posttoday

ชำแหละเบื้องหลังบัตรคอนเสิร์ต "เส้นสาย-วีไอพี-ล็อคเก้าอี้"

08 กรกฎาคม 2558

การบริหารจัดการบัตรคอนเสิร์ตกำลังถูกสังคมตั้งคำถามถึงความเท่าเทียม....

โดย....วรรณโชค ไชยสะอาด

ดราม่าร้อนๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หนีไม้พ้น การอวดบัตรคอนเสิร์ตศิลปินระดับโลก "มารูนไฟฟ์"  ของดาราสาว เอมมี่ มรกต กิตติสาระ และการชี้แจงอย่างมีอารมณ์ของ พระเอกหนุ่มหล่อ ซี ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ ที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์

ก่อนตามมาด้วยคำถามที่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้จัดคอนเสิร์ตควรจะเปิดเผยเบื้องหลังของการบริหารจัดการบัตรว่ามีการจัดสรรอย่างไร?

สปอนเซอร์สำคัญอย่างไร

ก่อนดราม่า “เรื่องบัตรคอนเสิร์ต”ซึ่งเป็นปลายเหตุ หันมาดูต้นทาง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกระบวนการเริ่มคอนเสิร์ตกันก่อนดีกว่า..

ผู้เชี่ยวชาญในการจัดคอนเสิร์ตกว่า 20 ปี เปิดเผยว่า โดยทั่วไปการจัดคอนเสิร์ตจะเริ่มจากการกำหนดตัวศิลปิน จำนวนคนดู ก่อนเลือกสถานที่ที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงกลุ่มคนดู ทั้งในด้านอายุ ความสนใจ รูปแบบการเดินทาง และอื่นๆ  ซึ่งการกำหนดจำนวนผู้ชม จำเป็นต้องตั้งสมมติฐาน ประเมินกระแสที่มีต่อตัวศิลปิน ต้องใช้ความชำนาญเเละประสบการณ์ในการทำงาน

"ต้องดูกระแสสังคมที่มีต่อตัวศิลปิน ถ้าเราบอกว่าศิลปินคนนี้เล่น ต้องมีคนดูเป็นหมื่น นั่นก็หมายถึงสถานที่ระดับอิมแพ็ค อารีน่า ถ้าเราบอกว่าห้าพัน เราก็ไปพารากอนฮออล์ หรือถ้าเราบอกว่าแค่ 3 พัน ก็อาจจะเป็นอินดอร์สเตเดี้ยม 

เรื่องกลุ่มคนดูของศิลปินนั้นก็สำคัญต่อการกำหนดสถานที่เช่นกัน หากเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ยังมีรายได้ไม่มากนัก ก็จะเน้นจัดในเมืองและเลือกสถานที่ที่สามารถเดินทางได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้า หากเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ ข้อจำกัดในการเดินทางน้อยกว่า ก็จะเน้นความสะดวกสบายอย่างที่จอดรถเเละอาหารการกิน"

ข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าว นำมาสู่ การกำหนดราคาบัตรคอนเสิร์ต ซึ่ง “ราคาบัตร” ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายของศิลปิน ผู้จัด และรูปเเบบผังนั่งที่เเตกต่างกันไปตามสถานที่ โดยมีมุมมองใกล้-ไกลเป็นตัวตั้งในการกำหนดราคา

“ราคาเริ่มต้นและสุดท้ายคือเท่าไหร่ก็อยู่ที่ผู้จัด  แม้จะอยากทำกำไรเยอะๆ เเต่หากคำนวณเเล้ว ผู้ชมรับไม่ไหว ก็จำเป็นต้องปรับราคาลดลงมา  โดยหาสปอนเซอร์มาช่วยดูแลเติมเต็มในส่วนนี้ เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงบัตรได้”

เห็นได้ชัดเจนว่าการบริหารความเสี่ยงเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนนำไปสู่ “กำไร” เพราะฉะนั้นสำหรับผู้จัดแล้ว “สปอนเซอร์” จึงสำคัญมาก

"จ่ายล้านได้แสน" บัตร10%ของเงินที่่จ่ายเป็นของสปอนเซอร์

การเข้ามาสนับสนุนของสปอนเซอร์เต็มไปด้วยข้อแลกเปลี่ยนมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “บัตรคอนเสิร์ต”  

"สปอนเซอร์จะได้บัตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 10% จากเงินที่เขาจ่าย เช่น เงินสนับสนุน 1  ล้านบาท แลกกับบัตรคอนเสิร์ตมูลค่า 1 เเสนบาท”

