posttoday

‘พัซเซิล คาเฟ่’ ร้านนี้เพื่อออทิสซึม

05 กรกฎาคม 2558

หลายต่อหลายครั้ง หลายต่อหลายธุรกิจก็เปิดขึ้นมาโดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำกำไรแต่เพียงอย่างเดียว

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

หลายต่อหลายครั้ง หลายต่อหลายธุรกิจก็เปิดขึ้นมาโดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำกำไรแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสำหรับบางธุรกิจแล้วก็เปิดขึ้นมาเพื่อ “ตอบแทนอะไรบางอย่าง” ให้แก่สังคม

“พัซเซิล คาเฟ่” ร้านอาหารสไตล์คาเฟ่ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์เองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจเหล่านั้น เพราะคาเฟ่แห่งนี้เปิดขึ้นเพื่อผู้เป็นโรคออทิสซึม หรือผู้มีข้อจำกัดด้านการสื่อสารจากการพัฒนาสมองไม่ปกติโดยเฉพาะ

“โจเซ่ อันโตนิโอ คานอย” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจแห่งนี้ เปิดเผยว่า ครอบครัวได้เปิดร้าน พัซเซิล คาเฟ่ ขึ้นมาเพื่อให้เป็นช่องทางดำรงชีพแก่ โจเซ่ คานอย น้องชายที่เป็นโรคออทิสซึมโดยเฉพาะ

ที่น่าสนใจก็คือ พนักงานบางส่วนในร้านนี้ประกอบไปด้วยผู้มีข้อจำกัดดังกล่าว โดยเชฟประจำร้าน 3 คน เป็นโรคออทิสซึมที่สามารถทำงานและได้รับเงินเดือน ในขณะที่เด็กฝึกงาน 7 คน ซึ่งหมายรวมถึงโจเซ่ คานอย เองก็เป็นโรคออทิสซึมด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเด็กฝึกงานมีอาการกลุ่มดาวน์ซินโดรมอีก 2 คนด้วย

‘พัซเซิล คาเฟ่’ ร้านนี้เพื่อออทิสซึม

 

นอกจากนี้แล้ว ร้านพัซเซิลยังเป็นคาเฟ่ตกแต่งด้วยสีสว่าง และบนชั้นวางเต็มไปด้วยการ์ดและงานประดิษฐ์ฝีมือของเด็กที่มีอาการออทิสซึม โดยงานประดิษฐ์เหล่านั้น นอกจากใช้ประดับตกแต่งแล้ว ยังขายให้กับผู้สนใจอีกด้วย

ครอบครัวเจ้าของพัซเซิล คาเฟ่ ต้องการสนับสนุนให้ผู้คนทั่วไปรู้จักโรคออทิสซึมมาโดยตลอด เพราะลูกค้าที่เข้าร้านจะได้ประสบการณ์ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีอาการดังกล่าว และทางครอบครัวคานอยยังต้องการที่จะฝึกฝนคนที่มีอาการเหล่านี้ให้สามารถออกไปทำงานประจำและรับเงินเดือน โดยไม่ถูกกีดกัน

“พวกเราอยู่ตรงนี้เพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นว่า ความแตกต่างไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และคุณสามารถอยู่กับอาการนี้ได้” โจเซ่ อันโตนิโอ กล่าวกับสำนักข่าวเอพี

ในตอนแรก ครอบครัวคานอยตั้งใจจะเปิดร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากคานอย ผู้เป็นจุดประสงค์ในการเปิดร้านสามารถจัดเรียงสิ่งของที่อยู่ผิดที่ผิดทางได้

‘พัซเซิล คาเฟ่’ ร้านนี้เพื่อออทิสซึม

 

อย่างไรก็ตาม ทางครอบครัวเปลี่ยนความคิดที่จะเปิดร้านสะดวกซื้อเป็นร้านคาเฟ่ เนื่องจากคาเฟ่สามารถเป็นสถานที่เรียนรู้การบริการและสื่อสารกับลูกค้าได้นั่นเอง รวมถึงตัวกาเบียล คานอย พี่สาวของโจเซ่เองยังเป็นทั้งอาจารย์และผู้จัดการร้านอาหารที่มีประสบการณ์ในการทำงานธุรกิจอาหารอีกด้วย

ร้าน “พัซเซิล คาเฟ่” เปิดทำการเมื่อเดือน พ.ย. 2014 และจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเดือน เม.ย.ถือเป็นเดือนแห่งการรับรู้โรคออทิสซึม และตัวจิ๊กซอว์ (พัซเซิล) ที่เป็นชื่อร้าน ก็เป็นสัญลักษณ์ของโรคดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

กาเบียล ระบุว่า ภายในครึ่งปีหลังจากเปิดร้านพัซเซิล คาเฟ่ ได้กลายเป็นชุมชนสำหรับผู้คนที่แตกต่างด้วยข้อจำกัดด้านต่างๆ

“พวกเรากลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนที่มีข้อจำกัดในด้านต่างๆ สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ในพื้นที่ที่พวกเขาได้รับคำชื่นชมและยกย่อง” กาเบียล กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านด้วยลูกจ้างในลักษณะดังกล่าว อาจมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่พอใจ เนื่องจากการบริการที่ช้า และอาจจะทำให้ลูกค้าโมโหได้ ซึ่งกาเบียลระบุว่า ลูกค้าเหล่านั้นคงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของพัซเซิล คาเฟ่

กาเบียล ระบุว่า การสอนโจเซ่ให้ทำงานทำให้รู้ว่า การมีข้อจำกัดไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถเรียนรู้ รัก หรือรู้สึกอะไรได้เลย

“ในขณะที่ฉันกำลังสอนโจเซ่ กลับกันโจเซ่ต่างหากเป็นผู้สอนเรา โดยที่ตัวเขาไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย” กาเบียล กล่าวทิ้งท้าย