โค่นบัลลังก์ ที-เร็กซ์
ที-เร็กซ์ (T.rex) ในภาพยนตร์ภาคต่ออย่าง Jurassic World ไดโนเสาร์กินเนื้อ ไม่ได้รับบทซูเปอร์สตาร์อีกต่อไป
ที-เร็กซ์ (T.rex) ในภาพยนตร์ภาคต่ออย่าง Jurassic World ไดโนเสาร์กินเนื้อ ไม่ได้รับบทซูเปอร์สตาร์อีกต่อไป มันถูกชิงตำแหน่งโดยดารานักล่าหน้าใหม่ที่สร้างขึ้นจากการดัดแปลงพันธุกรรม ในโลกความเป็นจริงก็โหดร้ายไม่แพ้กัน ตำแหน่งสุดยอดจอมโหดยุคดึกดำบรรพ์ของมันก็เริ่มสั่นคลอน เพราะหลักฐานที่ค้นพบใหม่แสดงให้เห็นว่ายังมีไดโนเสาร์อีกหลายชนิดที่ตัวใหญ่และน่ากลัวมากกว่าที-เร็กซ์
ความรู้สึกหวาดเสียวลุ้นระทึกยังคงแผ่ซ่านไปทั่วโรงภาพยนตร์ทุกครั้งที่ที-เร็กซ์จับจ้องเหยื่อด้วยดวงตาเหลืองทองแวววาว ก่อนจะงับกินด้วยขากรรไกรอันทรงพลัง ภาพลักษณ์สุดโหดทำให้ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ครองตำแหน่งราชาหนังสยองขวัญนับตั้งแต่ Jurassic World ภาคแรกเริ่มฉายเมื่อปี 1993 ความคลั่งไคล้ไดโนเสาร์จากหนังไตรภาค ทำให้เด็กทั่วโลกอยากครอบครองที-เร็กซ์ในรูปแบบของเล่น เพราะพวกเขาเติบโตมาพร้อมกับเรื่องราวของมัน
ในปีนี้เมื่อหนังภาคต่อ Jurassic World เข้าฉาย สิ่งที่ทำให้แฟนคลับต้องช็อก คือ ที-เร็กซ์ถูกลดบทเด่นลงโดยมีเจ้าไดโนเสาร์สูงใหญ่และอันตรายมากกว่ามารับบทนำอสุรกายตัวใหม่ ที่ถูกสร้างขึ้นในห้องทดลองจากการดัดแปลงพันธุกรรมโดยรวมยีนสัตว์นักล่าสารพัดชนิดเอาไว้ ไม่ต่างกับแฟรงเกนสไตน์ โลกความจริงก็เช่นกันตำแหน่งราชาไดโนเสาร์กินเนื้อก็ยังขับเคี่ยวอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ Jurassic Park ภาคแรกออกฉาย นักบรรพชีวินวิทยาพยายามเทียบขนาดของไดโนเสาร์นักล่ามาตลอด แต่เมื่อค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชนิดใหม่ๆ มากขึ้น จึงรู้ว่ายังมีไดโนเสาร์ตัวใหญ่และน่ากลัวกว่าที-เร็กซ์อยู่อีกมาก
ไดโนเสาร์ 3 ยักษ์ใหญ่ร่างมหึมากว่าที-เร็กซ์สองชนิดแรกที่เข้ารอบชิงตำแหน่งยักษ์ใหญ่แห่งไดโนเสาร์กินเนื้อ ตัวแรก คือ กิกาโนโทซอรัส (Giganotosaurus) มันมีความยาวจากหัวจรดหางถึง 13 เมตร ขุดพบจากใต้ชั้นหินในอาร์เจนตินาเมื่อปี 1995 ส่วนชนิดที่สองก็มีขนาดสูสีกัน คือ คาร์ชาโรดอนโทซอรัส (Carcharodontosaurus) ถูกพบที่ทะเลทรายทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่สองชนิดนี้ใหญ่กว่าที-เร็กซ์ทั้งคู่ แต่ในปี 2014 นักวิจัยไดโนเสาร์ตีพิมพ์รายงานการค้นพบฟอสซิลขนาดใหญ่จากทะเลทรายในโมร็อกโก โครงกระดูกนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นของสไปโนซอรัส (Spinosaurus) นักล่าซึ่งเดินสี่ขาส่องหาเหยื่อตามแม่น้ำ มันได้ครองตำแหน่งสุดยอดยักษ์ใหญ่ในตำนาน สไปโนซอรัสมีกระโดงหลังเป็นแผ่นสูงเท่าคน งาบฉลามหมดในคำเดียวและวัดจากหัวจรดหางยาวกว่าที-เร็กซ์ถึง 3 เมตร