โดย 1 แสนบาทนั้น เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าว่าจะจัดสรรให้กับกลุ่มเป้าหมายใดบ้าง หากเป็นกลุ่มวีไอพี ลูกค้าก็จะได้บัตรจำนวนน้อย แต่เป็นพื้นที่พรีเมียม หากเป้าหมายคือการทำตลาดทั่วไป ลูกค้าก็จะได้บัตรปริมาณเยอะ แต่มีราคาถูก ทั้งหมดเป็นที่มาของโลเคชั่นบัตรสปอนเซอร์ว่าอยู่ตรงไหน

ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากสปอนเซอร์แล้ว สื่อมวลชน แขกวีไอพี และเหล่าเซเลบริตี้ คนดังก็เป็นอีกกลุ่มคนที่ได้สิทธิพิเศษ โดยจะได้บัตรประมาณไม่เกิน 5% ของที่นั่งทั้งหมด ซึ่งจำนวนขึ้นอยู่กับสถานที่ด้วย

สำหรับประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สิทธิพิเศษอันนำไปสู่บัตรฟรี แต่เป็นเรื่อง “โอกาส” ของคนที่จ่ายเหมือนกันแต่ได้เลือกก่อน หรือ “ล็อคบัตรตั้งแต่ยังไม่เปิดขาย”

ผู้เชี่ยวชาญคนเดิมบอกว่า หากเป็นคอนเสิร์ตที่กระแสเรียกร้องไม่สูงมาก ไม่ใช่เรื่องน่าเกลียดที่จะล็อคบัตรไว้ให้กับกลุ่มคนรู้จัก เพราะผู้จัดต้องลดความเสี่ยงในการขาดทุนจากการขายบัตรไม่หมดเช่นกัน

“สิ่งสำคัญนั้นขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของผู้จัด ไม่ใช่ว่าจะให้จองตรงไหนก็ได้ เช่น ล็อคพื้นที่แถวหน้าทั้งหมด ก่อนเปิดขายออนไลน์ทั่วประเทศอย่างนี้ถือว่าไม่เหมาะสม ต้องหาวิธีจัดการที่ดี ให้ความยุติธรรมกับผู้บริโภค เช่น แยกพื้นที่ซ้ายและขวา และให้ผู้ที่มีสิทธิพิเศษเลือกได้แค่ด้านขวาเท่านั้น แบบนี้ถือว่ายังรักษาความเท่าเทียมในมุมมองอยู่”

ทำอย่างไรไม่ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นลูกเมียน้อย ถ้าเปิดออนไลน์พร้อมกันทั่วประเทศ เก้าอี้แถวหน้าถูกจองไปหมด แบบนี้ไม่ใช่เเล้ว

ถามว่า อนาคตเพื่อไม่ให้เสียความรู้สึกของผู้บริโภค ทางผู้จัดสามารถระบุตำแหน่งของแขกวีไอพีและพื้นที่ที่มีการจองให้ชัดเจนได้หรือไม่ 

“เป็นไปไม่ได้ ถ้าคนทั่วไปเห็นว่ามีพื้นที่วีไอพีอย่างชัดเจน น่าจะรู้สึกแย่และรู้สึกเเตกต่างกันไปใหญ่ อาจจะมีผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลวีไอพีในคอนเสิร์ตนั้นด้วย ส่วนตัวคิดว่า คอนเสิร์ตไหนๆ จะเต็มหรือไม่เต็ม ก็มีวีไอพี มีคนจองอยู่แล้ว ทุกประเทศก็เหมือนๆ กัน เพียงแต่ที่เป็นดราม่าเพราะดีมานด์มากกว่าซัพพลาย”

สิ่งของลิมิเต็ดอิดิชั่น เรามีเงิน เรามีโอกาส เเต่ใช่ว่าจะคว้ามันได้…

ชำแหละเบื้องหลังบัตรคอนเสิร์ต \"เส้นสาย-วีไอพี-ล็อคเก้าอี้\"

วิธีการพิเศษจากปากคนใน

“เคยร่วมจัดงานคอนเสิร์ต เป็นเรื่องจริงที่ผู้จัดจะกันที่นั่งให้กับสปอนเซอร์ แล้วแบ่งขายให้คนดูบ้าง แถวหน้าสุดใกล้มากๆ ก็เว้นไว้เป็นหย่อม สปอนเซอร์มีกี่เจ้า ต้องจัดสรรให้เขาไปตามที่ตกลง แต่ถ้าเพื่อนของสปอนเซอร์เกิดอยากดู อยากได้ด้วย ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ โดยจ่ายเงินในราคาเต็มหรือจ่ายแพงกว่าในราคาจอง (early bird) ก็ว่ากันไป” 

