ทหารยันไม่เคยคุกคามผู้ปกครอง-สะกดรอยนศ.
กรรมการสิทธิฯขอคสช.รับฟังความเห็นต่าง ด้าน "กิตติศักดิ์" ขอคสช.ใช้ศาลปกติดำเนินคดีนักศึกษาตามคำสั่งคสช. 3/2558
กรรมการสิทธิฯขอคสช.รับฟังความเห็นต่าง ด้าน "กิตติศักดิ์" ขอคสช.ใช้ศาลปกติดำเนินคดีนักศึกษาตามคำสั่งคสช. 3/2558
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้เชิญผู้แทนกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เข้าประชุมตรวจสอบกรณีการจับกุมนักศึกษา 14 คน อย่างไรก็ตาม ผู้แทนกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยส่งหนังสือระบุว่าติดภารกิจ
พ.อ.นุรัช กองแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญ กองทัพบก ในฐานะผู้แทนคสช. เปิดเผยว่า การดำเนินการจับกุมนักศึกษา เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่สวนเงินมีมา ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายเดียว ส่วนที่นักศึกษาระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมจับกุมด้วยนั้น ยืนยันว่าไม่มี
นอกจากนี้ ผู้แทนคสช. ยังได้ตอบคำถามจากอนุกรรมการกสม. ด้วยว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารไปสะกดรอยตาม รวมถึงติดตามผู้ปกครองของนักศึกษา อย่างที่มีการรายงานข่าวมาก่อนหน้านี้ พร้อมกับยืนยันการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ และหากประชาชนหรือหน่วยงานมีข้อสงสัยเรื่องการบังคับใช้กฎหมายของคสช. ก็ขอให้ทำหนังสือสอบถามไปยังคสช.โดยตรง
ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง และมีการวางแผนว่าจะก่อเหตุรุนแรงขึ้น จึงต้องบังคับใช้กฎหมายลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่า หากจะดำเนินคดีกับผู้ที่มีหลักฐานมัดตัวว่าจงใจจะก่อเหตุร้ายขึ้น ก็ควรแยกส่วนกับนักศึกษา หากนักศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือ ก็ต้องแยกส่วน และหากตรวจสอบพบว่า นักศึกษาแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ก็ควรได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
“เมื่อคสช.ยึดอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลและใช้รัฐธรรมนูญ มีการชี้แจงต่อประชาชนแล้วว่า อำนาจบริหารถูกถ่วงดุลได้ มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการให้ใช้กฎหมาย โดยให้ศาลยุติธรรมทำหน้าที่ ไม่มีการยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ก็หมายความว่า คสช.มีเจตจำนงให้การตัดสินคดีเป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการ เพราะฉะนั้น หากเห็นว่านักศึกษาเหล่านี้เป็นสุจริตชนก็ควรปล่อย ไม่ควรดำเนินคดีต่อ ซึ่งวิธีที่ใช้ในการปล่อย ก็แค่เพียงแค่ตำรวจให้ความเห็นว่าไม่ปรากฎหลักฐานว่าเชื่อว่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่จะเป็นเหตุร้ายต่อไป” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว
นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีความขัดแย้งกันในทางกฎหมาย คือมีทั้งประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งให้ผู้ที่ขัดคำสั่งชุมนุมเกิน 5 คน เข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรม ซึ่งการชุมนุม ควรจะเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้พยายามแจ้งข้อหาให้มีความผิดตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา จนมีการขึ้นศาลทหาร เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากขึ้น และมีความรวดเร็ว
“น่าจะต้องทำให้ชัดเจนว่า ถ้าใช้เหตุผล โต้แย้งกันในฐานะที่มีความเห็นต่างกัน ไม่ใช่การวางแผนก่อความวุ่นวาย หรือใช้กำลัง ใช้อาวุธ ควรจะต้องดำเนินการตามปกติ คือเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรม ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แต่ถ้ามีการว่าจ้างกัน หรือใช้อำนาจเถื่อนขัดต่อความมั่นคง ค่อยดำเนินการกล่าวหากันตามม.116 ซึ่งเรื่องนี้อยากให้กสม. หาข้อแตกต่างให้ชัดเจน” นายกิตติศักดิ์กล่าว
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่า กสม.อยากให้รัฐบาลเข้าใจการแสดงความเห็นต่างทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานของสิทธิเสรีภาพ และหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพราะแม้แต่มาตรา4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคสช. ยังได้ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ ซึ่งสังคมไทยควรยอมรับความเห็นต่าง ไม่ผลักฝ่ายตรงข้ามไปเป็นศัตรู และใช้ความรุนแรงในการจัดการ มิเช่นนั้น สังคมไทยคงเดินหน้าไปสู่ความรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
“หลังการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. นั้นชัดเจนว่า การใช้กฎอัยการศึกเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงนั้นถูกต้อง แต่วันนี้การใช้กฎหมายควรเป็นไปตามหลักสันติวิธี การใช้อำนาจเด็ดขาดในการจัดการน่าจะเป็นวิธีไม่ถูกต้อง จึงควรจัดการในทางการเมือง หาวิธีพูดคุยกับกลุ่มคนที่เห็นต่าง เพื่อหาทางออกมากกว่า” ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองกล่าว
นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า วันนี้ประเทศมีความเห็นต่างทั้งในด้าน ความเหลื่อมล้ำ การจัดการทรัพยากร หรือนโยบายอื่นๆ อีกมาก หากมองคนเห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว บ้านเมืองก็มีสิทธิ์พังแน่นอน ทั้งนี้ อยากฝากให้ และคสช.บังคับใช้กฎหมายถูกต้องตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพราะหากกล่าวอ้างกฎหมาย โดยไม่ตรงข้อเท็จจริง หรือไปก้าวล่วงวิชาชีพทนาย อย่างที่ผ่านมา จะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ กสม.จะทำหนังสือสอบถามไปยังคสช.ต่อไปว่า การใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งมีโทษรุนแรงนั้น มีบรรทัดฐานอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไป