"นักดำน้ำหาของเก่า"...วิถีชีวิตที่รอวันล่มสลาย
อาชีพโบราณของชาวบ้านริมฝั่งเจ้าพระยากำลังจะสูญพันธ์ เพราะการมาถึงของ "แลนด์มาร์คใหม่"
เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร
ว่ากันว่าตั้งแต่ปากเกร็ดจรดคุ้งบางกระเจ้า ใครจะกู้เรือ ดำทำความสะอาดใบพัด งมหาข้าวของมีค่าที่ทำตกหล่นลงในแม่น้ำ ล้วนต้องมาที่ชุมชนมิตรคาม 1 ใต้สะพานกรุงธน (ซังฮี้) ซอยสามเสน 13 ด้วยกันทั้งนั้น
เพราะชุมชนนี้คือแหล่งรวมนักดำน้ำหาของเก่า อาชีพโบราณเลื่องชื่อที่อยู่คู่สายน้ำเจ้าพระยามานานนับร้อยปี
"งานหลักมีตั้งแต่งมหาสมบัติพัสถานเก่าๆในอดีตที่จมอยู่ใต้น้ำ รับจ้างงมหาสิ่งของมีค่าที่ชาวบ้านทำตกหล่นโดยไม่ตั้งใจ กู้เรือที่อับปาง ดำลงไปทำความสะอาดใบพัด จุดหมายปลายทางก็แล้วแต่ประสบการณ์แต่ละคน บางคนหากินใกล้บ้านแบบเช้าเย็นกลับ บางคนฝันจะเจอมหาสมบัติจึงนิยมล่องเรือไปไกลถึงปทุมธานี อยุธยา ราชบุรีนานเป็นเดือน บ้างยึดตามคำแนะนำของปู่ย่าตายายที่เคยเล่าให้ฟังว่าว่าจุดนั้นจุดนี้เคยเป็นชุมชน เคยเป็นตลาดเก่า น่าจะมีข้าวของมีค่าตกหล่นจากเรือล่ม ไฟไหม้เรือ ชาวบ้านในอดีตนิยมฝังสมบัติไว้ริมฝั่ง เวลาผ่านไปตลิ่งทรุดก็จมลงใต้น้ำ ทั้งถ้วยโถโอชาม ช้อน เหรียญกษาปณ์ เงินพดด้วง จนถึงทองคำรูปพรรณ พูดง่ายๆมหาสมบัติทั้งนั้น"
เสียงตะโกนของ จำเริญ บัวศรี ชายร่างผอมเกร็ง วัยเฉียดครึ่งศตวรรษ ดังแข่งกับเสียงเครื่องยนต์เรือ ขณะแล่นฝ่าคลื่นลมกลางแม่น้ำเจ้าพระยา
จำเริญ บัวศรี นักประดาน้ำรุ่นเก๋า
ไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันที่เรือจะจอดลอยเคว้างคว้างอยู่กลางแม่น้ำ คนหนึ่งมีหน้าที่ดำน้ำ โดยใส่หัวครอบสแตนเลสหนักกว่า 20 ก.ก.ที่ต่อสายยางเข้ากับปั๊มลมสำหรับหายใจใต้น้ำ พร้อมย่ามหนึ่งใบ มือเปล่าเท้าเปล่าค่อยๆเดินควานหาข้าวของท่ามกลางความมืดมิดและเหน็บหนาวของก้นแม่น้ำที่ลึกกว่า 12 เมตร ขณะที่อีกคนนั่งอยู่บนเรือคอยจับสายยาง รอสัญญาณกระตุกเมื่อใดจึงค่อยดึงเพื่อนขึ้นเรือ
ใส่หัวครอบแสตนเลสที่เรียกว่า "หัวครู" เตรียมลงใต้น้ำ
จับสายยางสื่อสารรหัสโต้ตอบกัน
อาชีพนักประดาน้ำไม่แน่ไม่นอน ร่ำรวยบ้าง กลับบ้านมือเปล่าบ้าง ก็แล้วแต่วาสนาจะพาไป