สาวพีอาร์ รายหนึ่งเปิดเผยอีกว่า เมื่อถึงวันซื้อบัตรของคนทั่วไป ผังการซื้อตั๋วจะเปิดเหมือนมีคนจองไว้แล้ว แต่หากคอนเสิร์ตขายไม่ออก เขาจะนำบัตรไปโปรโมท โดยให้ดารา ไปถือบัตรเรียกความสนใจตามไอจี

“คนที่ซื้อวันจริง ถ้าโชคดีเร็วสุดอาจได้ด้านหน้าบ้าง ซึ่งเเล้วแต่คนที่จัดงานจะกันที่ไว้ ไม่ตายตัว ด้านหน้าสุดอาจเว้นไว้สัก 10 ตัว ให้แฟนคลับหรือคนทั่วไปมีโอกาสสอดแทรกบ้าง แล้วแต่จรรยาบรรณผู้จัด”

ส่วนกรณีดราม่าของดารานั้น พีอาร์สาวมองว่า เป็นเรื่องปกติและน่ามีการติดต่อฝากซื้อผ่านเพื่อนที่มีสายสัมพันธ์กับทางผู้จัดงานหรือสปอนเซอร์

“แค่พูดว่ามึง...กูอยากดู จองให้กูหน่อย จะจ่ายเต็มหรือจ่ายมากกว่าเขาก็ยอม หรืออาจจะเป็นลักษณะ ต้องการ 20 ใบ แต่มีโควต้าสปอนเซอร์ 10 อีก 10 ใบขอจ่ายเอง  เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ขี้อวดเลยพลาดอย่างที่เห็น  ถ้าเงียบไว้ไม่พูดอาจจะไม่โดนมันมีทุกที่ล่ะ เส้นสาย อาศัยความรู้จัก ประเทศไทยใช้เงินซื้อทุกอย่างแก้ไม่หาย”

บรรยากาศของคอนเสิร์ต ความสวยงาม อลังการ เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เหล่าแฟนคลับ ได้รับสิทธิพิเศษในการจองบัตรก่อนใครเช่นกัน

สำหรับกลุ่มศิลปินที่มีเหล่าแฟนคลับมาก หากมีการจัดแสดงคอนเสิร์ต ต้นสังกัดและผู้จัดงานจะเปิดโอกาสให้เหล่าแม่ยกพ่อยกได้มีโอกาสเลือกพื้นที่ก่อน เนื่องจากต้องการเผยแพร่ ความสวยงามและอลังการของภาพที่ออกมา  

หนึ่งในแฟนคลับศิลปินชื่อดังของเมืองไทย  เปิดเผยว่า  หลังประกาศจัดคอนเสิร์ต ต้นสังกัดศิลปิน จะเรียกแฟนคลับเเต่ละกลุ่มไปประชุมและเลือกพื้นที่ของเหล่าแฟนคลับ ทำให้วันเปิดจองบัตรพร้อมกันทั่วประเทศ หลายคนไม่วาย สงสัยว่าทำไมบางพื้นที่ถึงเต็มเร็วผิดปกติ

“การล็อคพื้นที่สำหรับแฟนคลับ มีเหตุผลเรื่องของภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีป้ายไฟหรือมีพร็อพ หากเเยกกันนั่ง ภาพที่ออกมาก็จะไม่สวยงาม ขาดความสนุก เป็นการเอาใจแฟนคลับ เอาใจศิลปินเเละสังกัดก็ได้ประโยชน์กับภาพที่ออกมาในดีวีดีหลังคอนเสิร์ตจบ” 

แฟนคลับสาว แสดงความคิดเห็นว่า คงเป็นเรื่องที่ดีต่อความรู้สึกของทุกคน หากในอนาคตทางผู้จัดคอนเสิร์ตเปิดเผยอย่างชัดเจน ถึงตำแหน่งที่มีการล็อคไว้ สำหรับเหล่าแฟนคลับ บุคคลสำคัญ และสื่อมวลชน

“สังคมไทยมีอยู่เเล้วเรื่องเส้นสายหรือสิทธิพิเศษ  เเต่คนที่ได้สิทธินั้นต้องไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกเเย่หรือหมั่นไส้ในสิ่งที่ตัวเองได้รับ ถ้าเราไม่อวด ไม่ออกตัวก็ไม่เกิดปัญหา เพราะเชื่อว่าใครก็ตามหากมีโอกาสคว้าสิ่งที่อยากได้ ก็คงไม่ปฎิเสธหรอก”

