ยงแบบตามใจ เอาอกเอาใจ เอาใจใส่ทุกอย่าง บางคนนำสุนัขของตัวเองเข้าไปนอนในห้องด้วย ทำให้สุนัขไม่คิดว่าเราเป็นนาย คิดว่าเราเป็นเพียงสมาชิกในฝูงเท่านั้น หรือบางครั้งซื้อสุนัขมาแล้วเราเลี้ยงอยู่คนเดียว สมาชิกในบ้านไม่ได้ช่วยเลี้ยงด้วย ถึงเวลาที่เราไม่อยู่ เจ้าสุนัขจะคิดว่านายไม่อยู่ แล้วตัวมันเองคือเบอร์สองต่อจากเจ้านาย ถ้าเป็นแบบนั้นก็จะเป็นอันตรายต่อคนในบ้านเช่นกัน เพราะอาจทำร้ายสมาชิกในบ้านก็ได้
“ถ้าคิดจะซื้อมาแล้ว ก็ควรจะช่วยกันเลี้ยง รับผิดชอบมัน คนที่จะสามารถเลี้ยงสุนัขพันธุ์พิทบูลได้ ต้องเป็นคนมีความรับผิดชอบ กล้าหาญ เป็นผู้นำ ไม่กลัวสุนัขของตัวเอง จึงจะสามารถเป็นเจ้านายของพิทบูลได้เพราะถ้าถึงเวลาที่มันเกิดอารมณ์ก้าวร้าวกับเรา เราต้องไม่กลัวแล้วดุมันได้ เจ้าพิทบูลจึงจงรักภักดีต่อนายของมัน"
มาร์ค-ณัชพล
จุดแข็ง รักการต่อสู้
ทรงพล พิชยวรพงศ์ อดีตกรรมการตัดสินพิทบูลและเทรนเนอร์สุนัข กล่าวถึงความเป็นพิทบูลและการฝึกสุนัข ว่า พิทบูลแต่ละตัวมีนิสัยแตกต่างกันบางส่วน บางตัวทนแรงกดดันได้ บางตัวทนไม่ได้ บางตัวเชื่อฟัง บางตัวขี้เกียจ แต่จุดหลักของพิทบูลคือ รักการต่อสู้ สำหรับสุนัขพันธ์อื่น มีเงื่อนไขการต่อสู้สามอย่างคือ แย่งอาหาร, แย่งอาณาเขต และ แย่งคู่ แต่สำหรับพิทบูล เงื่อนไขการต่อสู้มีเพียงอย่างเดียวคือ ความสุข มันมีความสุขที่ได้กัด มีความสุขที่ได้ต่อสู้ หรือ ถ้าพิทบูลของเราสงบแต่มีสิ่งเร้ามาจุดชนวนให้มันอยากต่อสู้ ข้อนี้ควรระวัง เพราะไม่ว่าจะฝึกดีแค่ไหนสำหรับพิทบูลถ้าโดนกระตุ้นก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน ส่วนใหญ่คนเข้าใจกันไปเองว่ามันดุ ถึงแม้พิทบูลชอบใช้กำลังชอบต่อสู้ แต่ไม่ใช่กับคน ถ้ากับคนพิทบูลต้องการความอ่อนโยน คำพูดอ่อนหวานมากกว่า
“ปัจจุบันการแข่งลากน้ำหนักของสุนัขกำลังเป็นที่นิยมมาก เจ้าของสุนัขบางคนจริงจังที่จะฝึกเพื่อเข้าแข่งขันมาก สำหรับพิทบูลสายกัดแล้วถ้าเราไม่ส่งเสริมให้มันไปต่อสู้แล้วนำมาฝึกดีๆ พิทบูลสายกัดจะกลายเป็นสุนัขที่มีทักษะสูง เพราะความที่มันตัวเล็ก แต่พละกำลังเยอะ มีความอดทน และมีความเป็นนักสู้ ทำให้ทักษะในการใช้งานทั้งการวิ่ง การลาก พิทบูลสายกัดจะมีความสามารถมากเลยทีเดียว”
