ระวัง!! "กินโปรฯ" หลอน-เพลินถึงตาย
เจาะลึก "ยาโปรฯ" ที่วัยรุ่นเสพเพราะให้อาการมึนเมา แต่หารู้ใหม่ผลข้างเคียงนั้นอาจทำให้ถึงตาย
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
หลังร่วมกับเพื่อนๆ ซัดยา “ยาโปรโคดิล” ผสมกับ “ยาทรามาดอล” ถึง 40 เม็ด “เด็กสาว” รายหนึ่งก็เกิดอาการชักเกร็งกระตุกอย่างรุนแรง จนผลัดตกลงไปบนโคลนริ่มตลิ่งใต้สะพานภูมิพล เกิดเป็นภาพการช่วยเหลือของเพื่อนๆ ที่แสนทุลักทุเล ปรากฎผ่านสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลายจนกลายเป็น ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ในด้านลบ
จากปากคำของผู้ใช้บอกตรงกันว่า “ยาโปรโคดิล” และ “ยาทรามาดอล” ทำให้เกิดอาการมึนเมาคล้ายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ แพทย์และเภสัชกร ได้ออกมาเตือนเสียงดังว่า การใช้ยาดังกล่าวมีผลเสียที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต!!!
#procodyl รหัสของโจ๋เสพโปรฯ
ง่ายตั้งแต่ทั้งการเข้าถึง ควักกระเป๋าซื้อ การประกอบส่วนผสม และกระดกลงคอ ทำให้การกินโปรฯ ของวัยรุ่นฮิตอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดที่มีผู้ตั้งแฮชแท็ก # คำว่า procodyl ให้เห็นกันโจ๋งครึ่มในโลกสังคมออนไลน์
Procodyl หรือที่หลายคนเรียกว่า โปรโคดิล โปรโคดิ้ว หรือ โพโคดิล คือ ยาแก้แพ้ชนิดน้ำสำหรับเด็ก ใช้บรรเทาอาการแพ้ ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เมื่อนำมาผสมคู่กับยาแก้ปวดชนิดเม็ดที่มีส่วนผสมของฝิ่น ซึ่งส่วนใหญ่คือยาทรามาดอล และเติมน้ำอัดลมหรือยาแก้ไอจะออกฤทธิ์กลายเป็นเครื่องดื่มที่ให้ความรู้สึกมึนเมา
กุ้ง นักศึกษารายหนึ่งเผยว่า เริ่มรู้จัก “ยาโปรฯ” จากการเเนะนำของเพื่อน วิธีชงดื่มโดยทั่วไปคือ ผสม โปรโคดิล กับน้ำอัดลมและยาแก้ปวดชนิดเม็ด ปริมาณแล้วแต่ความต้องการของคน บางคนก็กินน้ำอัดลมผสมยาแก้ไอ ก่อนตามด้วยยาเม็ด แบบนี้เขาเรียกกันว่า “เม็ดม่วง”จะทำให้ยิ่งเมา
“ความรู้สึกตอนกินจะมึนๆ เมาๆ เวิ้งๆ ไม่รู้สึกฮานะ แต่มันรู้สึกเพลิน ไม่เมาเหมือนกินเหล้า ไม่ปวดหัว เวลากินแล้วจะหลับสบาย ตื่นมาไม่แฮงค์”
สาววัยรุ่นรายนี้เล่าเหตุการณ์ระทึกที่เกิดจาก ยาโปรฯ ให้ฟังด้วยว่า
“ครั้งหนึ่งมีพี่ผู้ชายอายุราวๆ 35 ปี นั่งกินโปรฯด้วยกัน แต่เหมือนเขามีโรคประจำตัวบวกกับอาการนอนไม่พอจากการทำงาน จำได้ว่า เขากำลังเช็ดกระจกอยู่ จู่ๆก็ล้มหัวฟาดพื้นจนเลือดออก แล้วมีอาการชักเกร็งคล้ายๆลมชัก ตาเหลือก ไม่ได้สติ ในสถานการณ์นั้นทำอะไรไม่ถูกเลยเรียก รปภ.ให้โทรแจ้งรถพยาบาล ชักอยู่เกือบๆ 5 นาที เราตกใจมาก จนรถพยาบาลมามานำพี่เขาส่งโรงพยาบาลสุดท้ายหมอบอกว่าอาการทั้งหมดมาจากยาตัวนี้ที่กินสะสมและร่างกายที่พักผ่อนไม่พอมาเป็นเวลานาน”
ความเห็นคล้ายๆ กับ แจม นักศึกษา ที่บอกว่า รู้จักการกินโปรฯจากเพื่อนๆ โดยรูปแบบการกินนั้นแล้วแต่ลักษณะความชอบของแต่ละคน
“กินแล้วพูดจาไม่รู้เรื่องเพราะมันจะกดประสาททำให้ง่วง ซึม ช้า แรกๆ ก็พูดคุยกันปกติ หลังจากออกฤทธิ์ ต่างคนต่างจะอยู่กับโลกส่วนตัวของตัวเอง และที่สำคัญการกินยาประเภทนี้มันจะค่อนข้างหงุดหงิดมาก รู้สึกรำคาญเสียงรอบๆ ส่วนตัวแล้วชอบกินยาแก้แพ้ตัวอื่นมากกว่า”
เธอบอกต่อว่า ไม่เคยเกิดอันตรายจากการกินยา และคิดว่าอาการชักเกร็งเกิดขึ้นกับเฉพาะบางคนเนื่องจากร่างกายรับฤทธิ์ของยาไม่ไหว
ขณะที่ ปาร์ค นักศึกษา บอกว่า สาเหตุที่ “ยาโปรฯ” ได้รับความนิยมก็เพราะสามารถกินได้ทุกที่ ทุกเวลา ขณะเดียวกันก็รอดพ้นด่านตำรวจได้สบายเพราะตรวจหาแอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติดไม่เจอ
