เปิดประวัติ "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าธปท.คนใหม่
ดร.วิรไท เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านการเงิน การธนาคาร ที่มีประสบการณ์ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ
โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย
เห็นรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดสรรให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารประเทศไทยสืบแทน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่กำลังจะเกษียณอายุในอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้าแล้วชื่อของ ดร.วิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์ผู้มากความสามารถดูจะโดดเด่น และมีคุณสมบัติเหมาะสมทุกประการที่จะได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนต่อไป ซึ่งดูจะเป็นเกียรติเป็นศรีสำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยและชาติบ้านเมืองไม่น้อยเลย
ดร.วิรไท สันติประภพ เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ปี 2512 เป็นบุตรในจำนวนพี่น้อง 3 คนของ พล.ต.อ.ประทิน และกุณฑลา สันติประภพ มีคุณปู่-คุณย่าชื่อ ประธานและหวน ก้อนแก้ว เป็นคนอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนคุณตา-คุณยาย เป็นคนกรุงเทพ คือ พล.ต.พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม (ทองดี จารุทัต) และคุณหญิงบุปผา พิชัยรณรงค์สงคราม โดยนามสกุลสันติประภพ ของพล.ต.อ. ประทิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจ เป็นนามสกุลพระราชทานที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่ พล.ต.อ.ประทิน ในภายหลังเมื่อแต่งงานแล้ว
ดร.วิรไท สันติประภพ จบการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน สามารถสอบเทียบจากชั้นม.4 ไปเรียนชั้นม.6 และสอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยคะแนนที่สูงมาก จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์เกียรตินิยมอันดับ 1 ด้วยคะแนนสูงสุดทำลายสถิติของมหาวิทยาลัยจนคณะเศรษฐศาสตร์
ธรรมศาสตร์ต้องจารึกไว้ ทั้งยังได้เหรียญทองทางด้านวิชาการ 4 เหรียญด้านช่วยเหลือกิจกรรมดีอีก 1 เหรียญ ได้รับพระราชทานทุนภูมิพลตลอดระยะที่เวลาที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นบัณฑิตเศรษฐศาสตร์ในวัยเพียง 18 ปีเศษ
หลังจบปริญญาตรีก็ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Harward สหรัฐอเมริกา จบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อมีอายุได้ 24 ปี ก่อนจบการศึกษาได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่องการเปิดเสรีทางการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Financial Liberization in Southeast Asia) กับ Dwight perkins นักเศรษฐศาสตร์ระดับตำนานอีกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัย Harvard
ดร. วิรไท เริ่มทำงานในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ดีซี มีหน้าที่ให้คำปรึกษารัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจและวิกฤตสถาบันการเงิน ทำงานครอบคลุมหลายประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา นอกจากนี้ ยังได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารกลางและการดำเนินนโยบายการเงินในมิติต่างๆ
เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 2540 ดร. วิรไทได้ลาพักจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กลับมาเป็นผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีบทบาทหลักในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินสำคัญหลายมาตรการ อาทิเช่น มาตรการเพิ่มทุนสถาบันการเงินตามโครงการ 14 สิงหาคม ปี 2541 การจัดการสถาบันการเงินที่ถูกทางการแทรกแซง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการ Miyazawa รวมทั้งเจรจากต่อรอง
กับรัฐบาลประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เพื่อจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศจำกัด
ในด้านการธนาคาร ดร.วิรไทได้ร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2543-2551 ในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ปฏิรูปองค์กรขนานใหญ่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้ทำงานในหลายส่วนของธนาคารจนเข้าใจกลไกการทำงานของธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างดี ทั้งการบริหารสภาพคล่อง การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน การกำหนดนโยบายสินเชื่อ การบริหารเงินลงทุน การจัดการกลุ่มธุรกิจการเงินผ่านบริษัทลูกๆของธนาคาร การปรับปรุงกระบวนการทำงาน ดร.วิรไท ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็น ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ ซึ่งรับผิดชอบดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด นอกจากนี้ ดร. วิรไท ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระ และกรรมการบริหารความเสี่ยง ของบริษัททุนธนชาต ด้วย
ในด้านตลาดทุน ดร.วิรไท ได้ร่วมงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2552-2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ปฏิรูปองค์กรในหลายส่วน โดยดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้จัดการสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ดร.วิรไท เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ จัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนของประเทศ พัฒนางานวิจัยด้านตลาดทุนเชิงลึก ผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับการยอมรับในเวทีตลาดทุนโลกหลายเวที และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน
ในด้านกิจกรรมเพื่อสังคม ดร.วิรไท ได้ทำงานเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องและได้ทำมากขึ้นหลังจากที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์ ดร.วิรไท ให้
ความสำคัญกับงานด้านการศึกษา การพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ และพุทธศาสนา โดยเป็นกรรมการของมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กรรมการและเหรัญญิกของมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กรรมการบริหารของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการของมูลนิธิมั่นพัฒนา และกรรมการบริหารของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ นอกจากนี้ ดร.วิรไทได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารขององค์การอนามัยโลก ณ กรุงเจนีวา ให้เป็นกรรมการกำกับดูแลกิจการ (Oversight Committee) ชุดแรกขององค์การอนามัยโลก ระหว่างปี 2553-2556 ด้วย
ในด้านธุรกิจอื่นๆ ดร.วิรไท ยังคงเป็นกรรมการและกรรมการตรวจสอบของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กรรมการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และกรรมการของบริษัทอักษรเอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้ ดร. วิรไท เข้าใจกลไกการทำงานและการตัดสินใจของภาคธุรกิจ รวมทั้งมีประสบการณ์จริงในการกำกับดูแลองค์กรขนาดใหญ่
ดร.วิรไท เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านการเงิน การธนาคาร ที่มีประสบการณ์ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ ผ่านการทำงานทั้งในภาครัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินเอกชน ในปัจจุบัน ดร.วิรไท เป็นที่ปรึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน
ดร.วิรไท สันติประภพ มีผลงานดีเด่นจนได้รับคัดเลือกจานิตยสาร The Asian Banker ให้เป็นหนึ่งใน 50 ของนักการเงินการธนาคารรุ่นใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
และตะวันออกกลางในปี 2551 ยังได้รับเลือกเป็น Eisenhower Fellow โดย Eisenhower Fellowships แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
นอกจากนี้ดร.วิรไท ยังเขียนบทความด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมเป็นประจำ ในคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์พเนจร” และได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ “เศรษฐศาสตร์มีจริต” และ “มรรคเธอประเทศไทย” รวบรวมบทความที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในแต่ละช่วงเวลา
การสมัครเข้ารับเลือกให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยของดร.วิรไท สันติประภพ ในครั้งนี้น่าจะเป็นนิมิตรหมายอันดีและเป็นแรงผลักดันให้บรรดาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการทำงานด้านต่างๆ มาร่วมมือกันปฏิรูปและช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยในช่วงเวลาที่บ้านเมืองต้องการการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงให้เกิดความก้าวหน้าอย่างจริงจังเช่นปัจจุบันนี้ โดยไม่ฝากความหวังของประเทศไว้ให้แก่คนที่ใกล้เกษียณหรือคนที่เกษียณอายุแล้วแต่เพียงอย่างเดียว
จากความรู้ความสามารถและผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ย่อมพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกสาธารณะ มีความพร้อมทั้งฝีไม้ลายมือในการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและมีความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม อย่าง ดร.วิรไท สันติประภพ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าในสังคมไทย