"โชคดีก็เจอทอง สลึงนึงมั่ง บาทนึงมั่ง เคยได้เจอมากสุดเป็นสร้อยทองหนักห้าบาท รวยไปเป็นเดือน รองลงมาคือถ้วยชามโบราณ เหรียญสมัยร.5 เงินพดด้วง ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ในอดีต แต่ต้องมีสภาพสมบูรณ์ถึงจะขายได้ มีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน บางวันมีชาวบ้านมาจ้างไปงมหาของ ก็ตกลงราคากันถ้าหาจะเจอแบ่งครึ่งห้าสิบห้าสิบ ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหานะ เพราะเขาถือว่าของตกน้ำไปแล้วคงไม่มีวันได้คืน มาจ้างเราอย่างน้อยก็ได้คืนครึ่งนึงก็ยังดี นอกจากนี้ยังมีพวกมาเรียกไปกู้เรือ กู้ใบพัด ครั้งนึงก็สี่ห้าพันบาท วันไหนงมของมีค่าไม่ได้เลย ก็จะเก็บพวกเศษเหล็ก ทองแดง ตะกั่ว ขวดแก้วขึ้นมารวมไว้ชั่งกิโลขาย อย่างน้อยๆก็ได้ค่าน้่ำมัน"
มานะ อ่องสะอาด นักประดาน้ำวัย 42 เล่าให้ฟังขณะแกว่งถาดสำรวจหาดูข้าวของที่ควานหามาได้จากก้นแม่น้ำ เขาบอกว่าสิ่งที่ได้กลับบ้านทุกครั้งคือ บาดแผลบนฝ่ามือ
"ข้างล่างขุ่นคลั่กมองไม่เห็นอะไร ใช้สัญชาตญาณอย่างเดียว แก้วบาดเป็นธรรมดาของนักประดาน้ำ มือผมโดนมาเป็นพันๆแผลแล้ว"เขาหงายมืออันซีดเซียวให้ดู ยังไม่นับที่ต้องเสี่ยงอันตรายจากเรือที่แล่นสวนกันไปมาบนผิวน้ำอีก
"แม่น้ำเจ้าพระยาแรงใหญ่ด้วย น้ำเชี่ยวด้วย เรือเยอะด้วย ประมาทไม่ได้เลย กลางวันจะอันตรายมากเพราะเรือผ่านมาเยอะ แต่ไม่เคยมีใครตายในหน้าที่นะ มีแต่เจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆน้อยๆ ปวดตา หูอื้อ"
มานะ อ่องสะอาด กำลังไหว้บรรพบุรุษผู้สั่งสอนวิชา
คนบนเรือมีหน้าที่คอยดึงเพื่อนขึ้นจากน้ำ
อานนท์ นักประดาน้ำอีกรายหนึ่ง เล่าบ้างว่า แม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนแปลงไปมาก ทิวทัศน์ริมสองฝั่งจากเคยมีแต่ชุมชน วัดวาอาราม ต้นไม้เขียวขจี บัดนี้ถูกแทนที่ด้วยโรงแรม ภัตตาคาร สถานที่ท่องเที่ยวทันสมัยเรียงรายกันเป็นพรืด เช่นเดียวกับความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ สัตว์น้ำหลากหลายชนิดสูญพันธ์ไป บ้างลดจำนวนลงจนแทบไม่เหลือให้เห็น
"เชื่อไหมครับ สมัยก่อนผมยังดำเจอกะโหลกจระเข้ ทั้งหัวใหญ่หัวเล็ก แสดงว่าสมัยก่อนที่นี่มีจระเข้อาศัยอยู่ชุกชุมมาก ส่วนปลาเดี๋ยวนี้ก็ยังพอจับได้ ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาสังกะวาด ปลาสวาย แม้จะยากหน่อย ไม่เหมือนสมัยก่อนเหวี่ยงแหสองโครมก็ได้ หย่อนเบ็ดไว้แป๊บเดียวก็ติด"เขายิ้มบางๆขณะขุดอดีตเมื่อครั้งเยาว์วัยมาเล่าให้ฟัง
ลุงเทพ นักประดาน้ำร่างยักษ์ ผิวเกรียมแดดวัย 50 เล่าว่า เรื่องน่ากังวลใจอีกอย่างหนึ่งคือ ขยะ ทั้งบนผิวน้ำและจมอยู่ใต้น้ำ
