สวนสัตว์ฯ ยัน อูฐ ในไทยปลอด โรคเมอร์ส
ยืนยันผลตรวจ อูฐ ในไทยปลอด โรคเมอร์ส ระบุนำเข้าจากจีนและออสเตรเลียไม่ใช่ตะวันออกกลาง เข้มเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์
ยืนยันผลตรวจ อูฐ ในไทยปลอด โรคเมอร์ส ระบุนำเข้าจากจีนและออสเตรเลียไม่ใช่ตะวันออกกลาง เข้มเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์
นายสัตวแพทย์วิศิษฏ์ วิชาศิลป์ รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์ฯ ได้มีการคัดกรองโรคของสัตว์ในสวนสัตว์ตลอดเวลาอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงนี้มีการระบาดของโรคเมอร์ส ที่มีอูฐเป็นแหล่งของโรค ก็ได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีอูฐในสวนสัตว์มีผลบวกต่อเชื้อดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางองค์การสวนสัตว์ฯ ไม่ได้มีการนำเข้าอูฐจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรค เนื่องจากอูฐในประเทศไทยมีการขยายพันธุ์จนเพียงพอและไม่จำเป็นต้องนำเข้ามาอีก นอกจากนี้องค์การสวนสัตว์ฯ ได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานที่จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ รวมทั้งคนที่มาเที่ยวในสวนสัตว์ จึงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านชีวอนามัยทุกประการ
นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีการพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) ในประเทศไทย ว่า ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ มีการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 รวมทั้งโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่าอื่นๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยมีการทำแผนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้ให้เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสัตว์ที่อาจเป็นแหล่งของโรคเป็นระยะๆ เช่น ค้างคาว นกอพยพ เป็นต้น ซึ่งยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาดของโรคจากสัตว์ป่าแต่อย่าง และจากนี้ไปก็จะยังคงมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ในการเตรียมการรับมือโรคเมอร์ส โดยกรมอุทยานฯ รับผิดชอบในการสำรวจและเฝ้าระวังโรคในอูฐในสวนสัตว์เอกชน ส่วนองค์การสวนสัตว์ฯ สำรวจและเฝ้าระวังโรคในอูฐสวนสัตว์ของรัฐ ทั้งนี้ผลสำรวจและเฝ้าระวังโรคเมิร์ส ในสัตว์ตระกูลอูฐในส่วนของกรมอุทยานฯ จำนวนทั้งสิ้น 31 ตัว ไม่พบตัวอย่างที่เป็นผลบวกต่อเชื้อเมอร์สแต่อย่างใด ทั้งนี้อูฐในประเทศไทยนำเข้าจากจีนและออสเตรเลีย ไม่ได้มีการนำเข้าจากตะวันออกกลางที่มีการแพร่ระบาดของโรค อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโรคเมอร์สในประเทศไทยจากนี้ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดจากคนสู่คนมากว่าการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน