กริ่งอรหัง หลวงปู่แหวน
ถ้าไม่ติดอยู่กับแต่พุทธศิลป์หรือหน้ามืดกับพุทธพาณิชย์ แล้วศึกษาลงไปถึงเรื่องพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ
โดย...ประสาร ปัจฉิมชน
ถ้าไม่ติดอยู่กับแต่พุทธศิลป์หรือหน้ามืดกับพุทธพาณิชย์ แล้วศึกษาลงไปถึงเรื่องพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ รวมทั้งเรื่องราวของผู้สร้างวัตถุมงคลบ้าง เราจะพบความน่าสนใจและได้ข้อคิดอุทาหรณ์ที่เป็นธรรมะหลายประการ
ตัวอย่างเช่น พระเครื่องของเจ้าคุณนรรัตน์ ราชมานิต และหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักสะสมหลายรุ่นที่จัดสร้างโดย แก้ว ศิริรัตน์ คหบดีชาวบางน้ำเปรี้ยว
อุบาสกท่านนี้เป็นผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงกึ่งพุทธกาล กล่าวคือ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2442 สิ้นอายุเมื่อ พ.ศ. 2524 ท่านเป็นศิษย์มีครู กล่าวคือ บวชเรียนสมาธิกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นเหตุให้ได้รับการชี้แนะสั่งสอนจากพระธัมฺมวิตกฺโก หรือที่สาธุชนรู้จักกันในนาม เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์ นั่นเอง นอกจากนี้ ท่านยังเป็นศิษย์ที่ได้รับการชี้แนะจากหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ หลวงพ่อกัสสปมุนี จ.ระยอง และหลวงปู่เทสก์ เทสรังษี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย ด้วย
เมื่ออุบาสกแก้วจัดสร้างวัดวิเวกวนาราม ขึ้นท่านได้สร้างพระเครื่องขึ้นชุดหนึ่งซึ่งภายหลังรู้จักกันในนาม พระเจ้าคุณนรฯ วัดวิเวกวนารามและด้วยมูลเหตุที่ต้องหาทุนทรัพย์บูรณะวัดแห่งอื่นรวมทั้งวัดดอยแม่ปั๋งเอง อุบาสกแก้วได้ขออนุญาตหลวงปู่แหวนสร้างพระเครื่องขึ้นหลายครั้งและส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นมานั้นก็กลายเป็นที่นิยมของคน
รุ่นต่อๆ มาโดยไม่คาดคิด
หนึ่งในนั้นคือ พระกริ่งอรหัง หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
มีคติแบบโลกๆ กันอย่างหนึ่งว่า พระกริ่งนั้นเป็นยอดของพระเครื่อง เป็นยอดเพราะไม่ใช่สร้างกันง่ายๆ เหมือนสมัยนี้ที่ไปหล่อไปปั๊มเอาง่ายแต่ถ้าทำตาม กรรมวิธีแล้วยุ่งยากที่สุดคือ ต้องหาวัตถุที่จะทำให้ดีในนี้คือ หาแผ่นที่ครูบาอาจารย์ที่มีคุณธรรมเชื่อถือได้ลงอักขระอธิษฐานจิตให้ แล้วยังต้องมีดีภายนอกอีกคือ ต้องมีพิธีที่ถูกต้อง มีแบบพิมพ์ที่สวยงาม ฯลฯ
การจัดสร้างพระกริ่งอรหังหลวงปู่แหวนเป็นไปในลักษณะแรก
แผ่นยันต์ที่เอามาเป็นเชื้อในการหล่อคือ 1.แผ่นยันต์ของหลวงปู่แหวน 108 แผ่น 2.แผ่นยันต์เจ้าคุณนรฯ 3.แผ่นทองแดงอธิษฐานจิตโดยหลวงปู่ขาว อนาลโย 4.แผ่นยันต์หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต 5.ทองชนวนพระกริ่งสมเด็จพระสังฆราชแพและวัดพิกุลทอง 6.ทองชนวนสมเด็จพุฒาจารย์วัดสามปลื้ม