"ใต้น้ำมันไม่ได้ราบเรียบมีแต่เลนเหมือนที่หลายคนจินตนาการนะครับ บนพื้นดินยังไงข้างล่างยังงั้นเลย มีทั้งโคก หลุม เนิน ต้นไม้ ก้อนหิน ขวดน้ำ ขยะพลาสติกที่ถับถมกันเป็นภูเขา หมือนเดินเข้าป่าเลยแหละ (หัวเราะ) อาชีพของพวกเราก็ถือว่ามีส่วนช่วยแม่น้ำเหมือนกัน เพราะทุกวันจะเก็บเศษเหล็กขวด ถุงพลาสติกจากใต้น้ำขึ้นมาทิ้งบนฝั่ง หลายคนกล่าวหาแบบเหมารวมว่า ชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาเป็นตัวการทิ้งขยะลงแม่น้ำ ลองไปดูพวกร้านอาหารริมน้ำดีกว่าครับ ตัวดีเลย แก้วแตก ถ้วยชามแตกเขาจะทิ้งทันที ดำลงไปเจอเศษแก้วทั้งนั้น เยอะถึงขั้นเหมือนกับปูถนนด้วยเศษแก้วเลยก็ว่าได้"
ร่อนตะแกรงหาของมีค่า
ลมพัดตึง อากาศขมุกขมัวไร้แดด ทำให้วันนี้จึงมีเรือของเหล่านักประดาน้ำลอยลำอย่างคึกคัก เป็นจุดสนใจของเรือนักท่องเที่ยวที่แล่นผ่านไปมา รวมถึงชาวบ้านที่เดินทอดน่องชมวิวอยู่บนฝั่ง
เมื่อเร็วๆนี้ มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือแลนด์มาร์คใหม่ ที่รัฐบาลวาดฝันไว้สวยหรูว่าจะสร้างให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และทางจักรยาน รวมระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 สิ้นสุดที่สะพานพระราม 3 โดยเฟสแรกจะเริ่มก่อสร้างจากสะพานพระปิ่นเกล้าไปจนถึงสะพานพระราม 7 ระยะทางรวม 14 กิโลเมตร เริ่มเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้แล้ว ท่ามกลางกระแสคัดค้านต่อต้านจากประชาชนว่าถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาสายนี้จะทำลายทัศนียภาพอันงดงามริมสองฝั่งแม่น้ำ ทำลายระบบนิเวศแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และยังทำลายวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่มานานนับร้อยปีของชุมชนกว่า 300 หลังคาเรือน
ชุมชนมิตรคาม 1 ก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่จะถูกไล่รื้อออกจากพื้นที่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
มานะ กล่าวอย่างไม่พอใจว่า แลนด์มาร์คใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างความสุขให้คนเพียงไม่กี่คน แต่ขณะเดียวกันกลับสร้างความทุกข์แสนสาหัสให้คนอีกนับพันชีวิต ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นคือ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีสิทธิ์ออกความคิดเห็นแม้แต่น้อย
"ไม่เคยรู้ข่าวมาก่อนจนกระทั่งมาได้ยินจากทีวี ทางการไม่เคยมาถามสักคำว่าเห็นด้วยหรือไม่ นับพันครอบครัวกำลังจะโดนไล่ที่ พวกเราเป็นแค่ชาวบ้านจนๆ หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินก้อนใหญ่ที่จะไปหาที่อยู่ใหม่ เราอยู่ที่นี่กันมาเป็นนับร้อยปีแล้ว ถ้าวันนึงต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ยังนึกไม่ออกเลยว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร"
