12วัน 12 ความทรงจำในคุก
12ความทรงของนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่หลังจากถูกคุมขังเป็นเวลา 12 วัน
โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ
ทันทีที่กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ก้าวเดินออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายหลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. โดยหมายศาลทหารในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองฯ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
มาวันนี้พวกเขาได้เดินทางจากเรือนจำพร้อมกับความทรงจำมาบอกเล่า ปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งใน 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุม เล่าว่า ความทรงจำแรกคือ
1.ความตื่นตกใจ แม้ว่าจะเตรียมตัวมาว่าถ้าหากถูกจับจะไม่ประกันตัวแน่นอน และพร้อมที่จะถูกคุกขัง แต่เมื่อถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวจากศาลไปฝากขังที่เรือนจำ มีความตื่นเต้น ผสมตกใจ เพราะไม่รู้ว่าจะเจออะไรข้างหน้าบ้าง ซึ่งภาพในหัวที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง “นช. นักโทษชาย” ก็คิดว่าคงลำบาก ต้องมีสติ รู้ตัวตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นอาจไม่ปลอดภัยได้
2. เมื่อเข้าไปถึงได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เป็นอย่างดี ทำให้รู้สึกว่าเขาต้องทำตามหน้าที่ ไม่ว่าเราจะถูกหรือผิดอย่างไรก็ถือว่าเขาทำหน้าที่ผู้รับฝากตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น รับปากว่าจะดูแลความปลอดภัยให้อย่างดีที่สุด ทำให้คลายความกังวลลงได้ ไม่เหมือนในภาพยนตร์ที่ผู้คุมจะต้องหน้าบึ้ง ข่มขู่ตลอดเวลา
แดน 1เรียนรู้นอนในห้องขัง
3. คืนแรกที่ต้องนอนในเรือนจำ แดน 1 เขาบอกว่าร่างกายอ่อนเพลียจากการชุมนุมยื้อยุดทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เมื่อเข้ามานอนในห้องขังเขาหลับสนิททันที ซึ่งไม่ได้เป็นที่แปลกใจของผู้ต้องขังที่นอนอยู่ก่อนแล้ว เพราะคดีการเมืองเป็นคดีที่ได้รับความสนใจ และเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ต้องขังอยู่แล้วว่าจะมีพวกนักศึกษาเดินทางเข้ามา
4.ตื่นเช้าวันแรก ภาพที่เห็นคือการอาบน้ำ รับประทานอาหารเป็นไปตามกำหนดเวลา ซึ่งได้รับการปฏิบัติจานักโทษพี่เลี้ยง ไม่มีลักษณะของการข่มขู่คุกคามจากนักโทษรายอื่น มีเพียงเข้ามาสอบถามว่าทำไมแค่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยแต่ต้องถูกจับด้วยหรือ ส่วนเมนูอาหาร อาทิ ต้มจับฉ่าย แกงจืด พะโล้ ไข่ต้ม และข้าวต้ม ทุกอย่างรสชาติหวานเจี๊ยบ น้ำปลาที่ญาตินำมาให้กลายเป็นของมีค่ามาก
5.ทุกค่ำคืนที่ต้องนอนรวมกันในห้องขัง อากาศไม่ร้อนแต่ก็ไม่เย็นพอจะนอนได้ อยู่ที่นี่ต้องนอนเร็ว อาบน้ำตั้งแต่ 14.30น. ขึ้นเรือนนอนเวลา 15.00น. อาจจะมีช่วงดึกที่ร้อนบ้างก็ถอดเสื้อเป็นแบบนี้อยู่ 6 วัน ก่อนจะถูกแยกแดนขัง
แยกแดนขังนศ.ร่ำไห้