หลวงปู่แหวนเป็นผู้จุดเทียนชัยเมื่อเวลา 11.05 น. เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2517 และเททองในเวลา 12.15 น. ซึ่งเป็นมหามงคลฤกษ์ คือเป็นทั้งมหัทธโนฤกษ์และ
ฤกษ์มหานิยม
สถานที่ที่หลวงปู่แหวนกำหนดเป็นมณฑลพิธีคือ บริเวณกลางแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่หน้ากุฏิของหลวงปู่ โดยโยงสายสิญจน์จากองค์ประธานพระวิหารมารอบกุฏิ ถึงต้นไม้ใหญ่ ซึ่งหลวงปู่แหวนระบุว่า มีเทพศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่พระกริ่งชุดนี้สร้างขึ้นด้วยเนื้อนวโลหะ จำนวน 2517 องค์ เป็นพระชัยวัฒน์จำนวน 1,900 องค์ สร้างด้วยเนื้อทองคำ 16 ชุด และมีการนำเนื้อนวโลหะไปกะไหล่เงิน และกะไหล่ทอง อีกจำนวนหนึ่ง
หลวงปู่แหวนอธิษฐานจิตพระรุ่นนี้ 3 หนคือ ขณะพระสงฆ์สวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร ท่านได้อธิษฐานจิตและจับสายสิญจน์เททองด้วย หนสองคือ หลังทุบหุ่นแล้วคืนนั้นท่านได้อธิษฐานจิตให้อีกครั้งและเมื่อนำพระไปแต่งเรียบร้อยแล้ว ก็นำกลับมาให้ท่านอธิษฐานอีกเป็นหนที่สาม
น่าคิดว่า บางแง่คนก็เหมือนพระกริ่งคือ ต้องดีนอกและดีใน
หลวงปู่แหวน เทศน์ไว้ว่า มรรคเกิดขึ้นจากกาย จากใจ ให้น้อมเข้าหาตน น้อมเข้ามาในกาย น้อมเข้ามาในใจ ให้รู้แจ้งเห็นจริงในใจ อย่าไปยึดไปถือที่อื่น
“ให้แจ้งอยู่ในกายนี้ ให้แจ้งอยู่ในใจนี้ จะหลงจะเขวไปอย่างไรก็ตามพยายามดึงเข้ามาจุดนี้น้อมเข้ามาหากายนี้ น้อมเข้ามาหาใจนี้ เอาใจนี่แหละนำออก หลักมีเท่านี้แหละ... ธรรมะก็คือการรักษากาย รักษาใจ น้อมเข้ามาหากาย น้อมเข้ามาหาใจนี้แหละ...ศีล ตั้งอยู่ในกายนี้แหละ ตั้งอยู่ในวาจานี้แหละ และตั้งอยู่ในใจนี้แหละ ให้น้อมเข้ามา จึงรู้และตั้งหลักได้ ถ้าออกไปจากนี้มักหลงไป...
“เอาให้เป็นปัจจุบัน เอาจิตเอาใจนี้ละ วางถอดถอนออก ทางกายก็น้อมเข้ามาให้รู้แจ้งทางกาย น้อมเข้ามาหาใจของตนนี้ให้แจ่มแจ้ง ถ้าไปยึดถือเอาอย่างอื่น ก็เป็นเพียงสัญญา ความจำ น้อมเข้ามารู้แจ้งในใจของตนนี้ รู้แจ้งในกายของตนนี้ นอกจากนี้เป็นแต่เพียงอาการของธรรม...
“ยกขึ้นสู่จิต น้อมเข้ามาหาจิตหาใจนี้ ความโลภ ความหลง ความโกรธ กิเลส ตัณหา ก็เกิดขึ้นที่นี่แหละ ต้องน้อมเข้ามาสู่จุดนี้ ถ้าน้อมเข้าหาจุดอื่นเป็นแผนที่ปริยัติธรรม รู้กายรู้ใจ
แจ่มแจ้งแล้ว นอกนั้นเป็นแต่อาการ บางทีไปจับไปยึดสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ทำให้ลืมไป...คำว่า สติ รู้ในปัจจุบัน สัมปชัญญะ ก็รู้ในปัจจุบัน รู้ในตน รู้ในใจเรานี้แหละ รู้ในปัจจุบัน รู้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ กิเลส ตัณหา เหล่านี้ละออกให้หมด ละออกจากใจ ละอยู่ตรงนี้แหละ สติ ถ้าได้กำลังใจแล้วก็สว่าง...
“ตั้งจิตตั้งใจกำหนดเบื้องต้น คือ การกำหนดจิตหรือกำหนดศีล ทำให้กายก็บริสุทธิ์ วาจาก็บริสุทธิ์ กำหนดนำความผิดออกจากกายจากใจของตน...
“เมื่อกายวาจาใจบริสุทธิ์ สมาธิก็บังเกิดขึ้น รู้แจ่มแจ้งไปหาจิตหาใจ กายนี้ก็รู้แจ้ง รู้แจ้งในกายในใจของตนนี้...”