ลุงสุเทพ ชาวบ้านมิตรคาม 1 เชื่อว่าเสน่ห์ความงามของแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ตรงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน มิใช่ถนนอันหรูหราทันสมัยให้คนมาปั่นจักรยาน วิ่งจ๊อกกิ้ง
"แลนด์มาร์คแบบนั้นบ้านเมืองที่เจริญแล้วที่ไหนก็มี นักท่องเที่ยวเขาอยากจะมาดูบ้านเรือนริมน้ำมากกว่า เพราะสมัยนี้ชุมชนชายน้ำมันแทบจะเลือนหายไปหมดแล้ว ทิวทัศน์สองฝั่งเจ้าพระยามันต้องมีชุมชน วัดวาอาราม วัง ตลาด วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมนี่แหละที่เขาอยากมาดู ไม่ใช่ถนนหรูๆที่มีจักรยานมาปั่น มีคนไม่กี่คนมาเดินเล่น"
ชุมชนมิตรคาม1ที่กำลังจะถูกรื้อ
ขณะที่ จำเริญ ผู้ยึดอาชีพดำน้ำหาของเก่ามาทั้งชีวิต เผยความในใจว่า ปัจจุบันเหลือชุมชนมิตรคาม 1 เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มีอาชีพนักประดาแบบดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ ถ้าวันหนึ่งต้องโยกย้ายไปอยู่บนฝั่ง นอกจากชุมชนจะล่มสลาย อาชีพเก่าแก่นับร้อยปีก็จะสูญพันธ์ตามไปด้วย
"ความสัมพันธ์ของในชุมชนมันแน่นแฟ้น ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนเหมือนญาติพี่น้อง ใครป่วยก็หามไปหาหมอ งานบุญงานศพก็แห่กันไปช่วยงกันหมดทั้งหมู่บ้าน ถ้าต้องโดนเวนคืน ต่างคนต่างกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง กว่าจะเจอกันอีกทีก็คงตายกันไปหมดแล้ว อาชีพดำน้ำหาของเก่าที่หลายคนทำเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียน ทำมาทั้งชีวิต ถ้าต้องถูกย้ายออกไปจากแม่น้ำก็คงอดตาย เพราะหลายคนยากจนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินเก็บเงินก้อน เรียนก็ไม่สูงไม่สูง หลายคนอายุอานามก็มากแล้ว ใครจะจ้างไปทำงาน อย่างผมเป็นได้อย่างเดียวคือยาม พูดง่ายๆ ชีวิตพวกเราหากินอยู่ในน้ำมาตลอด ถ้าขึ้นบกล่ะก็มีหวังเกล็ดแห้งตายแน่ๆ"
นี่คือชะตากรรมของเหล่านักประดาน้ำหาของเก่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาชีพโบราณนับร้อยปีที่อาจไม่มีให้เห็นอีกแล้วในวันพรุ่งนี้ ซึ่งสะท้อนฉากชีวิตของชุมชนชายน้ำที่รอวันล่มสลาย ทันทีที่การก่อสร้างแลนด์มาร์คใหม่เริ่มต้นขึ้น
เตรียมตัวงมสมบัติก้นแม่น้ำเจ้าพระยา
ถ้วยและช้อนสมัยโบราณที่งมขึ้นมาได้
เหรียญกษาปณ์ก็ถือเป็นของมีค่าที่พบอยู่เป็นประจำ
นิ้วมือที่กุดด้วน อุบัติเหตุจากการดำน้ำ
ส่องข้าวของที่งมมาได้จากก้นแม่น้ำ
นักประดาน้ำแห่งชุมชนมิตรคาม