ส่วนที-เร็กซ์คาดว่ามีความยาว 12 เมตร และแบบจำลองจากคอมพิวเตอร์ซึ่งทันสมัยที่สุดชี้ว่า มันน่าจะหนักประมาณ 9 ตัน การเทียบอันดับด้วยความยาวของไดโนเสาร์แม่นยำกว่าน้ำหนัก เพราะความยาววัดจากฟอสซิลได้ แต่การเปรียบเทียบน้ำหนักทำได้ยากกว่า เนื่องจากมีวิธีวิเคราะห์ที่หลากหลายทำให้ได้ผลต่างกันไป ดังนั้น น้ำหนักของที-เร็กซ์จึงถูกคำนวณว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 5-9 ตัน
เทคนิคการล่าขั้นโหด กิกาโนโทซอรัสและคาร์ชาโรดอนโทซอรัสใหญ่กว่าที-เร็กซ์ทั้งคู่ ไม่เพียงแค่นั้น เทคนิคการล่าเหยื่อก็ยังโหดกว่าไดโนเสาร์กินเนื้อทั้งสองชนิด มีสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกัน เมื่อพิจารณาจากลักษณะบางอย่างทำให้พวกมันถูกจัดให้อยู่คนละกลุ่มกับที-เร็กซ์ โดยไดโนเสาร์กินเนื้อทั้งสองสายพันธุ์อยู่ในวงศ์คาร์ชาโรดอนโทซอร์ไรด์ (Carcharodontosaurids) ซึ่งฟันมีสันคล้ายใบเลื่อยและคมกริบ ใช้กัดขย้ำเหยื่อเลือดไหลจนตาย แต่ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ ที่อยู่ในสกุล ไทแรนโนซอร์ไรด์ (Tyrannosaurids) มีฟันซี่ใหญ่ ค่อนข้างกลม และทรงพลังสำหรับกัดงับแรงๆ แบบบดกระดูก เมื่อกิกาโนโทซอรัสและคาร์ชาโรดอนโทซอรัสจู่โจมสัตว์กินพืชขนาดใหญ่กว่า ซึ่งมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มันจะใช้ฟันคมเหมือนมีดแล่เนื้อเข้าเล่นงานที่ส่วนขา ลำคอ และหางเพื่อให้เส้นเลือดใหญ่ของเหยื่อถูกฉีกและปล่อยให้เลือดไหลออกมาตามแผลที่เหวอะหวะ เพื่อรอให้เหยื่อเสียเลือดจนตาย แล้วก็จัดการกลืนเนื้อก้อนใหญ่ลงท้อง
แม้ภาพลักษณ์ของที-เร็กซ์ในภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park ภาคแรกจะถูกสร้างให้เป็นนักล่าจอมโหดปราดเปรียวเหมือนเครื่องจักรสังหาร แต่ทักษะการล่าเหยื่อของราชาไดโนเสาร์ก็ยังถูกตั้งคำถามมาตลอด นักบรรพชีวินวิทยา แจ็ก ฮอร์เนอร์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขุดค้นฟอสซิลโครงกระดูกที่สมบูรณ์ที่สุดของที-เร็กซ์ แสดงความคิดเห็นว่า พวกมันมีน้ำหนักมากเกินไปจนน่าจะทำให้เคลื่อนที่ช้า ยากต่อการไล่ล่า ดังนั้น มันจึงน่าจะใช้ชีวิตเป็นผู้กินซากสัตว์เหมือนนกแร้ง หลักฐานหนึ่งที่สำคัญ คือ ที-เร็กซ์มีสมองส่วนรับกลิ่นขนาดใหญ่มาก และมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแกร่ง ทำให้มันสามารถเดินได้ไกลเพื่อตามกลิ่นสัตว์ที่ตายแล้ว