“สำหรับพวกที่ไม่ชอบกินเหล้า ก็เลือกกินโปรฯแทน มันก็อร่อยนะครับ กินสักพัก มันจะรู้สึกช้าๆล่องลอย ย้วยๆ คล้ายกับเมาเหล้า แต่พอได้ที่แล้ว จะรู้สึกไม่ชอบเสียงดัง รู้สึกรำคาญ ชอบบรรยากาศเงียบๆ ชิลล์ๆ มากกว่า ถ้ากินหนักๆ เช้ามาก็มีอาการปวดหัวบ้าง คิดว่าตัวยาโปรฯ ไม่ได้ส่งผลเท่าไหร่ แต่ตัวการสำคัญคือ ยาแก้ปวดที่ผสมลงไปมากกว่า โดยทั่วไปก็ใส่กัน 1 แผงหรือ 10 เม็ด แต่พวกห้าวๆ ใส่ 2-3 แผงก็มี”
รู้จักโพโคดิล
ข้อมูลจากกองควบคุมวัตถุยาเสพติด องค์การอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ยาแก้แพ้ยี่ห้อโพโคดิล (procodyl) ประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ promethazine hydrochloride มีข้อบ่งใช้คือ บรรเทาอาการแพ้ ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
promethazine เป็น h1- antihistamine เป็นสารเคมีพวก amine อยู่ในกลุ่มphenothiazines มีฤทธิ์ทำให้ง่วงมาก จึงอาจนำมาใช้ช่วยให้นอนหลับ ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน ( เนื่องจากการ เปลี่ยนแปลงความเร็วและสถานที่ได้ผลดีมาก เช่นเดียวกับdimenhydrinate ) และมีฤทธิ์คล้าย atropine ยาในกลุ่มนี้อาจกดการหายใจ และทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวลดลง (agranulocytosis)
ส่วนข้อควรระวังในการใช้ยาก็คือ ห้ามใช้กับผู้ที่หมดสติหรือมีอาการซึมเซามาก ควรระมัดระวังในการใช้กับผู้ที่เป็นโรคตับ หรือโรคหัวใจ และ อาจทำให้หยุดหายใจ
“โพโคดิล” มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ เป็นยาน้ำเชื่อมใส สีน้ำตาล รสหวาน ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด บรรจุขนาด 100 ซีซี ขนาดรับประทาน 5 มก./5 มล. และจัดเป็นยาอันตราย ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510
"พิรัตน์ โลกาพัฒนา" หรือหมอแมว อธิบายถึงอันตรายและเตือนวัยรุ่นถึงผลเสียของการรับประทานยาโปรโคดิล ผ่าน เพจเฟซบุ๊ก "ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว" โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
Promethazine มีฤทธิ์ที่ CNS depression และมีฤทธิ์ anticholinergic
-ออกฤทธิ์ กดการหายใจได้ (หลับแล้วตายได้)
-เกิดอาการ ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งได้ (dystonia)
-เกิดอาการอาการเพ้อได้ (delirium)
-เกิดชักเกร็งกระตุกแบบ GTC ได้
-เกิดหัวใจเต้นเร็วและเกิดความดันต่ำได้
-ที่น่ากลัวคือ Neuroleptic malignant syndrome พิษเป็นแบบdose dependent นั่นคือยิ่งกินมากยิ่งอันตราย
ในกลุ่มที่ใช้ยานี้มีหลายสูตร บางสูตรมีการให้ ผสมกับTramadol (ชักง่ายขึ้นอีก) บ้างให้ผสม metoclopramide หรือ ยาทางจิตเวชบางตัว (Dystoniaเด่นและเกิดNMSได้) บางสูตรผสมกับBenzodiazepine ยานอนหลับ ยิ่งหลับไปกันใหญ่ บางสูตรผสมเหล้า(จริงๆ ทุกสูตร) ทำให้กดการหายใจ
ผลข้างเคียงในการใช้ยาโปรโคดิลนั้น สามารถสรุปได้คือ เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อการกดการหายใจ นำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งจนเกิดความเจ็บปวด นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการเพ้อหรืออาการสับสนฉับพลัน รวมถึงมีโอกาสเกิดชักเกร็งกระตุกแบบ GTC หรืออาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว อันเป็นอาการชักที่รุนแรงที่สุด ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติได้อย่างรวดเร็ว คนไข้อาจเกิดหัวใจเต้นเร็วและเกิดความดันต่ำ และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือภาวะอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โดยยาโปรโคดิลมีพิษแบบที่ยิ่งกินมากยิ่งเป็นอันตราย