เรารู้แล้ว บอกให้ชัดเถอะ

“คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง” เจ้าของหนังสือ "SORRY,SORRY ขอโทษครับ…ผมเป็นติ่ง" และถูกหลายคนให้ฉายาว่าเป็น แฟนพันธุ์แท้คอนเสิร์ตต่างประเทศ บอกว่า เข้าใจและรับรู้ความจำเป็นที่ต้องมีบัตรวีไอพี บัตรสปอนเซอร์ อยู่แล้ว เพราะในมุมธุรกิจ ทุกคนทราบว่าการสนับสนุนนั้นสำคัญ

“คอนเสิร์ตจัดได้ก็เพราะมีสปอนเซอร์สนับสนุน จะพึ่งยอดขายอย่างเดียวไม่ได้ สมมติว่าพ่อเราทำน้ำยาตะขาบ เป็นสปอนเซอร์ให้คอนเสิร์ตมาดอนน่า แล้วพ่อเราเอาบัตรมาให้เราไม่ได้ เราคงโกรธพ่อเราน่ะ”

ปัญหาที่เขามองคือ ความไม่ชัดเจนเเละการเปิดเผยข้อมูลว่าบัตรสปอนเซอร์มีเท่าไหร่

คันฉัตร บอกว่า สาเหตุที่บัตรหมดอย่างรวดเร็วนั้นเกิดจาก 3 สาเหตุด้วยกัน  คือ 1.คนอยากดูเยอะมาก 2.แก๊งซื้อบัตรไปขายต่อในราคาสูง และ 3.บัตรวีไอพี บัตรสปอนเซอร์ บัตรล็อก บัตรกำลังภายใน 

“ส่วนที่ 3 นั้นเป็นปัญหา คือรู้กันว่ามี เเต่ไม่รู้ว่ามีเท่าไหร่ อย่างไร บางงานมีมากจนทำร้ายความรู้สึกของแฟนคลับ  เพราะอย่างนี้ผู้จัดควรมีความพอดี  เช่น เรื่องจำนวน อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบคอนเสิร์ต มารายห์ แครี ที่ล็อคโซนแพงสุดทั้งโซนให้สปอนเซอร์ไปเลย แฟนคลับเขาก็เสียความรู้สึก เพราะมีเงินจ่าย แต่กลับถูกบล็อคสิทธิตั้งแต่แรก หรือเรื่องวางตำแหน่ง เช่น บัตรสปอนเซอร์ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้านหน้าสุด กำหนดให้อยู่แถวถัดๆ ไป หรือตรงกลางก็ได้ จะได้ไม่ทำร้ายความรู้สึกของเหล่าแฟนๆ มากเกินไป”

หลายประเทศให้ความสำคัญกับแฟนคลับมาก อย่างญี่ปุ่น เขามีระบบสมาชิกโดยเสียค่าสมัคร เมื่อมีคอนเสิร์ต จะได้รับสิทธิในการเลือกซื้อก่อน นั่นคือการเเก้ปัญหาอีกทางหนึ่ง

ปัญหาในการซื้อบัตรอีกเรื่องที่ ติ่งเกาหลีรายนี้ เห็นก็คือ การอำนวยความสะดวกและความโปร่งใส ซึ่งปัจจุบันหากมีการจองบัตรพร้อมกันมากๆ ในระบบออนไลน์ เว็บไซด์มักจะล่ม เพราะเซอร์เวอร์รองรับไม่ไหว เขาแนะนำให้ แก้ปัญหาเหมือนในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดการด้วยระบบทราฟฟิก กำหนดโควต้าให้คนกดเข้าไปจอง ถ้าคุณมาช้า คุณก็รอหน้าเว็บไปก่อน ทำให้โอกาสเว็บไซต์ล่มนั้นมีน้อยลง

คันฉัตร แนะนำว่า การคว้าบัตรคอนเสิร์ตของศิลปินที่ชื่นชอบมาให้ได้นั้น มีเพียง 4 วิธีหลักๆ คือ สติ, เร็ว, เงิน,ดวง  ซึ่งการจองผ่านเว็บจะมีโอกาสมากกว่า แต่อินเทอร์เน็ตต้องมีความเเรงพอสมควรสำหรับคอนเสิร์ต ที่มีความต้องการสูง  

ความไว้ใจของผู้บริโภคและเหตุผลทางด้านการตลาด คือสิ่งที่ผู้จัดคอนเสิร์ต ต้องวางน้ำหนักให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดดราม่าลักษณะนี้ขึ้นอีก..