แต่นักบรรพชีวินวิทยาจำนวนมากก็ยังไม่เห็นด้วยกับแจ็ก ฮอร์เนอร์ เนื่องจากเมื่ออ้างอิงจากพฤติกรรมของไฮยีนาส์ ไทแรนโนซอรัสเร็กซ์ อาจจะดำรงชีวิตทั้งสองแบบ คือ ไล่ล่าและเก็บกินซาก จนเมื่อปี 2013 นักวิจัยไดโนเสาร์ก็ค้นพบซี่ฟันของที-เร็กซ์ ที่ฝังติดอยู่ระหว่างข้อกระดูกหางของไดโนเสาร์กินพืชชื่อ แฮดโรซอรัส (Hadrosaurus) โดยมีเนื้อกระดูกงอกขึ้นมาล้อมฟันไว้ แสดงว่าเหยื่อเคยถูกล่าแต่รอดชีวิต ดังนั้น ราชาที-เร็กซ์จึงไม่ได้แค่เดินหาซากเน่ากินเท่านั้น
ที-เร็กซ์ช้ากว่าที่คิด ไดโนเสาร์ถูกท้าทายโดยงานวิจัยใหม่ เมื่อหลายสิบปีก่อนนักวิทยาศาสตร์คิดว่า ที-เร็กซ์ซึ่งมีมัดกล้ามแกร่งแน่น และหางขนาดใหญ่ที่ช่วยถ่วงสมดุลได้ดี น่าจะส่งผลให้มันวิ่งได้เร็วถึง 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเปิดเผยให้เห็นว่า กล้ามเนื้อแน่นๆ นั้นกลับทำให้ตัวมันหนักจนเร่งความเร็วได้ช้ามาก
นักวิจัยพัฒนาแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงความสามารถในการวิ่งของสัตว์ชนิดต่างๆ โดยอ้างอิงจากรูปแบบการเคลื่อนไหวน้ำหนักและโครงสร้าง ผลปรากฏว่าความเร็วสูงสุดของที-เร็กซ์ คือ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในวัยเด็กมันตัวเบาและปราดเปรียว แต่เมื่อโตเต็มวัยร่างขนาดยักษ์และแน่นตันกลับวิ่งได้เร็วสุดแค่ 15-35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผลที่พิสูจน์ออกมาทำให้บัลลังก์ของราชาที-เร็กซ์ ต้องถูกโค่นเพราะมันทั้งอุ้ยอ้ายแถมยังเชื่องช้า เหลือภาพความน่าเกรงขามฝากไว้ในหนัง Jurassic Parkเท่านั้น แต่นักล่าจอมโหดตัวจริงน่าจะเป็นกิกาโนโทซอรัส ซึ่งมีกล้ามเนื้อพอเหมาะและวิ่งได้เร็วถึง 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ความฝันนักวิทยาศาสตร์ในการคืนชีพไดโนเสาร์แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหาดีเอ็นเอสภาพดีนำมาสร้างใหม่ ปี 2014 มีข่าวไปทั่วโลกออนไลน์ว่านักวิทยาศาสตร์คืนชีพไดโนเสาร์ได้เหมือนใน Jurassic Park แต่ดันลวงโลก ดีเอ็นเอโบราณสุดที่ค้นพบมาอายุราว 7 แสนปี สกัดได้จากม้า ช่วงปลายทศวรรษ 1990 นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งค้นพบดีเอ็นเอจากแมลงโบราณ ซึ่งฝังอยู่ในอำพัน ปี 2013 นักวิจัยสกัดได้สำเร็จแม้ทุกวันนี้ยังเคลือบแคลงผลที่อาจปนดีเอ็นเอสัตว์ยุคใหม่ แต่ส่วนใหญ่เชื่อการโคลนนิ่งจะสำเร็จ นักฟิสิกส์ชื่อดังชาวอเมริกัน-ญี่ปุ่น มิชิโอะ คะกุ เสนอว่า ความรู้ด้านอีพิเจเนติกส์และซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะทำไดโนเสาร์เกิดใหม่อีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้