สำหรับวัยรุ่นที่เพื่อนกินยาต่างๆแล้วชักมา ไม่ว่าจะเป็น Metoclopramide CPM Benadryl Procodyl ยาแก้ไอน้ำดำ Tramadol Amitryptyline กัญชา เค ไอซ์ ม้า แนะนำให้แจ้งแพทย์ทุกครั้ง ถ้าไม่สะดวกบอกต่อหน้าพ่อแม่คนไข้ ก็ขอให้หาจังหวะบอกหมอ เพราะเวลากินยาพวกนี้มา 3-4ชนิด อาการมันจะไม่ชัดเจนสักชนิด ส่วนมากหมอจะดูอาการแล้วบอกไม่ได้ว่าจะรักษาแบบไหนรักษาไปผิดทาง “อาจตายได้” ดังนั้น รักเพื่อนก็บอกหมอด้วย
ทางออกคือแก้ปัญหาสังคม
เภสัชกร “ประพนธ์ อางตระกูล” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บอกว่า ยาหลายชนิดในปัจจุบัน กำลังเข้ามามีบทบาทในทางที่ผิดกับเยาวชนมากขึ้น และกำลังกลายเป็นปัญหาสังคม โดยสาเหตุที่ “โปรโคดิล” ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหมู่วัยรุ่น เนื่องมาจากเหตุผล 2 ประการ คือ เพิ่มรสชาติให้กับเครื่องดื่ม และหวังผลให้มีอาการเซื่องซึมเหมือนกับการดื่มแอลกอฮอล์
“ยาโปรโคดิล มีสรรพคุณเพื่อบรรเทาอาการแพ้ ขณะที่ทรามาดอล นั้นบรรเทาอาการปวด แต่ถ้าเกิดใช้ในปริมาณสูงจะทำให้รู้สึกเซื่องซึม เคลิบเคลิ้ม ซึ่งวัยรุ่นเอาอาการไม่พึ่งประสงค์ของยามาใช้ เรียกว่าใช้ผิดจากวัตถุประสงค์ในการรักษาโรค”
โฆษก อย. ให้ข้อมูลว่า การซื้อยาแก้แพ้หรือยาแก้ไอในปัจจุบัน ร้านขายยาถูกกำหนดว่าสามารถจำหน่ายได้ เดือนละไม่เกิน 300 ขวดต่อร้าน โดยขายได้ไม่เกิน 3 ขวดต่อคน ที่สำคัญต้องควบคุมการขายพร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องโดยเภสัชกร และต้องขายให้เฉพาะคนที่จำเป็นจะต้องใช้ หรือผู้ที่มีอาการ เช่น น้ำมูกไหล แพ้อากาศ เมารถหรือเมาเรือ เท่านั้น
ส่วนยาแก้ปวดจะกำหนดให้ร้านขายยาสามารถซื้อขายได้ไม่เกิน 1,000 แคปซูลต่อเดือน ห้ามขายให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ขายได้ครั้งละไม่เกิน 20 เม็ด และจะต้องไม่จำหน่ายให้กับเด็กที่จะนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมถึงจะต้องทำบัญชีทุกครั้งที่มีการซื้อและการขายด้วย
ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือลักลอบขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขาย ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท ขายยาแผนปัจจุบันนอกเวลาทำการ มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท
สำหรับทางออกที่ถูกต้องของเรื่องนี้ รองเลขาธิการ อย. แสดงความคิดเห็นว่า ต้องหาสาเหตุความพยายามหรือความต้องการเสพของมึนเมาของวัยรุ่นให้เจอ เพราะหากเลือกแก้ปัญหาด้วยการจำกัดการเข้าถึงตัวยา ก็จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนทั่วไปที่ประสงค์ฤทธิ์ของยาจริงๆ
“สมมติกระทรวงสาธารณะสุขออกประกาศ ห้ามร้านขายยาจำหน่ายโปรโคดิลและทรามาดอล ต้องจำหน่ายที่โรงพยาบาลเท่านั้น พวกเด็กเขาก็ไปหายาตัวอื่นที่ออกฤทธิ์ให้เกิดอาการมึนเมามาใช้แทนได้อยู่ดี เพราะวงการแพทย์ก็ยังมียาอีกหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ในลักษณะดังกล่าว ฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องไปทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับเยาวชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสังคมขึ้น”
การใช้ยาผิดประเภทของวัยรุ่น เป็นอีกหนึ่งภัยร้ายของสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้วัยรุ่นรับทราบ เพราะไม่ใช่เรื่องคุ้มค่าแน่นอนกับการต้องแลกสุขภาพและชีวิตเพียงเพื่อความสุขชั่วครู่
ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก อัญวุฒิ นครสี่ห้า โพธิ์อำไพ, www.sleepingpillsdirect.com