หนุนยกสำนักงานตำรวจฯเป็นกระทรวง
สัมมนาปฏิรูปตำรวจ หนุนยก สตช.เป็นกระทรวง จ่อเลิกประทวน-สัญญาบัตร เพิ่มวิทยฐานะพนักงานสอบสวน
สัมมนาปฏิรูปตำรวจ หนุนยก สตช.เป็นกระทรวง จ่อเลิกประทวน-สัญญาบัตร เพิ่มวิทยฐานะพนักงานสอบสวน
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ณ สโมตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต คณะกรรมาธิการ(กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนา เรื่อง การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
พล.ต.ต. ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการพิจารณาศึกษาของเกี่ยวกับการปฏิรูป สตช. ของคณะอนุ กมธ. กิจการตำรวจ โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพข้าราชการตำรวจมีสาระสำคัญ คือ1. ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการตำรวจ โดยต้องผ่านการฝึกอบรมพื้นฐานวิชาชีพตำรวจให้มีทักษะอย่างน้อยในระดับเทียบเท่าอนุปริญญาขึ้นไป 2. ยกเลิกการแบ่งชั้นข้าราชการตำรวจระหว่างสัญญาบัตรและประทวน เพื่อให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจอย่างเท่าเทียม 3. ปรับระบบยศและตำแหน่งของข้าราชการตำรวจให้สอดคล้องกับขอบเขตหน้าที่ อาทิ ดาบตำรวจเป็นนายตำรวจเอก , จ่าสิบตำรวจเป็นนายตำรวจโท , สิบตำรวจเอก-โท-ตรี เป็นนายตำรวจตรี , ผู้บังคับหมู่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ชำนาญการ เป็นต้น
4. ปรับระบบการประเมินและการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนและการเลื่อนตำแหน่งเป็นไปตามคุณธรรมและความสามารถ 5.ข้าราชการตำรวจระดับปฏิบัติการขึ้นไปทุกนายจะต้องเข้าถึงความรู้ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจและกองบัญชาการศึกษา 6. นำส่วนราชการที่เกี่ยวกับการศึกษามารวมอยู่ด้วยกันทั้ง รร. นรต. , บช.ศ. และ วจ. และ 7. การจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่เหมาะสมและเพียงพอสำหรับการพัฒนาศักยภาพในทุกระดับ
พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง การพัฒนาระบบงานสอบสวนและการอำนวยความยุติธรรมในชั้นตำรวจ ซึ่งเกิดจากปัญหาระบบงานสอบสวนทำให้ไม่สามารถเดินหน้าได้ เช่น พนักงานสอบสวนถือเป็นบุคคลสำคัญที่เทียบเท่ากับอัยการ และศาล สังคมให้เกียรติเท่ากัน แต่กลับไม่มีความเท่าเทียมกันในเรื่องค่าตอบแทน ดังนั้นเราต้องยกระดับ ปรับคุณภาพ และค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนให้เท่ากับพนักงานอัยการ รวมถึงปรับแท่งตำแหน่งพนักงานสอบสวนให้เป็นตำแหน่งเทียบเท่ารองสารวัตรถึงผู้บัญชาการ
ส่วนด้านระบบการสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดระบบงานสอบสวนไว้ที่สถานีตำรวจเท่านั้น และมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้พนักงานสอบสวนที่เข้าเวรรับผิดชอบคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นในผลัดนั้น ทำให้งานสอบสวนติดอยู่กับพนักงานเพียงคนเดียว และไม่สามารถแจ้งความหรือรับคดีได้ 100เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดปัญหาไม่รับแจ้งความ ประชาชนไม่มีทางเลือก จึงควรมีการพัฒนาระบบงานสอบสวนและการอำนายความยุติธรรมในชั้นตำรวจให้สามารถรับแจ้งความหรือรับคดีได้ 100เปอร์เซ็นต์ ประชาชนจะได้เข้าถึงได้โดยง่าย ทั่วถึง โปร่งใส และควรให้มีการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นสอบสวน
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึง การกระจายอำนาจการบริหาราชการ โดยกำหนดให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากับกระทรวง แต่ยังคงใช้ชื่อว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดให้ตัดบทบัญญัติหรือข้อยกเว้นที่ให้อำนาจ ผบ.ตร.ในการแทรกแซงแก้ไขหรือระงับการใช้อำนาจของอธิบดีหรือใช้อำนาจนั้นด้วยตนเอง ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการภายในของแต่ละกรม รวมถึงกำหนดให้ส่วนปฏิบัติการหลัก ที่ดูแลความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินประชาชนโดยตรง เป็นส่วนราชการระดับกรมและมีฐานะในนิติบุคคล นอกจานั้นกำหนดให้มีการปรับเกลี่ยกำลังพล ลดขนาดหน่วยงานในส่วนกลาง และจำนวนตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับสูง โดยยุบเลิกตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ10 ) เทียบเท่ารอง ผบ.ตร. ตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. และตำแหน่งเทียบเท่า รวมถึงตำแหน่ง ผบช. ประจำสง.ผบ.ตร. ออกทั้งหมด
พล.ต.อ. วัชรพล กล่าวอีกว่า สำหรับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจปรับปรุง ดังนี้ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีนายกฯ เป็นประธานกรรมการ ก.ต.ช. ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวทีหน้าที่คัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อดำเนินการแต่งตั้งผบ.ตร. ตามหลักการและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบของ ก.ต.ช. รวมถึงการพิจารณาการตั้งของบประมารณของส่วนราชการของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนเสนอรัฐบาลพิจารณา ส่วนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ปรับเปลี่ยนให้ ผบ.ตร. เป็นประธาน ก.ตร. จากเดิมที่เป็นนายกฯ
อย่างไรก็ตามหน้าที่ของ ก.ตร. ในการพิจารณาแต่งตั้งได้ถูกตัดทิ้งออกทั้งหมด และให้ ก.ตร. มีเพียงอำนาจในการกำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง โยกย้าย รวมถึงควบคุมดูและการใช้อำนาจแต่งตั้งของผู้บังคับบัญชาหัวหน้าส่วนราชการตามหลักการที่กำหนด