6.ทันที่ที่ถูกแยกแดนขัง อันเกิดจากข้อระเบียบบังคับของกรมราชทัณฑ์เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ทำให้ เขาถูกแยกออกไปขังที่แดน 4 ส่วนคนอื่นแยกไปแดน 2 และแดน 3 ตามเงื่อนไขอายุ ภาพความทรงจำคือพวกเราได้ร้องเพลงสามัญชน ให้ผู้คุม นักโทษพี่เลี้ยง พวกเราร้องไห้เพราะไม่อยากแยกกัน มันเริ่มรู้สึกเหงา ใจหนึ่งก็เริ่มกลัวความไม่ปลอดภัย แต่ทุกค่ำคืนก็ผ่านไปได้
7. ความทรงจำสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ คดีการเมืองมีความจำเป็นที่ต้องปรึกษากันเพื่อให้การกับทนาย หรือเจ้าหน้าที่แบบไหนอย่างไร ดังนั้นการแยกแดนจึงเป็นอุปสรรคพอสมควร ซึ่งการที่เรือนจำแยกขังทำให้การประสานงานต่างๆยากลำบาก เพราะได้ยินว่าบ่อยว่าสำนวนของผู้ต้องขังมักจะสู้คดีไม่ได้ ว่าจะเป็นผลมาจากความยากลำบากในการสื่อสารกับทนายความ เพื่อสืบหาพยานหลักฐานมาสู้คดี
“ผมพูดในเรื่องของโครงสร้างว่า ถ้าคุณเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้ทำผิดในคดีอื่นๆคุณไม่มีเงินสู้คดี คุณลำบากแน่ เพราะไม่สามารถคุยกับทนายได้อย่างสะดวก ถือเป็นอุปสรรคของกระบวนการยุติธรรมเลยก็ว่าได้” เขากล่าวเน้นเสียง
8. อยู่แดน 4 มีจำนวนผู้ต้องขังนอน ทำให้การดูแลจากนักโทษพี่เลี้ยงทั่วถึง เป็นบรรยากาศที่รู้สึกว่าอบอุ่น เป็นควาวมทรงจำที่ดี มีคนช่วยเหลือตลอด เช่น จะไปอาบน้ำก็จะมีคนพาไป อาจเป็นเพราะคดีการเมืองทางกรมราชทัณฑ์เป็นกังวลเรื่องความปลอดภัยของพวกเรามาก รวมถึงความปลอดภัยของผู้ต้องขังทุกคน เพราะสถานที่แห่งนี่ไม่ใช่พาใครมาตาย
มิตรภาพเกิดขึ้นเมื่อไม่สบาย
9.บทสนทนากับพี่ผู้ต้องขัง เราคุยกันแต่ละคนว่าใครโดนคดีอะไรมา แต่ไม่มีการคุยว่าใครผิดหรือใครถูก ผ่านไป 8 วัน กลายเป็นมิตรภาพของการอยู่ร่วมกันกับพวกเขา “วันหนึ่งผมไม่สบายพวกเขาเบิกยาแก้ไข้มาให้รับประทาน ผมตอบกลับไปว่าไม่ต้องทำขนาดนี้ก็ได้ครับพี่ผมทำเองก็ได้ พวกพี่เขาตอบกลับมาว่า ไม่เป็นไรเขามีหน้าที่ต้องดูแล”
ไม่อยากถูกปฏิบัติแบบพิเศษ
10. ด้านหนึ่งก็ถูกมองจากผู้ต้องขังรายอื่นด้วยความรู้สึกเป็นนักโทษได้รับอภิสิทธิ์พิเศษ ทำให้รู้สึกไม่ดีอยู่บ้าง ไม่ได้อยากถูกดูแลอะไรขนาดนั้นพวกเราเป็น ขช. ย่อมาจาก ขังชาย ในทางกฎหมายเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังไม่ถูกตัดสินโทษ แตกต่างจาก นช. ย่อจาก นักโทษชาย มีความผิดแล้วกำลังรับโทษ
แม้อยู่ในเรือนจำไม่ได้ลำบาก แต่ก็ไม่ได้สบาย เวลามองไปรอบตัวมีแต่คนที่ต้องมาชดใช้กรรมของตัวเอง รับประทานอาหารในบรรยากาศหมุ่นหมอง เราเองยังเป็นแค่การฝากขัง รู้อยู่แล้วว่าหากต้องนอนในคุกก็อยู่ไม่เกิน 48 วัน แต่กับคนอื่นๆต้องอยู่ที่นี่อีกนาน สัมผัสได้ถึงแววตาสิ้นหวัง
11.เวลาที่พ่อแม่เดินทางมาเยี่ยม 20 นาที ถือว่ามีความหมายมาก เป็นการพบกันที่มีกรงขังกั้นระหว่างเรา ต้องคุยกันผ่านโรศัพท์ สัมผัสได้ถึงอารมณ์ความเป็นห่วง เป็นภาพความทรงจำที่บรรยายไม่ถูก
วันปล่อยตัวอิสระ
12. ทันทีที่รู้ว่าจะได้ออกไปแล้วรู้สึกว่า “เฮ้ยมันจริงหรือ” ดีใจเพราะไม่มีใครอยากติดคุกหรอก ขณะที่เก็บของที่ได้จากการเยี่ยมญาตินั้นเยอะมากจนตู้ล็อคเกอร์เรือนจำเก็บไม่พอ ต้องแบ่งแจกจ่ายให้เพื่อนผู้ต้องขังทุกวัน ให้นักโทษพี่เลี้ยงบ้าง ยามที่ก้าวออกจากเรือนจำ รู้สึกโล่ง สูดหายใจได้แบบอิสระ เป็นเวลาที่ประทับใจอีกเรื่องนึ่งในชีวิต