ทรงพล ยังพูดถึงเรื่องการแข่งขันกัดสุนัขอีกว่า ช่วงหลังเริ่มมีกระแสต่อต้านการกระทำของคนที่กัดสุนัขหรือที่เรียกกันว่า "dog man" โดยเฉพาะในอเมริกาที่มีการต่อต้านออกกฎหมายแบบจริงจัง ช่วงหลังที่มีกระแสเข้ามา เขาก็ไม่ได้ทิ้งพิทบูลแต่ไม่เอาออกมากัด เพราะเขารักสุนัขของเขา และกระแสก็กระทบมาถึงบ้านเราด้วย ซึ่งเรามีองค์กรคุ้มครองสัตว์ องค์กรเหล่านี้จะคอยเป็นหูเป็นตาอยู่ เรื่องการเปิดบ่อนให้กัดสุนัขน่าจะไม่มี
ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลี้ยง
อีกมุมจาก ภณิตา สุนทรัตต์ เจ้าของโครงการเพื่อนข้างถนน มองว่า จะบอกว่าพิทบูลเป็นสัตว์ที่ดุร้ายก็ไม่เชิง ความดุร้ายของพิทบูลขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู บางคนเลี้ยงมาไม่เหมือนกัน เขาอาจจะตั้งใจสร้างพิทบูลให้โหดร้ายเพื่อเอามากัดกัน เอามาแข่งขัน พยายามทำให้สุนัขของตัวเองเป็นสุนัขชั้นเลิศ แต่พอทำแบบนั้นก็กลายเป็นว่าสร้างให้มันเป็นสุนัขที่ไม่ดี
“คนที่เลี้ยงดีก็มี เลี้ยงอย่างถูกวิธี เจ้าพิทบูลก็จะเป็นสุนัขที่ดี เคยมีเคสหนึ่งที่พิทบูลถูกปล่อยทิ้งตั้งแต่เด็ก พอทางโครงการนำมาเลี้ยง เขาก็โตมาเป็นสุนัขที่ดีอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ไม่มีปัญหาอะไร มันขึ้นอยู่กับการเลี้ยงจริงๆบางคนซื้อสุนัขมาเลี้ยงแต่ไม่ศึกษาข้อมูลให้ดีก็เลี้ยงไม่ได้ รวมถึงสัตว์อื่นๆด้วย ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน” ภณิตา ย้ำ
ปัจจุบัน “อเมริกันพิทบูลเทอเรีย” ถูกพัฒนามาเรื่อยๆตลอด 20 ปี มีการพัฒนาทั้งรูปร่างหน้าตาและอุปนิสัยส่วนตัว จนกลายเป็น “อเมริกันบูลลี่” ซึงการพัฒนานี้ จงใจสรร้างขึ้นเพื่อให้พิทบูลอ่อนโยนมากขึ้นเป็นมิตรและขี้เล่นมากขึ้น ไม่ก้าวร้าว มีรูปร่างเล็กลงแต่ยังคงความเป็นพิทบูลอยู่เหมือนเดิม ซึ่งจะเรียกว่าเป็นแฟชั่นก็ได้ เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไปความต้องการของคนก็เปลี่ยนไปเช่นกัน “บูลลี่” ทำให้ข้อจำกัดในการเลี้ยงลดลง รวมทั้งรูปร่างหน้าตาที่น่าสนใจ ทำให้คนหันมาเลี้ยงสุนัขพันธ์นี้มากขึ้น
หากคิดจะเลี้ยงพิทบูลแล้วก็ต้องพร้อมจริงๆที่จะดูแลมัน ไม่ว่าสุนัขพันธุ์ไหนก็ต้องการความใส่ใจจากเจ้านายของมัน เพื่อมันจะได้เป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ไปตลอดชีวิต.